มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
People’s Participation on Conservation and Development for Folk Songs for Cultural tourism in Nakhon sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
13 มกราคม 2557
วันสิ้นสุดโครงการ :
12 มกราคม 2558
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
เพลงพื้นบ้านเป็นศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและมีความสำคัญในสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเพลงพื้นบ้านเป็นเครื่องสะท้อนและเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของคนไทยมาช้านาน อีกทั้งเพลงพื้นบ้านยังเป็นศูนย์รวมศิลปะอันล้ำค่าหลายด้าน เช่น วรรณศิลป์ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ซึ่งผสมผสานกันอย่างลงตัว ด้วยเหตุนี้ เพลงพื้นบ้านจึงกลายเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นที่นิยมของชาวไทย อย่างไรก็ตามเพลงพื้นบ้านนั้นมิได้มุ่งเน้นเฉพาะความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแฝงไว้ซึ่งความงาม ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณีอันดีงาม เพลงพื้นบ้านของจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบไปด้วยการขับร้อง การฟ้อนรำ และการบรรเลงดนตรี มีเพลงพื้นบ้านที่สำคัญและเป็นเพลงที่นิยมร้องเล่น เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพิษฐาน เพลงระบำบ้านไร่ ฯลฯ ซึ่งโอกาสในการเล่นเพลงส่วนใหญ่พบในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและงานบุญต่างๆ จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดหนึ่งที่สมัยก่อนชาวบ้านนิยมเล่นเพลงพื้นบ้านกันมาก และมีเพลงพื้นบ้านหลายเพลงที่มีการร้องเล่นกันในทุกฤดูกาล ทุกเทศกาล บางเพลงเป็นเพลงท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ไม่พบในถิ่นอื่น เช่น เพลงรำวงโบราณ เพลงเหล่านี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรม มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวนครสรรค์มาช้านาน ซึ่งในอดีตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นักเพลงในอดีตได้มีโอกาสนำเพลงพื้นบ้านจากนครสวรรค์เผยแพร่ต่อสังคมในระดับจังหวัดและระดับประเทศ อีกทั้งสถาบันการศึกษาท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในด้านเพลงพื้นบ้านโดยให้นักเรียนได้ฝึกร้อง รำ และออกแสดงในงานสำคัญต่างๆ จากการออกสำรวจภาคสนามของผู้วิจัยที่จังหวัดนครสวรรค์ พบปัญหาที่สนใจอย่างยิ่งคือ เพลงพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกำลังได้รับผลกระทบเชิงลบและตกอยู่ในสภาวการณ์ที่กำลังสูญหายลงไปทุกขณะ จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ส่งผลให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เนื่องมาจากการหลั่งไหลของกระแสความเชื่อและวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว การที่ผู้คนในท้องถิ่นถูกเชื่อมโยงกับกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนกระบวนการในการดำเนินชีวิตตามแบบทุนนิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเริ่มถูกกลืนและจางหายไป สาเหตุสำคัญคือ ประชาชนขาดโอกาสและไม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ดังนั้นหากไม่เร่งดำเนินการป้องกันและสร้างความเข้าใจต่อชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตนเองในอนาคต จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างแน่นอน แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับภาคเหนือตอนล่างได้กำหนดให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับชาติ ประกอบกับเป็นประตูสู่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์รวมความเจริญในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว ฯลฯ จังหวัดนครสวรรค์จึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง เป็นแหล่งรวบรวมผสมผสานศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆมากมาย และงานประเพณีที่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากความพร้อมในด้านต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้จังหวัดนครสวรรค์ทุ่มเทให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า “ศูนย์กลางการค้าข้าวและสินค้าเกษตร เมืองแห่งการศึกษา สังคมเข้มแข็ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ” ด้วยเหตุนี้ทำให้จังหวัดนครสวรรค์หันมาให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการพัฒนาการท่องเที่ยว จังหวัดนครสวรรค์จึงมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาและสร้างความตระหนักแก่ชุมชนเจ้าของท้องถิ่นให้เกิดความรู้รักษ์ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยการฟื้นวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ตลอดจนวางรากฐานจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นหลังและคนในท้องถิ่นได้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนว่าแท้จริงแล้วสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเพลงพื้นบ้านมาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถใช้จุดเด่นเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทิศทางที่เหมาะสมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และนำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนให้สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างครบวงจรที่สร้างรายได้ภายใต้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จากสภาพดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญของเพลงพื้นบ้านในฐานะที่เป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า และได้เคยมีบทบาทหน้าที่ในสังคมมาอย่างยาวนาน หากสามารถนำความงดงามและสาระสำคัญของเพลงพื้นบ้านให้กลับคืนมาสู่สังคมได้จะเป็นการสงวนรักษาคุณค่าของเพลงพื้นบ้านไว้ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย จึงเป็นที่มาของงานวิจัย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของชุมชนย่อมทำให้ชุมชนได้แสดงถึงศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิ รักใคร่และหวงแหนใน “มรดกทางวัฒนธรรม” ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรทุนทางวัฒนธรรมสืบต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการใช้เพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
ขอบเขตด้านพื้นที่ พื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังพบว่ามีวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านปรากฏอยู่ ขอบเขตด้านเนื้อหา 1. กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ 2. การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการใช้เพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านเวลา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
เกิดชุดความรู้เพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์และเกิดกลไกความร่วมมือในกิจกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านเยาวชน ด้านสุขภาพ ด้านวัฒนธรรม และเกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระดับพื้นที่ (P) พัฒนาศักยภาพของชุมชนในการมีส่วนร่วมร่วมอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน และสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย ระดับความสำเร็จ คือ (I) เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนอันเป็นเสมือนดังภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นในการรู้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง (G)
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
ผู้วิจัยได้เสนอวิธีดำเนินการวิจัยตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อม 1) ศึกษารวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากวารสาร งานวิจัย บทความ จากฐานข้อมูลต่างๆ 2) ประชุมชี้แจงโครงการวิจัยระหว่างนักวิจัยและนักวิจัยในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน 3) จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำเครื่องมือในเก็บรวบรวมข้อมูลเพลงพื้นบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ 4) เก็บรวบรวมข้อมูลเพลงพื้นบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ ขั้นตอนที่ 2 ขั้นดำเนินการ 1) จัดเวทีระดมความคิดและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน 2) ระดมความคิดเห็นแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นการพัฒนาและบูรณาการองค์ความรู้ 1) ระดมความคิดและถอดบทเรียนเกี่ยวกับกลไกการบูรณาการความรู้เพลงพื้นบ้านกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2) ส่งเสริมและสร้างกลไกในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยการอบรม/การศึกษาดูงาน 3) ดำเนินการบูรณาการองค์ความรู้เพลงพื้นบ้าน (การคิด การวางแผน และการปฏิบัติ) เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ 4) จัดประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนในการพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขั้นตอนที่ 4 ขั้นการวิเคราะห์และการประเมินผล 1) การวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปภาพรวมเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นายภิญโญ ภู่เทศ
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
100%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru