มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The Management Guidelines for Community-Based Cultural-Tourism of Tambon Keoychai ,Chum Saeng District ,Nakhon Sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
-
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
13 มกราคม 2557
วันสิ้นสุดโครงการ :
12 มกราคม 2558
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
การพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก เป็นโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชุมชนในชนบท และการจ้างงานในท้องถิ่น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบสร้างส่วนร่วมให้แก่ชุมชน สนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้แก่เศรษฐกิจชุมชนของประชาชนในท้องถิ่นอีกด้วย “เมืองพระบาง” “เมืองชอนตะวัน” “เมืองจันเสน” หลากหลายชื่อเรียกเหล่านี้ คือชื่อเรียกของจังหวัดนครสวรรค์เมื่อครั้งอดีต เมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จนในปัจจุบันเป็นเมืองที่เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคเหนือและเป็นเมืองการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง นอกจากจุดเด่นที่เป็นคำขวัญของเมืองที่ว่า “เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ” แล้ว นครสวรรค์ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต หัตถกรรม ตลอดจนถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันงดงาม ที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้มาสัมผัส ทุกวันนี้นครสวรรค์ ประกอบไปด้วย ๑๕ อำเภอ ซึ่งแต่ละอำเภอล้วนมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างหลากหลาย นับได้ว่าเป็นเสน่ห์และเป็นทางเลือกที่เย้ายวนให้มาผู้เยือนได้หวนคืนกลับมาท่องเที่ยวอีกอย่างไม่รู้หน่าย อำเภอชุมแสงเป็นอำเภอใหญ่ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองราว ๔๐ กิโลเมตร ในอดีตเป็นเมืองย่านการค้าที่สำคัญ ซึ่งยังมีเรื่องราวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เราได้ศึกษา สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชุมแสงคือเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ที่คอยปกป้องภัยอันตรายให้กับชาวชุมแสงมาเนิ่นนานนับร้อยปี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของอำเภอนี้ คือวัดเกยไชยเหนือ วัดเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งมีเจดีย์ทรงลังกาฐาน ๘ เหลี่ยม ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุของพระองคุลีมาล ตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำ ที่วัดนี้เป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ซึ่งถือเป็นชัยภูมิที่ดีจุดหนึ่ง และว่ากันว่า พระเจ้าตากสินก็เคยใช้ที่วัดแห่งนี้เป็นจุดค้างแรมและตั้งทัพเพื่อจะไปปราบหัวเมืองพิษณุโลกที่พยายามจะแข็งเมืองในยุคนั้นอีกด้วย ดังนั้นปัจจุบัน ชาวชุมแสงจึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินมหาราช ไว้ที่ริมเขื่อนติดกับตลาดให้คนได้เคารพสักการะและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วย อดีตเจ้าอาวาสที่พัฒนาจนวัดเกยไชยเหนือ กลายเป็นวัดน่าร่มรื่น และน่าเลื่อมใส ก็คือหลวงพ่อทองอยู่ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาถึงวัดนี้ไม่ควรพลาดการนมัสการรูปหล่อของท่านที่อยู่ในมณฑป ที่วัดเกยไชยเหนือนี้ ยังเป็นต้นกำเนิดของจระเข้ยักษ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง “ไอ้ด่างเกยไชย” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจระเข้แปลงที่เกิดจากชายผู้มีเวทย์มนต์แก่กล้า พาแฟนสาวหนีจากพ่อตามาที่ริมแม่น้ำ จึงแปลงร่างเป็นจระเข้ใหญ่เพื่อจะพาหนี แล้วเสกน้ำมนต์ที่จะทำให้กลายร่างกลับมาเป็นคนตามเดิมไว้ ครั้นเมื่อกลายร่างเป็นจระเข้ยักษ์ ปรากฏว่าแฟนสาวตกใจทำน้ำมนต์ที่เตรียมไว้หกทิ้งไปหมด จึงไม่สามารถกลับคืนร่างเป็นคนได้อีก จากนั้นมาความดุร้ายของจระเข้ยักษ์ไอ้ด่างเกยไชย ก็สร้างความสยองขวัญสั่นประสาทจนโด่งดังไปทั่วประเทศ และจากบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงความใหญ่โตของจระเข้ด่างเกยไชย ไว้ว่าเฉพาะของหัวกะโหลกก็ สูงถึง ๖ ศอกแล้ว และที่วัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่รวบรวมและจัดแสดงข้าวของโบราณ ในอาคารทรงไทยที่ชื่อ พิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ โดยความร่วมมือของทางวัดกับชุมชนรวบรวมสิ่งของ เช่น ถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง เหรียญโบราณ ธนบัตรจากประเทศต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกัน บริเวณติดกันคืออาศรมศิลป์ท้องถิ่นชุมชนเกยไชย ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนกับทางวัด ที่จะรวบรวมของเก่าหายาก ข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมทั้ง ประเพณีการไหว้ครูตาล (ต้นตาล) ของชุมชนบ้านเกยไชย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมมีสืบต่อกันมายาวนาน คนในชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพิธีการไหว้ครูตาลแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่น ได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาคนรุ่นปู่ยาตายายในการสร้างผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน อาศัยป่าตาลดำรงชีวิตในการทำมาหากิน นำผลผลิตที่ได้จากป่าตาลมาสร้างผลผลิตและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน การตั้งกลุ่มอาชีพในชุมชนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการดูแลและรักษาผืนป่าตาล การนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญามาปรับปรุงคุณภาพพัฒนาสินค้าของชุมชนให้คงคุณภาพของท้องถิ่น ให้คงคุณค่าในความทรงจำของคนที่ได้บริโภคผลิตภัณฑ์จากชุมชน ผู้วิจัยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกยไชย อำเภอชุมแสง เพราะนอกจากชุมชนจะได้แนวทางในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแล้ว ยังเป็นการสืบทอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนทั้งในด้านวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้สืบสานและรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) สืบค้นและสืบสานทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3) เพื่อหารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
การวิจัยเรื่องนี้ ทำการวิจัยด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งกำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ดังนี้ ขอบเขตของการวิจัยด้านพื้นที่ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการวิจัยด้านพื้นที่คือ ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนหมู่บ้าน 16 หมู่บ้าน ขอบเขตของการวิจัยด้านรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยว ผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้ 1. การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยว 2. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการการท่องเที่ยว 3. แนวทางการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในจัดการการท่องเที่ยว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
17.1 ได้ข้อมูลองค์ความรู้ด้านทุนทางวัฒนธรรม ของตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ให้กับประชาชนที่สนใจ และเป็นข้อมูลการเรียนรู้ให้กับชนรุ่นหลังต่อไป (P) 17.2 ได้รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ของตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการท่องเที่ยว ประเพณีวัฒนธรรม ของตำบลเกยไชย (I) 17.3 เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ และความคงอยู่ของทุนทางวัฒนธรรมของตำบลเกยไชย ให้เกิดความยั่งยืน (G)
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
กระบวนการในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูล ทั้งแบบปฐมภูมิ (Primary data )และ ข้อมูลทุติยภูมิ(Secondary data) โดยการสำรวจ ค้นคว้า สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ที่เป็นข้อมูลสถานการณ์(Situational Review) ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ศึกษาตามกำหนดในขอบเขตการศึกษา โดยศึกษาจากเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห้องสมุด สำนักวิทยาบริการของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่เป็นเอกสารจากชุมชนหรือพื้นที่ หรือปราชญ์ของชุมชนเพื่อจัดเก็บเป็นองค์ความรู้ด้านทุนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงศักยภาพ ทิศทางและคงต้องการของชุมชนในการดำเนินการจัดการท่องเที่ยว ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจภาคสนาม (Field study) มีลักษณะการดำเนินโครงการ คือการศึกษาสภาพการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวของของชุมชน โดยใช้กระบวนการประเมินชุมชนแบบมีส่วนร่วม (PRA-Participatory Rural Appraisal) เพื่อแสวงหาแนวทางและกระบวนการการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวของชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องโดยการจัดประชุมกลุ่ม (Focus Group) ในพื้นที่เป้าหมาย ตามประเด็นการพัฒนาทั้งด้าน การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เพื่อค้นหาโจทย์ที่เป็นปัญหาและร่วมวางแผนแนวทางในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เพื่อให้ได้ผลการศึกษานำมากำหนดรูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ขั้นตอนที่ 3 การจัดประชุมเพื่อหารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน การฝึกอบรมแบ่งออกเป็น ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการอบรมภาคทฤษฎีเป็นการให้ความรู้เรื่องภาพรวม ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน การนำหลักทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ โดยจะมีผู้รับการอบรมเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่วนที่ 2 การอบรมภาคปฏิบัติ ผู้รับการอบรมได้นำข้อมูลที่ได้จากชุมชนมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ของชุมชน โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน ได้แก่ ทรัพยากร/สินค้า การบริการ/สิ่งอำนวยความสะดวก การตลาด รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน แล้วนำข้อมูลมากำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน จำนวน 1 วัน ขั้นตอนที่ 4 สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ตามวัตถุประสงค์และขั้นตอนของการวิจัย พร้อมจัดทำรูปเล่มฉบับสมบูรณ์
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นางสาวชุณษิตา นาคภพ
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
100%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru