รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การบูรณาการระบบบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Integrated household accounting system for philosophy sufficiency economy management
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
13 มกราคม 2557
วันสิ้นสุดโครงการ :
12 มกราคม 2558
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         แนวทางหนึ่งที่ประชาชนคนไทยควรยึดตามแนวทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมองเห็นถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง รู้จักความพอมีพอกินพอมีพอใช้ คำนึงถึงหลักเหตุผลและการประมาณตัวเอง พร้อมกับทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต อันเนื่องมาจากในสภาวะเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยกระแสวัตถุนิยม และความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ จนทำให้คนไทยหลงเดินทางผิดไปตามกระแสนิยมจนกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่ไม่มีวันจบสิ้น จากการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งการจะดำรงชีวิตให้อยู่รอดภายใต้สังคมในปัจจุบัน บัญชีครัวเรือน มิได้หมายถึง การทำบัญชีหรือบันทึกรายรับจ่ายประจำวันเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการบันทึกข้อมูลด้านอื่นๆ ในชีวิต ในครอบครัว และของตนเอง ได้ด้วย เช่น บัญชีทรัพย์สิน พันธุ์พืช พันธุ์ไม้ ในบ้านเราในชุมชนเรา บัญชีความรู้ความคิดของเรา บัญชีภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของเรา เป็นต้น หมายความว่าสิ่งหรือเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเรา เราจดบันทึกได้ทุกเรื่อง หากประชาชนทุกคนจดบันทึกจะมีประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ครอบครัวเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ การทำบัญชีหรือการจดบันทึกนี้สำคัญยิ่งใหญ่มาก การทำบัญชีครัวเรือนเป็นการจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันของครัวเรือน และสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการออม การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นการทำบัญชีครัวเรือนมีความสำคัญดังนี้ (1) ทำให้ตนเองและครอบครัวทราบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และเงินคงเหลือในแต่ละวันรายรับ หรือ รายได้ คือ เงิน หรือสินทรัพย์ที่วัดมูลค่าได้ ที่ได้รับจากการประกอบอาชีพ หรือผลตอบแทนที่ได้รับจากการให้ผู้อื่นใช้สินทรัพย์ หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น รายได้จากค่าจ้างแรงงาน เงินเดือน ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากธนาคาร หรือ จากเงินให้กู้ยืม รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ เป็นต้น (2) นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และวางแผนการใช้จ่ายเงิน โดยพิจารณาแต่ละรายการในแต่ละวันมีรายจ่ายใดที่มีความสำคัญมาก และรายจ่ายใดไม่จำเป็นให้ตัดออก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมีพอใช้และเหลือเก็บเพื่อการออมทรัพย์สำหรับใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในอนาคต การวางแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมระหว่างรายรับและรายจ่ายครอบครัวต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่าย หากพบว่ารายรับน้อยกว่ารายจ่าย ต้องหาแนวทางนำเงินมาใช้จ่ายให้พอเพียง โดยอาจต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย แต่การกู้ยืมเงินไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพียงแต่ช่วยให้การใช้จ่ายมีสภาพคล่องชั่วขณะเท่านั้น และในระยะยาวยังส่งผลให้ครอบครัวมีภาวะหนี้สินจำนวนมากทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาที่ยาวนานในการกู้ยืมเงิน เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในการใช้จ่ายเงินหรือปัญหารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายนั้นมีแนวทางดังนี้ (1) การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดภาวการณ์จ่ายเงินออกจากครอบครัว เช่น รายจ่ายเกี่ยวกับการพนัน สิ่งเสพติดของมึนเมา รายจ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น เป็นการสร้างนิสัยมิให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย (2) การลดรายจ่ายที่จำเป็นลง เพื่อสร้างนิสัยการประหยัด อดออม การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า เช่น การปลูกผัก ผลไม้ไว้รับประทานเอง เพื่อช่วยลดค่าอาหาร และค่าเดินทางไปตลาด อีกทั้งทำให้สุขภาพดีอีกด้วย ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแล้วหันมาออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยาน หรือ การเดิน การวิ่งแทนการขับรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ เป็นต้น (3) การเพิ่มรายรับ หารายได้เสริมนอกเวลาทำงานปกติ เช่น การใช้เวลาว่างรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า การขายอาหารหลังเลิกงาน การปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย เป็นต้น (4) การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัด รู้จักอดออม การใช้ทรัพยากรต่างๆ ลด ละ เลิก รายจ่ายหรือสิ่งที่ไม่จำเป็นและช่วยกับสร้างรายรับให้พอเพียง เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน จากความสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือนดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและสอดคล้องตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของปรัชญา กล่าวคือ (1) ความพอประมาณ ซึ่งหมายถึงความพอดีๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ไม่สุดโต่ง และไม่เติบโตเร็วเกินไป (2) ความมีเหตุผล คือ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป สามารถอธิบายได้ มีเหตุมีผลรับกัน (3) ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือ ต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้กระทำสิ่งที่เสี่ยงเกินไป ไม่เสี่ยงในเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง หากเอาหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ในเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็จะเริ่มต้นที่บุคคลต้องทำการทำงานอย่างมีคุณธรรม อยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต มีความมะนะอดทนและพากเพียร และมีความรอบรู้ กระทำการด้วยความรอบคอบ ไม่บุ่มบ่าม จึงจะก้าวหน้าในงาน มีรายได้สม่ำเสมอ ไม่มีอุปสรรคและปัญหาในชีวิตอันเกิดจากการคดโกงหรือความไม่รอบคอบ เมื่อหักส่วนหนึ่งของรายได้เป็นเงินออมเพื่อเอาไปลงทุนให้เกิดเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ก็อยู่ในขนาดที่พอเหมาะพอควร ไม่ตึงไม่เกินไปในเรื่องการออมจนชีวิตเครียดขาดความสุข สุดโต่งในพฤติกรรมจนขาดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และเมื่อจะนำไปลงทุนก็อยู่บนความมีเหตุมีผล ไม่หวือหวาตามผู้อื่นอย่างขาดความรอบรู้และรอบคอบ ไม่บุ่มบ่ามอย่างขาดสติจนอาจถูกคนอื่นหลอกลวงได้ ที่สำคัญที่สุดของการลงทุนก็คือ มี ”ภูมิคุ้มกัน” ที่ดี ไม่ลงทุนอย่างเสี่ยงเกินกว่าที่จะเกิดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่มากและเติบโตเกินความเป็นจริง อยู่บนโลกของความเป็นจริงที่คาดหวังผลตอบแทนที่พอเหมาะ และมีความสุขพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ หากทุกคนใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในเรื่องการทำงาน การหา รายได้ การออม การลงทุน ตลอดจนการใช้จ่าย มีความพอใจกับรายได้ที่งอกเงยในรูปของผลประโยชน์จากการลงทุน รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ที่ตนเองได้รับแล้ว ชีวิตก็จะมีความสุข เพราะมีความมั่นคงและยั่งยืนอีกทั้งยังมีความสุขใจด้วย ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการบูรณาการระบบบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำการวิจัยทั้งแนวทางเชิงคุณภาพและแนวทางเชิงปริมาณ กล่าวคือ แนวทางเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยทำการศึกษาระบบบัญชีต่างๆ ในระดับชุมชน สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อบูรณาการสร้างรูปแบบระบบบัญชีครัวเรือนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ (1) หลักความพอประมาณ (2) หลักความมีเหตุผล และ (3) หลักความมีภูมิคุ้มกัน ให้ครัวเรือนสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนและรายงานทางการเงินของครัวเรือนได้อย่างถูกต้องและเข้าใจง่าย สำหรับแนวทางเชิงปริมาณ ผู้วิจัยทำการวัดผลการอบรม เปรียบเทียบก่อน-หลัง การอบรมและทำการวิเคราะห์เส้นทาง (Path analysis) โดยจัดอบรมการจัดทำบัญชีครัวเรือนให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติได้จริงเกี่ยวกับการบันทึกบัญชี การวิเคราะห์รายการค้าถึงรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็นสำหรับครัวเรือน เพื่อการวางแผนการใช้จ่ายในครัวเรือน ตลอดจนทราบผลการทดสอบที่ได้ผ่านการอบรมก่อนและหลังการฝึกอบรม จากการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาการจัดทำบัญชีในระดับชุมชน ตลอดจนปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเกษตรกร 2. เพื่อบูรณาการสร้างรูปแบบการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3. เพื่อทดลองใช้รูปแบบบูรณาการระบบการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ขอบเขตของโครงการ :
การนำเทคนิคการวิเคราะห์หลายตัวแปร ได้แก่ เทคนิคการวิเคราะห์การผันแปร หรือการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) ได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลของการฝึกอบรมเปรียบเทียบก่อน-หลังการฝึกอบรม และการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) เนื่องจากในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ได้ใช้ทั้งแนวทางเชิงปริมาณ และแนวทางเชิงคุณภาพ ในการรายงานข้อค้นพบ ผู้วิจัยจะนำเสนอในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน แล้วเสริมด้วยข้อค้นพบที่ได้จากแนวทางเชิงคุณภาพ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ทราบแนวทางการปฏิบัติทางการบัญชีของครัวเรือน ตลอดจนปัญหาเพื่อการบริหารในครัวเรือนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2. ทำให้ทราบต้นแบบการทำบัญชีเพื่อนำไปใช้ได้กับครัวเรือนในเขตพื้นที่อื่น ๆ 3. ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ก. ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการวิจัย การกำหนดประชากรกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกร (ทำนา) ในจังหวัดนครสวรรค์ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ละขั้นตอนผู้วิจัยมีผู้ช่วยนักวิจัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาการบัญชี บช.บ. ชั้นปีที่ 4 คอยให้คำแนะนำ นอกจากนั้น ผู้วิจัยทำการฝึกอบรมผู้ช่วยวิจัยก่อนทำการวิจัยลงพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ขั้นตอนในการทำวิจัยการบูรณาการระบบบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำให้ทราบถึงระบบบัญชีครัวเรือน โดยมีขั้นตอนดังนี้ (1) ศึกษาวิธีการจัดทำบัญชีครัวเรือน การจัดเก็บเอกสารประกอบการลงบัญชีตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำบัญชี (2) สร้างและบูรณาการระบบบัญชีครัวเรือนเกี่ยวกับเอกสารการจัดทำบัญชี แบบฟอร์มการบันทึกบัญชี โดยแยกประเด็นเกี่ยวกับรายจ่ายจำเป็นและรายจ่ายไม่จำเป็น เพื่อวางแผนและวิเคราะห์ผลของการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประเมินผลการทำบัญชีครัวเรือนได้อย่างเข้าใจและตรวจสอบได้ชัดเจน ได้แก่ งบดุล เป็นงบที่แสดงฐานะทางการเงินของครัวเรือน และงบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงานครัวเรือน ช่วยในการป้องกันการเกิดปัญหาหนี้สินและการบริหารจัดการในครัวเรือน ตลอดจนการสรุปผลรายงานทางการเงินโดยเก็บตัวเลขและรวบรวมข้อมูลทางการเงินให้ง่ายต่อเกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง (3) ทดลองใช้การจัดทำบัญชีของระบบบัญชีครัวเรือนโดยทำการอบรมเกษตรกรในการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ได้รูปแบบระบบบัญชีครัวเรือนที่สามารถใช้ได้จริงกับกลุ่มเป้าหมายพื้นที่อื่นๆ (4) ทดสอบผลการบูรณาการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้ความรู้ ความสามารถในการจัดทำบัญชีครัวเรือนและมีความเข้าใจต่อการจัดทำบัญชีได้จริงและเข้าใจง่าย ข. ขั้นตอนและวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูล (1) แนวทางศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative approach) ใช้การสัมภาษณ์เจาะลึก (in-depth interview) จัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกร ในประเด็นเกี่ยวกับ รายรับรายจ่ายของครัวเรือน ตลอดจนการจัดทำบัญชีครัวเรือน ปัญหาที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัญชี เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดทำระบบบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (2) แนวทางการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative approach) ผลของการวิเคราะห์การผันแปร (analysis of variance ANOVA) เพื่อทำการเปรียบเทียบผลของการฝึกอบรม (ก่อนและหลัง) เกี่ยวกับการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) การบูรณาการระบบบัญชีครัวเรือนเพื่อการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ค. การสร้างมาตรวัดและนิยามปฏิบัติการ ในการสร้างมาตรวัดตัวแปรหลักๆที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับระบบบัญชีในการจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน และได้นำความรู้ดังกล่าวมากำหนดคำนิยามจริง และนิยามปฏิบัติการเพื่อสร้างมาตรวัดของตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ในเรื่องการจัดทำระบบบัญชีครัวเรือน การบริหารการจัดการ ปัญหาอุปสรรค ของการจัดทำบัญชี 1. มาตรวัดระบบบัญชี : ในระดับชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบบัญชีครัวเรือน การทบทวนวรรณกรรมของมาตรวัดและนิยามจริง : วงจรบัญชีตามคำนิยามของเฮนดริคเซน และริชาด (Hendriksen & Richard, 1990) แมททิวส และพีรีรา (Mathews & Perera, 2001) ได้ให้คำนิยามของวงจรบัญชี โดยเริ่มจากการจดบันทึก การจัดหมวดหมู่ตามประเภทของรายการ เพื่อความสะดวกในการสรุปผลออกมาเป็นงบการเงิน ในรูปของงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกำไรสะสม งบกระแสเงินสด เพื่อนำมาวิเคราะห์ตีความที่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้สะดวก เกรย์ เพิคซ์ และเมาเดอ (Gray Perks & Miaunder, 1997) ได้กล่าวว่า ระบบบัญชีเป็นการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินซึ่งประกอบด้วยแบบฟอร์ม หรือ เอกสารต่างๆในการลงบัญชี ตลอดจนวิธีการและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาใช้ในการรวบรวมข้อมูลให้กับกิจการ ในส่วนที่ว่าด้วยเกี่ยวข้องกับเอกสารของระบบบัญชี นอกจากนั้นได้แสดงเอกสารองค์ประกอบของระบบบัญชี (components of the accounting system ) ซึ่งประกอบด้วย อัตราส่วนทางการเงิน งบกำไรขาดทุน งบดุล การวิเคราะห์งบการเงิน งบกระแสเงินสด โดยแต่ละองค์ประกอบมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือการบันทึกในสมุดรายวันผ่านไปบัญชีแยกประเภท และออกมาเป็นงบการเงินนั่นเอง โดยจะต้องมีเอกสารทางการบัญชีแนบประกอบซึ่งถือว่าเป็นการใช้หลักฐานอันเที่ยงธรรม สอดคล้องกับแม่บทการบัญชี จากการทบทวนวรรณกรรมในส่วนที่ว่าด้วยการบริหารระบบบัญชี พบว่าเพ็ง (Peng, 2006) ได้กล่าวถึงสภาพของการบริหารการใช้รายงานทางการบัญชี ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการบริหารงาน การแบ่งงานกันทำ การบริหารเงินในกองทุน ตลอดจนการให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ ซึ่งผู้วิจัยได้นำมาใช้ในการออกแบบสอบถามในส่วนที่เกี่ยวกับ การบริหาร การจัดการของชุมชนกลุ่มทอผ้า นอกจากนั้นยังพบว่า ทอมสัน (Thompson, 1988) ศึกษาระบบบัญชีประเภทซื้อมาขายไป ที่คล้าย ๆ กับการจัดทำบัญชีกลุ่มทอผ้า ทำให้ผู้วิจัยได้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำบัญชี ที่ต้องมีความรู้ระบบของเอกสารในการประกอบการลงบัญชี (voucher) สมุดบัญชีต่างๆ แยกเป็น สมุดรายรับ (receipt journal) และ สมุดรายจ่าย(payment journal) การจัดทำรายงานทางการบัญชี (financial report) มีค และ โซดากาแรน (Meek & Saudagaran, 1990) ได้กล่าวว่า ต้องประกอบด้วยงบดุล (balance sheet) และ งบกำไรขาดทุน (income statement) ซึ่งผู้วิจัยได้นำมาใช้ในการสร้างมาตรวัด/รายการข้อคำถามในแบบสอบถาม ความสามารถในการทำบัญชี : ผู้ทำบัญชีควรมีความรู้ความสามารถในการลงบัญชีได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องประกอบด้วยเอกสารประกอบการลงบัญชี เครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการลงบัญชี ฮิลตัล (Hilton, 1999) กล่าวว่า การวัดความสามารถของผู้ทำบัญชี ในการทำบัญชีเกี่ยวกับงบดุล (balance sheet) ซึ่งเป็นงบที่แสดงฐานะทางการเงินของกิจการคือความสามารถของผู้ทำบัญชีในการแสดงจำนวนเงินเป็นหน่วยเดียวกันได้อย่างถูกต้อง เช่น เงินสด (cash in hand) เงินฝากธนาคาร (cash in bank) ลูกหนี้ (receivables) ตลอดจน หนี้สิน (payables) และ ทุน (capital) และงบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินงาน สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง เกี่ยวกับรายได้ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 2. มาตรวัดความรู้ความสามารถของการจัดทำระบบบัญชีครัวเรือน : ในการวัดความรู้ความสามารถของเกษตรกร ประกอบไปด้วยข้อคำถามสภาพการจัดทำบัญชี และการใช้รายงานทางการบัญชีของเกษตรกรในครัวเรือน โดยแยกเป็นความรู้และความสามารถในการจัดทำบัญชี เนื่องจากรายการที่จะนำมาใช้สร้างมาตรวัดนี้มีหลายข้อจะขอนำเสนอเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน ตัวอย่างข้อคำถามความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน 1. ระบบบัญชีครัวเรือน ที่ท่านทำในปัจจุบันจำเป็นต้องมีรายงานทางการเงิน ดังนี้ 1.1 การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานครัวเรือนหรือไม่ ? มี ? ไม่มี 1.2 การจัดทำรายงานฐานะทางการเงินของครัวเรือนหรือไม่ ? มี ? ไม่มี 2. ท่านคิดว่ารูปแบบ แบบฟอร์ม ของรายงานทางการบัญชีครัวเรือนมีความเหมาะสมเพียงไร บัญชีวิเคราะห์รายจ่ายที่จำเป็นและรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ? เหมาะสม ? ไม่เหมาะสม เหตุผล…………………………… 3.ในปัจจุบันท่านสามารถจัดทำบัญชีสำหรับช่วงระยะเวลาที่ทำการปิดบัญชีทุกสิ้น เดือนในรายงานรายได้ ค่าใช้จ่าย หรือไม่ ? ทำได้ ? ทำไม่ได้ 3. มาตรวัดการบริหารในครัวเรือนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ประกอบด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการบริหารในครัวเรือนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยวัดเป็นระดับความคิดเห็นโดยท่านเห็นด้วยกับข้อความต่อไปนี้มากน้อยแค่ไหน หากเห็นด้วยมากให้คะแนนเต็ม 10 ไม่เห็นด้วยเลยให้ 0 และเห็นด้วยระดับอื่นให้คะแนนตามสากลการให้คะแนน 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 ไม่เห็นด้วย เห็นด้วยอย่างยิ่ง คำนิยามปฏิบัติการประกอบด้วยข้อความที่ให้ผู้เข้ารับการอบรม แสดงความเห็นด้วยกับข้อความว่าเห็นด้วย มากน้อยแค่ไหน เกี่ยวกับการบริหารในครัวเรือนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและให้คะแนน จาก 0 ถึง 10 ตามระดับความเห็นด้วยของท่าน เนื่องจากรายการที่จะนำมาใช้สร้างมาตรวัดนี้มีหลายข้อจะขอนำเสนอเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน ตัวอย่างข้อคำถามการบริหารจัดการครัวเรือนและการเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 1. ท่านมีการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ตามที่ได้วางแผนไว้ คะแนน........... 2. ท่านมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่กู้ยืมเงินมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด คะแนน........... 3. ท่านมีการออมเงินทุกเดือน เพื่อใช้จ่ายเงินในยามฉุกเฉิน คะแนน.........
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริศรา เหล่าบำรุง นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย