รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
พิษเฉียบพลันของแอมโมเนีย ไนไตรท์และอิทธิพลของความเค็มต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Acute Toxicity of Ammonia Nitrite and Effect of Salinity to Thai Fairy Shrimp (Branchinella thailandensis Sanoamuang, Saengphan & Mururan) of different ages
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
19 พฤศจิกายน 2556
วันสิ้นสุดโครงการ :
18 พฤศจิกายน 2557
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์น้ำจืดชนิดหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ไรน้ำนางฟ้าสามารถเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าทดแทน อาร์ทีเมีย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเราต้องนำเข้าไข่อาร์ทีเมียเพื่อมาเลี้ยงลูกกุ้งลูกปลา รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนปีละไม่ต่ำกว่า 200-600 ตัน มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และที่ต้องนำเข้าไข่อาร์ทีเมีย เนื่องจากในประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงหาสัตว์น้ำตัวอื่นเพื่อทดแทน (ละออศรีและนุกูล, 2547) ในปัจจุบันนี้สามารถนำไข่ไรน้ำนางฟ้าไปเพาะเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตจนสามารถส่งขายให้กับธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้ในราคาสูง อีกทั้งความสามารถพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า และสามารถส่งขายในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาและขยายตลาดอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ปัจจุบันพบว่าสาหร่ายคลอเรลลาที่เป็นอาหารที่มีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า แต่สาหร่ายคลอเรลลาไม่สามารถเลี้ยงได้ในบางฤดูกาลโดยเฉพาะในฤดูฝน และบางช่วงของฤดูหนาว และกระบวนการผลิตคลอเรลลายังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและกระบวนการขับถ่ายของเสียของไรน้ำนางฟ้าทำให้เกิดพิษจำพวกแอมโมเนียและไนไตร์ท ซึ่งหากมีแอมโมเนียและไนไตร์ทจำนวนมากจะทำให้ไรน้ำนางฟ้าไทยวัยอ่อนตายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และมีรายงานว่าแอมโมเนียรวมไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตรและไนไนไตรท์ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตรเหมาะสำหรับการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า (นุกูลและคณะ, 2549) แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าแต่ละช่วงอายุที่เกษตรต้องเลี้ยงจะต้องมีค่าเท่าใดที่จะไม่ทำให้ไรน้ำนางฟ้าไทยตายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจากการวิจัยของ จามรีและปริญญา (2555) ที่ได้ทดลองเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยด้วยยีสต์มีชีวิตทดแทนคลอเรลลาซึ่งพบว่า คลอเรลลาที่ได้จากการหมักของปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ส่งผลต่ออัตราการรอดตายของไรน้ำในช่วงแรกฟัก ดังนั้นในการวิจัยนี้จึงต้องการศึกษา พิษเฉียบพลันของแอมโมเนียและไนไตรท์ต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้แก่เกษตรกรใช้ในการจัดการคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อศึกษาความสามารถทนความเค็มของไรน้ำนางฟ้าไทยเพื่อพัฒนาการใช้ไรน้ำนางฟ้าไทยในธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล โดยเฉพาะธุรกิจการเลี้ยงกุ้งในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1 เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบพิษเฉียบพลันของแอมโมเนียและไนไตร์ทต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน 2 เพื่อศึกษาอิทธิพลความเค็มต่ออัตราการรอดตายของไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน 3 เพื่อประมาณค่าระดับความเข้มข้นที่ปลอดภัยของแอมโมเนียไนไตรท์และความเค็มต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน
ขอบเขตของโครงการ :
เป็นการศึกษาพิษเฉียบพลันของแอมโมเนีย ไนไตรท์และอิทธิพลความเค็มต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน เพื่อให้แก่เกษตรกรใช้ในการจัดการคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนทราบถึงความสามารถทนความเค็มของไรน้ำนางฟ้าไทยเพื่อพัฒนาการใช้ไรน้ำนางฟ้าไทยในธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล โดยเฉพาะธุรกิจการเลี้ยงกุ้งในอนาคต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การทดลองที่ 1 การศึกษาความเป็นพิษของแอมโมเนียและไนไตรท์ต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน การศึกษาความเป็นพิษของแอมโมเนียและไนไตรท์ต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน คือ 5, 10, 15 และ 20 วัน ทำการทดลองแบบใช้น้ำนิ่ง (static bioassay) ภายใต้อุณหภูมิห้องโดยไม่เปลี่ยนแปลงสารละลายและปิดภาชนะทดลองตลอดการทดลอง ความเป็นพิษแสดงเป็นค่าระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียและไนไตร์ทที่ทำให้ไรน้ำนางฟ้าไทยตายภายในเวลา 48 ชั่วโมง (48 h LC50) วิธีการทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการตามวิธี Toxicity Test Method (APHA et al., 1989) และ Sprague (1969) ดังมีรายละเอียดดังนี้ 1. การเตรียมน้ำทดลอง กรองน้ำประปาผ่านผ้ากรองขนาด 60 ไมครอนลงในถังพลาสติก ใส่หัวทรายเพื่อให้อากาศตลอดเวลา ทิ้งไว้อย่างน้อย 3 วันให้คลอรีนหมดก่อนเริ่มทดลอง 2. การเตรียมสัตว์ทดลอง ฟักไข่ไรน้ำนางฟ้าไทยในถังฟักโดยใช้น้ำจากข้างต้น ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากลูกไรน้ำนางฟ้าไทยฟักเป็นตัวแล้วนำมาเลี้ยงด้วยยีสต์มีชีวิตเพื่อให้ได้อายุตามที่กำหนดไว้ในแผนทดลอง 3. การเตรียมสารละลายในการทดลอง นำสารเคมีที่ใช้ในการทดลอง คือแอมโมเนียมคลอไรด์และโซเดียมไนไตร์ท มาเตรียมเป็นสารละลายเข้มข้น (stock solution) โดยการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การทดลองขั้นต้น (Preliminary test) เป็นการทดลองเพื่อหาระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียและไนไตร์ทที่ใช้ในการทดลองในช่วงที่กว้าง ๆ ที่ทำให้ไรน้ำนางฟ้าไทยตายทั้งหมด 100% และไม่มีการตายเลยทั้ง 100% ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียและไนไตร์ทได้ถูกต้องและเหมาะสมในการทำการทดลองจริง ในการทดลองขั้นต้นนี้ได้ใช้สารละลายทดลอง 6 ระดับความเข้มข้น คือ ความเข้มข้นละ 2 ซ้ำ แต่ละซ้ำมีไรน้ำนางฟ้าไทย 10 ตัวต่อปริมาตรสารละลาย 500 มิลลิลิตร สังเกตและบันทึกผลอัตราการตายของไรน้ำนางฟ้าไทยภายใน 48 ชั่วโมง ขั้นตอนที่ 2 การทดลองขั้นสุดท้าย(full-scale test) เป็นการทดลอง เพื่อหาค่า LC50 โดยกำหนดระดับความเข้มข้นในระดับที่ใกล้เคียง และละเอียดมากกว่าการทดลองขั้นต้นโดยนำค่าพิสัยอัตราการตายที่ใกล้เคียงกับ 50% ของไรน้ำนางฟ้าไทยในการทดลองขั้นต้นมาใช้ทดสอบเพื่อให้ทราบถึงระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียและไนไตร์ทที่ทำให้ไรน้ำนางฟ้าตาย 50% ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง ในแต่ละระดับความเข้มข้นของโลหะหนักแต่ละชนิด ซึ่งทำการทดลอง 3 ซ้ำ ในแต่ละซ้ำ ใช้ไรน้ำนางฟ้าไทย 20 ตัว ต่อ 1 ลิตร และมีโหลควบคุมที่ไม่ได้ใส่แอมโมเนียและไนไตร์ทเป็นตัวควบคุม (control) 1 โหลทดลอง สังเกตและบันทึกอัตราการตายเมื่อครบ 1, 2, 3, 6 12, 24 และ 48 ชั่วโมงตามลำดับ ไรน้ำนางฟ้าไทยที่ตายทำการนำออกจากภาชนะทันทีเมื่อตรวจพบ การตัดสินใจการตายของไรน้ำนางฟ้าถือตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. รยางค์ทั้งหมดหยุดการเคลื่อนไหว 2. ไม่มีการบิดหรืองอตัว 3. ไม่แสดงอาการเมื่อใช้พู่กันถู 4. เมื่อนำไปวางในน้ำปกติที่ไม่มีสารละลายแอมโมเนียและไนไตร์ทจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้อีก การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำก่อน ระหว่างและหลังการทดลอง โดยคุณภาพน้ำที่วิเคราะห์ได้แก่ อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ แอมโมเนียและไนไตร์ท การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์หาค่า 48 h LC50 พร้อมทั้งช่วงแห่งความเชื่อมั่นที่ 95% จากข้อมูลการตายของไรน้ำนางฟ้าไทยและเปรียบเทียบความรุนแรงของความเป็นพิษด้วยการหาค่าอัตราส่วนความรุนแรง การทดลองที่ 2 การศึกษาอิทธิพลของความเค็มต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน การศึกษาอิทธิพลของความเค็มต่อไรน้ำนางฟ้าไทยที่อายุแตกต่างกัน คือ 5, 10, 15 และ 20 วัน ทำการทดลองแบบใช้น้ำนิ่ง (static bioassay) ภายใต้อุณหภูมิห้องโดยไม่เปลี่ยนแปลงสารละลาย ใช้ระดับความเค็มแตกต่างกัน 8 ระดับได้แก่ 0, 5, 10, 15, 20, 25, 30, 35 ส่วนในพัน (ppt) และนับจำนวนตัวที่เหลือทุก 30 นาทีจนกว่าไรน้ำนางฟ้าไทยจะตายหมด
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวจามรี เครือหงษ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%
2 นางสาวจงดี ศรีนพรัตน์วัฒน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%
3 นางสาวสุรภี ประชุมพล นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%
4 นายปริญญา - นักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย