รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
พัฒนาชุมชนในการผลิตเห็ดปลอดสารพิษโดยชีววิธีและสารสกัดพืชสมุนไพรในจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The community development in mushroom production of pesticide residue free by biological control and medicinal plant extracts in Nakhon Sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         เห็ดคือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารและใช้เป็นยาป้องกันการเกิดโรคในมนุษย์ เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ ซึ่งเห็ดที่นิยมเพาะกันมากมีอยู่ 9 ชนิดด้วยกันคือ เห็ดแชมปิญอง เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดฟาง เห็ดหูหนูดำ เห็ดหูหนูขาว เห็ดเข็มทอง และเห็ดนามิโกะ ในการเพาะเห็ดใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงเพียงเล็กน้อย และใช้วัสดุเพาะที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว เศษมันสำปะหลัง เปลือกถั่วเหลือง ถั่วเขียว ซังข้าวโพด ใบแฝก และขี้เลื่อย เป็นต้น จึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงได้ดี อีกทั้งยังสามารถช่วยในการจัดการขยะอินทรีย์ได้เป็นจำนวนมาก (Pervez et al., 2012) สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์นั้นมีการเพาะเลี้ยงกันแทบทุกอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.โกรกพระ อ.ชุมแสง อ.พยุหคีรี อ.หนองบัว อ.หนองบัว และอ.บรรพตพิสัย เป็นต้น โดยนิยมเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และเห็ดฟาง ทั้งเปิดดอกขายในตลาดและขายเป็นก้อนเชื้อเห็ด แต่ในการผลิตเห็ดของเกษตรกรไทยยังคงมีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูเห็ดที่ก่อให้เกิดการตกค้างในดอกเห็ด ซึ่ง จารุพงศ์ และคณะ (2557) ได้รายงานผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ว่าพบสารพิษตกค้างในเห็ดเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL; Maximum Residues Limit) การผลิตเห็ดปลอดสารพิษสามารถทำได้โดยการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์และน้ำสกัดสมุนไพรในการควบคุมศัตรูเห็ด ยกตัวอย่างเทคโนโลยีชีวภาพที่ให้ผลดีในการควบคุมศัตรูเห็ด อาทิเช่น การให้ความชื้นวัสดุเพาะเห็ดด้วยน้ำจุลินทรีย์ Bacillus subtillis (บีเอส พลายแก้ว) ป้องกันเชื้อรา B. thuringiensis (บีที) ป้องกันหนอน และ B. mitophagus (ไมโตฟากัส) ป้องกันไรเห็ด หมักไว้ 3 วัน 3 คืน ก่อนนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง สามารถป้องกันการเข้าทำลายจากศัตรูเห็ดได้เป็นอย่างดี (จตุโชค, 2554) และภวินท์ (2551) กล่าวว่าชีวภัณฑ์จุลินทรีย์ Bacillus subtillis สามารถนำมาขยายจำนวนในน้ำมะพร้าวอ่อน แล้วนำมาผสมน้ำได้ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นให้ชุ่มเปียกหรือใช้หลอดดูดยา (Syringe) ฉีดอันลงไปในก้อนเห็ด โดยเว้นระยะการฉีดพ่นเป็นเวลา 7 วันต่อหนึ่งครั้ง ลดปัญหาจากโรคราเขียวไปได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สำหรับสารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูเห็ดได้ดี คือสารสกัดสะเดา ตะไคร้หอม กระเทียม หอมแดง และผกากรอง (Biswas, 2015; Mariajancyrani et al., 2014) นอกจากนี้จากงานการทดลองของนักวิจัยเองพบว่าการฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพจากหัวกระเทียม ต้นว่านน้ำ และใบสาบเสือ สามารถควบคุมโรคของเห็ดฟางและข้าวได้เป็นอย่างดี (Yenjit et al., 2010; ปัณณวิชญ์ และวาริน, 2556) แต่อย่างไรก็ตามการใช้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรในการผลิตเห็ดยังไม่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเกษตรกรขาดความเชื้อมั่นในประสิทธิภาพที่อาจทำให้ได้กำไรน้อยกว่าวิธีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และเพื่อให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน งานวิจัยนี้จึงให้เกษตรกรและนักศึกษามีส่วนร่วมในการปฏิบัติทดลอง จากนั้นจึงนำผลการวิจัยออกเผยแพร่เชิงปฏิบัติการสู่ชุ่มชนท้องถิ่นเพื่อให้มีการผลิตเห็ดปลอดสารพิษกันมากขึ้น โดยถือเป็นการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูเห็ดและต้นทุนกำไรของวิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีสังเคราะห์ 2. เพื่อให้เกษตรกรและนักศึกษามีส่วนร่วมดำเนินการในการใช้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรต่อการควบคุมศัตรูของเห็ด 3. เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนของรายวิชาเห็ดและการผลิตเห็ด และถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ 4. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเห็ดปลอดสารพิษสู่ชุมชนท้องถิ่นและตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ
ขอบเขตของโครงการ :
งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาตั้งแต่องค์ความรู้เดิมในการควบคุมศัตรูเห็ดตามวิถีปฏิบัติของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ และต้นทุนกำไรที่ได้รับ ก่อนนำข้อมูลที่ได้รับมาวางแผนการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของการผลิตเห็ดโดยใช้สมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพ เปรียบเทียบกับการควบคุมศัตรูเห็ดโดยใช้สารเคมีสังเคราะห์ โดยให้เกษตรกรและนักศึกษามีส่วนร่วม เก็บข้อมูลโดยละเอียดทั้งด้านการเจริญเติบโตของเห็ด ด้านการทำลายจากโรคและแมลงศัตรู ด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เปรียบเทียบต้นทุนกำไร จากนั้นนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ในการเรียนการสอนของรายวิชาเห็ดและการผลิตเห็ด ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1 ได้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมศัตรูเห็ดและให้กำไรมากกว่าการใช้สารเคมีสังเคราะห์ 2 ได้องค์ความรู้ใหม่ในการควบคุมศัตรูเห็ดด้วยวิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนของรายวิชาเห็ดและการผลิตเห็ด 3 เกษตรกรและนักศึกษาเชื่อมั่นในการใช้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรในการควบคุมศัตรูเห็ด 4 ชุมชนท้องถิ่นสามารถผลิตเห็ดปลอดสารพิษโดยใช้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรในการควบคุมศัตรูเห็ด 5 ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการในวารสารวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ อย่างน้อย 1 เรื่อง
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         13.1 การเพาะเห็ดและการควบคุมศัตรูเห็ดของเกษตรกรในพื้น เก็บรวบรวมวิธีการเพาะเห็ดและการควบคุมศัตรูเห็ดของเกษตรกรในพื้นที่ จ. นครสวรรค์ โดยลงพื้นที่เพื่อทำการสอบถามข้อมูล (แบบสอบถาม) องค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่ดั้งเดิมและรับเข้ามาใหม่ รวมทั้งต้นทุนกำไร ปัญหาและอุปสรรค์ ตลอดจนข้อมูลในครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเห็ด ก่อนน้ำข้อมูลดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ผลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการวางแผนการทดลองการผลิตเห็ดโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการควบคุมศัตรูเห็ดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 13.2 การเตรียมชีวภัณฑ์และสารสกัดสมุนไพร 13.2.1 การเตรียมชีวภัณฑ์ : แบคทีเรีย Bacillus subtillis, B. thuringiensis และ B. mitophagus ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมศัตรูเห็ด (ได้รับความอนุเคราะห์จาก ห้องปฏิบัติการควบคุมโรคพืชด้วยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย 2 ขั้นตอนตามวิธีการของ Muis (2006) ในขั้นตอนที่ 1 การผลิตชีวมวล (biomass production) ทำการเลี้ยงเชื้อ Bacillus sp. บนอาหาร Potato dextrose broth (PDB) บนเครื่องเขย่า (50 rpm) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 36 ชั่วโมง ต่อมาในขั้นตอนที่ 2 การกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ (formulation) จึงเติมชีวมวลแบคทีเรีย Bacillus sp. ปริมาณ 20 มิลลิลิตร ลงขวดแก้วที่บรรจุผงทัลคั่ม (talc) จำนวน 25 กรัม ยีสต์สกัด (yeast extract) ปริมาณ 0.25 เปอร์เซ็นต์ และสารเหนียว CMC ปริมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ผึ่งลมจนแห้งในตู้เขี่ยเชื้อเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วเก็บใส่ถุงพลาสติก ซึ่งก่อนนำไปใช้จะนำชีวภัณฑ์ Bacillus spp. จำนวน 5 กรัม ขยายจำนวนเชื้อในนมกล่องพาสเจอร์ไลท์ ปริมาตร 240 มิลลิลิตร หมักไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วผสมน้ำเปล่าปริมาตร 10 ลิตร 13.2.2 การเตรียมสารสกัดสมุนไพร : ทำการละลายกากน้ำตาล 0.5 กิโลกรัม และชีวภัณฑ์แบคทีเรียย่อยสลาย (Bacillus spp.) จำนวน 5 กรัม ในถังหมักที่มีน้ำเปล่าปริมาตร 4 ลิตร แล้วนำสมุนไพร เปลือกกระเทียม ใบสะเดา ใบตะไคร้หอม ใบผกากรอง ใบน้อยหน่า เถาบอระเพ็ด รากหางไหล และรากหนอนตายหยาก ที่หั้นจนละเอียด จำนวน 5 กิโลกรัม ใส่ลงในถังหมักและหมักไว้เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นกรองน้ำสกัดสมุนไพรด้วยผ้าขาวบาง และก่อนนำไปใช้จะนำสารสกัดสมุนไพรปริมาตร 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่าปริมาตร 20 ลิตร 13.3 ทดสอบประสิทธิภาพชีวภัณฑ์และสารสกัดสมุนไพรในการควบคุมศัตรูของเห็ดฟาง 13.3.1 การควบคุมโรคของเห็ดฟาง ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดฟางในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนโรคเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการเพาะเห็ดฟางด้วยวัสถุเพาะดังกล่าว แล้วทำการควบคุมโรคเห็ดฟางโดยการรดด้วยน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtillis และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังในข้อ 13.2 เปรียบเทียบกับการรดด้วยน้ำเปล่าผสมสารเคมีคาร์เบนดาซิม วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 5 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. subtillis กรรมวิธีที่ 2 คือ น้ำสกัด เปลือกกระเทียม กรรมวิธีที่ 3 คือ น้ำสกัด ใบสะเดา กรรมวิธีที่ 4 คือ น้ำสกัด ใบผกากรอง กรรมวิธีที่ 5 คือ สารเคมีคาร์เบนดาซิม 13.3.2 การควบคุมหนอนแมลงของเห็ดฟาง ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดฟางในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนหนอนแมลงศัตรูเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการเพาะเห็ดฟางด้วยวัสถุเพาะดังกล่าว แล้วทำการควบคุมหนอนแมลงศัตรูเห็ดฟางโดยการรดด้วยน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังในข้อ 13.2 เปรียบเทียบกับการรดด้วยน้ำเปล่าผสมสารเคมีเซฟวิน วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 6 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. thuringiensis กรรมวิธีที่ 2 คือ น้ำสกัด ใบตะไคร้หอม กรรมวิธีที่ 3 คือ น้ำสกัด ใบสะเดา กรรมวิธีที่ 4 คือ น้ำสกัด รากหางไหล กรรมวิธีที่ 5 คือ น้ำสกัด รากหนอนตายหยาก กรรมวิธีที่ 6 คือ สารเคมีเซฟวิน 13.3.3 การควบคุมไรศัตรูเห็ดฟาง ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดฟางในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนไรศัตรูเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการเพาะเห็ดฟางด้วยวัสถุเพาะดังกล่าว แล้วทำการควบคุมหนอนแมลงศัตรูเห็ดฟางโดยการรดด้วยน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus mitophagus และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังในข้อ 13.2 เปรียบเทียบกับการรดด้วยน้ำเปล่าผสมสารเคมีอามีทราช วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 6 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. mitophagus กรรมวิธีที่ 2 คือ น้ำสกัด ใบตะไคร้หอม กรรมวิธีที่ 3 คือ น้ำสกัด ใบน้อยหน่า กรรมวิธีที่ 4 คือ น้ำสกัด เถาบอระเพ็ด กรรมวิธีที่ 5 คือ น้ำสกัด รากหนอนตายหยาก กรรมวิธีที่ 6 คือ สารเคมีอามีทราช 13.4 ทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรในการควบคุมศัตรูของเห็ดนางฟ้า 13.4.1 การควบคุมโรคของเห็ดนางฟ้า ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนโรคเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการผสมขี้เลื่อยอาหารเห็ดโดยนำน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtillis และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังข้อ 13.2 (เปรียบเทียบกับสารเคมีคาร์เบนดาซิม) ไปราดรดเพื่อเป็นการให้ความชื้นกับขี้เลื่อยจำนวน 100 กิโลกรัม เติมรำละเอียดเพิ่มเข้าไปอีก 6 กิโลกรัมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมละลายในน้ำ 60 ลิตร ราดรดลงไปในกองขี้เลื่อย และนำภูไมท์ซัลเฟตจำนวน 3 กิโลกรัม โรยผสมตามไปอีกครั้ง (ทดแทนกลุ่มวัสดุปูนขาวและยิปซั่ม) ทำการผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วสังเกตดูว่าความชื้นของขี้เลื่อยมีความเหมาะสมจึงนำมากรอกใส่ถุง ๆ ละ 900 – 1,000 กรัม และใส่คอขวดอุดจุกสำลีตั้งไว้ 3 วัน 3 คืน จึงค่อยนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียสนาน 3 ชั่วโมง ปล่อยไว้ให้เย็นลงจึงนำไปใส่เชื้อเห็ด วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 8 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ซ้ำละ 10 ก้อนถุงเชื้อ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. subtillis กรรมวิธีที่ 2 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + น้ำสกัด ใบผกากรอง กรรมวิธีที่ 3 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. subtillis กรรมวิธีที่ 4 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + น้ำสกัด ใบผกากรอง กรรมวิธีที่ 5 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + สารเคมีคาร์เบนดาซิม กรรมวิธีที่ 6 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + สารเคมีคาร์เบนดาซิม กรรมวิธีที่ 7 คือ ภูไมท์ซัลเฟต กรรมวิธีที่ 8 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม 13.4.2 การควบคุมหนอนแมลงของเห็ดนางฟ้า ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนโรคเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการผสมขี้เลื่อยอาหารเห็ดโดยนำน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังข้อ 13.2 (เปรียบเทียบกับสารเคมีคาร์เบนดาซิม) ไปราดรดเพื่อเป็นการให้ความชื้นกับขี้เลื่อยจำนวน 100 กิโลกรัม เติมรำละเอียดเพิ่มเข้าไปอีก 6 กิโลกรัมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมละลายในน้ำ 60 ลิตร ราดรดลงไปในกองขี้เลื่อย และนำภูไมท์ซัลเฟตจำนวน 3 กิโลกรัม โรยผสมตามไปอีกครั้ง (ทดแทนกลุ่มวัสดุปูนขาวและยิปซั่ม) ทำการผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วสังเกตดูว่าความชื้นของขี้เลื่อยมีความเหมาะสมจึงนำมากรอกใส่ถุง ๆ ละ 900 – 1,000 กรัม และใส่คอขวดอุดจุกสำลีตั้งไว้ 3 วัน 3 คืน จึงค่อยนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียสนาน 3 ชั่วโมง ปล่อยไว้ให้เย็นลงจึงนำไปใส่เชื้อเห็ด วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 8 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ซ้ำละ 10 ก้อนถุงเชื้อ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. thuringiensis กรรมวิธีที่ 2 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + น้ำสกัด ใบตะไคร้หอม กรรมวิธีที่ 3 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. thuringiensis กรรมวิธีที่ 4 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + น้ำสกัด ใบตะไคร้หอม กรรมวิธีที่ 5 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + สารเคมีเซฟวิน กรรมวิธีที่ 6 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + สารเคมีเซฟวิน กรรมวิธีที่ 7 คือ ภูไมท์ซัลเฟต กรรมวิธีที่ 8 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม 13.4.3 การควบคุมไรศัตรูเห็ดนางฟ้า ทดลองเปรียบเทียบวิธีการควบคุมศัตรูเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน โดยนำวัสดุเพาะเห็ดที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ทำการจำแนกชนิดและตรวจนับจำนวนโรคเห็ดในวัสดุเพาะ จากนั้นทำการผสมขี้เลื่อยอาหารเห็ดโดยนำน้ำเปล่าที่ผสมชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus mitophagus และน้ำสกัดสมุนไพร ที่เตรียมไว้ดังข้อ 13.2 (เปรียบเทียบกับสารเคมีคาร์เบนดาซิม) ไปราดรดเพื่อเป็นการให้ความชื้นกับขี้เลื่อยจำนวน 100 กิโลกรัม เติมรำละเอียดเพิ่มเข้าไปอีก 6 กิโลกรัมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัมละลายในน้ำ 60 ลิตร ราดรดลงไปในกองขี้เลื่อย และนำภูไมท์ซัลเฟตจำนวน 3 กิโลกรัม โรยผสมตามไปอีกครั้ง (ทดแทนกลุ่มวัสดุปูนขาวและยิปซั่ม) ทำการผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วสังเกตดูว่าความชื้นของขี้เลื่อยมีความเหมาะสมจึงนำมากรอกใส่ถุง ๆ ละ 900 – 1,000 กรัม และใส่คอขวดอุดจุกสำลีตั้งไว้ 3 วัน 3 คืน จึงค่อยนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียสนาน 3 ชั่วโมง ปล่อยไว้ให้เย็นลงจึงนำไปใส่เชื้อเห็ด วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 8 วิธีการ ทำ 3 ซ้ำ ซ้ำละ 10 ก้อนถุงเชื้อ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. mitophagus กรรมวิธีที่ 2 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + น้ำสกัดรากหนอนตายหยาก กรรมวิธีที่ 3 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย B. mitophagus กรรมวิธีที่ 4 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + น้ำสกัดรากหนอนตายหยาก กรรมวิธีที่ 5 คือ ภูไมท์ซัลเฟต + สารเคมีอามีทราช กรรมวิธีที่ 6 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม + สารเคมีอามีทราช กรรมวิธีที่ 7 คือ ภูไมท์ซัลเฟต กรรมวิธีที่ 8 คือ ปูนขาวและยิปซั่ม 13.5 การประเมินผล 13.5.1 ด้านการเจริญเติบโตของเห็ด การจดบันทึกระยะเวลาของการเกิดดอกเห็ด จำนวนดอกเห็ด และขนาดของดอกเห็ด ในแต่ละซ้ำของกรรมวิธี 13.5.2 ด้านปริมาณผลผลิต การหาน้ำหนักสดผลผลิตเห็ดรวม ในแต่ละซ้ำของกรรมวิธี 13.5.3 ด้านคุณภาพผลผลิต ประกอบด้วย 1) การหาเปอร์เซ็นต์ของดอกเห็ดที่ถูกโรคของ แมลงศัตรูเห็ด และไรศัตรูเห็ดเข้าทำลาย ในแต่ละซ้ำของกรรมวิธี 2) การหาปริมาณสารพิษตกค้างในแต่ละกรรมวิธีและนำไปเทียบกับค่า MRL มกอช.9002-2551, มกษ.9002-2556 (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2556) หรือ Codex MRL (FAO and WHO, 2010) 13.5.4 ด้านต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตข้าว บันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและรายได้ในแต่ละกรรมวิธี คำนวณต้นทุนกำไรในแต่ละวิธีการทดลอง เพื่อวิเคราะห์หาวิธีการขององค์ความรู้ใหม่ในการควบคุมศัตรูเห็ดโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเพื่อถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรต่อไป 13.5.6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ วิเคราะห์ผลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวน (analysis of variance: ANOVA) และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยวิธี Fisher's Least Significant Difference (LSD) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ทำการสรุปผล วิจารณ์ และจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเผยแพร่ต่อไป 13.6 การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนใกล้เคียง ศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและกำไรในการควบคุมศัตรูเห็ดโดยใช้วิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีสังเคราะห์ จากนั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดศัตรูเห็ดโดยวิธีทางชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรที่ให้ผลกำไรสูงสุดแก่เกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณชน 13.7 สถานที่ทำการทดลอง การศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการและโรงเรือน ณ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเกษตร ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสรวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี และ ณ โรงเรือนเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
โครงการวิจัยพัฒนาชุมชนในการผลิตเห็ดปลอดสารพิษโดยชีววิธีและสารสกัดพืชสมุนไพรในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการศึกษาตั้งแต่องค์ความรู้เดิมในการควบคุมศัตรูเห็ดตามวิถีปฏิบัติของเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ และต้นทุนกำไรที่ได้รับ ก่อนนำข้อมูลที่ได้รับมาวางแผนการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของการผลิตเห็ดโดยใช้สมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพ เปรียบเทียบกับการควบคุมศัตรูเห็ดโดยใช้สารเคมีสังเคราะห์ โดยให้เกษตรกรและนักศึกษามีส่วนร่วม เก็บข้อมูลโดยละเอียดทั้งด้านการเจริญเติบโตของเห็ด ด้านการทำลายจากโรคและแมลงศัตรู ด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เปรียบเทียบต้นทุนกำไร จากนั้นนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ในการเรียนการสอนของรายวิชาเห็ดและการผลิตเห็ด ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายปัณณวิชญ์ เย็นจิตต์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 60%
2 นายวาริน อินทนา นักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%
3 นายธิดา เดชฮวบ นักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย