รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
สถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Position of the Autonomous University and Local Community Empowerment
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
18 พฤษภาคม 2564
วันสิ้นสุดโครงการ :
17 พฤษภาคม 2565
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยพื้นฐาน
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” (Autonomous University) เป็นมหาวิทยาลัยประเภทหนึ่งที่มีสถานภาพอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการกับมหาวิทยาลัยเอกชน เป้าหมายหลักของการก่อตั้งหรือปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก็คือ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล หรือการบริหารการศึกษา มากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ แต่ยังคงได้รับการดูแลโดยรัฐมากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนในบางเรื่องเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น การที่รัฐยังจัดสรรงบประมาณให้บางส่วนในกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอ เพื่อรักษาประโยชน์ของบุคลากรในหน่วยงานและนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบผ่านทางค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น เป็นต้น ลักษณะของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เป็นแบบ “กึ่งรัฐกึ่งเอกชน” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังกระแสการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยประเภทนี้ อันได้แก่ แนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่” (Neo-liberalism) ความคิดหลักของเสรีนิยมใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในอังกฤษตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดย คีท โจเซฟ (Keith Joseph) ก่อนจะถูกนำไปปฏิบัติจริงโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ มากาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในทศวรรษ 1980 พอถึงปี ค.ศ.1992 สองในสามของอุตสาหกรรมที่ถือกำเนิดโดยรัฐก็ได้ถูกขายไปให้เอกชน ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา กิจการหลากหลายชนิดที่เคยอยู่ในการควบคุมของรัฐเริ่มทยอยถูกแปรรูปเข้าสู่ระบบตลาดเสรี เข้าสู่มือของเอกชน ไล่ตั้งแต่ถนนหนทาง ประปา ไฟฟ้า มาจนถึงสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาดูจะได้รับผลกระทบมากถึงสองมิติ กล่าวคือ นอกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสถานศึกษาเอกชนทำให้มีเป้าหมายหลักคือการมุ่งกำไรเพิ่มขึ้นมาแล้ว บรรดาวิชาหรือหลักสูตรที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจัดสรรให้แก่ผู้ศึกษาก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นวิชาหรือหลักสูตรที่ตอบสนองต่อระบบตลาด หรือทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกมาสามารถมีอาชีพเลี้ยงปากท้องของตนได้ในโลกแห่งเศรษฐกิจเสรีด้วย ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันหลักที่บ่มเพาะอุดมการณ์ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย แทบจะสูญหายไป มหาวิทยาลัยแทบกลายเป็นเพียงโรงงานป้อนวัตถุดิบให้กับระบบตลาด เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาบนฐานความเชื่อที่ว่า ตลาดมีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรเหนือกว่ากลไกอื่น (เช่นรัฐและชุมชน) และการบริหารจัดการแบบมืออาชีพในระบบตลาดจะให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี ระบบตลาดเสรีนั้นเอื้อต่อหน่วยงานหรือภาคส่วนทางธุรกิจที่มีความพร้อม แต่อาจไม่เป็นผลดีต่อหน่วยงานหรือภาคส่วนธุรกิจที่ไม่มีความพร้อม การเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไปสู่ระบบตลาดไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว แต่เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ไม่คุ้นเคยกับการแข่งขันในระบบตลาด แต่คุ้นเคยกับระบบการรับงบประมาณจัดสรรจากรัฐและการบริหารเชิงรับ ซึ่งมหาวิทยาลัยจำพวกหลังนี้มักพบมากในประเทศที่มีลักษณะเป็น “รัฐราชการ” (Bureaucratic state) ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของรัฐในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ดังนั้น เมื่อกระแสเสรีนิยมใหม่ในแวดวงการอุดมศึกษาแพร่ลามจากโลกตะวันตกที่เป็นจุดกำเนิดอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มาสู่ประเทศโลกที่สาม รัฐบาลในกลุ่มประเทศโลกที่สามจึงต้องเผชิญกับปัญหาที่ต่างออกไปจากรัฐบาลในโลกตะวันตกในการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ส่วนราชการ มหาวิทยาลัยรัฐในประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการรอรับงบประมาณจากรัฐ และไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันในระบบธุรกิจเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน ด้วยเหตุนี้ กระบวนการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการของมหาวิทยาลัยรัฐในประเทศโลกที่สามจึงยังคงต้องมี “ระยะเวลาพึ่งพิง” ที่รัฐยังต้องประคับประคองมหาวิทยาลัยไปก่อนในระยะของการเปลี่ยนผ่าน โดยส่วนใหญ่จะปรากฏในลักษณะของการจัดสรรงบประมาณเสริมให้บางส่วน ลักษณะดังกล่าวนี้ต่อมาได้กลายเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของ “มหาวิทยาลัยกึ่งรัฐกึ่งเอกชน” หรือ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เช่นในประเทศไทย อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทยในปัจจุบันมีการจัดกลุ่ม “มหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น” เอาไว้ด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นถูกจัดไว้ในเบื้องต้นให้เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มนี้ การเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจและท้าทาย เนื่องจากจุดยืนเดิมของมหาวิทยาลัยราชภัฏมีลักษณะที่ค่อนข้างขัดแย้งกับปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดว่าด้วยการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอันได้แก่ปรัชญาแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อใน “พลังการจัดสรรของตลาด” หรือปรัชญาแนวคิดของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในประเทศไทยเองที่มีเป้าหมายคือต้องการให้มหาวิทยาลัย “พึ่งตนเองได้” หมายถึงการพึ่งตนเองได้ในเชิงรุก มีงบประมาณเพียงพอ และมีคลังทางปัญญาที่ดีพอจะผลิตบัณฑิตให้สามารถเอาชีวิตรอดได้ในโลกที่การตลาดเป็นใหญ่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจึงมีภารกิจที่เพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือ จะต้องชั่งน้ำหนักว่าเมื่อเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วจะยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดิมคือการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนท้องถิ่นอยู่หรือไม่? มากน้อยเพียงใด? จะมีวิธีในการรักษาจุดยืนเดิมพร้อม ๆ กับเปลี่ยนแปลงสถานภาพควบคู่กันไปได้อย่างไร? ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาความสอดคล้องระหว่าง “หลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” กับ “แนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น” ว่ามีความสอดคล้อง/ขัดแย้งกันในแง่ใด มากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะนำข้อค้นพบดังกล่าวมาสร้างเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้ อันจำเป็นต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือมหาวิทยาลัยกลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องการจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 123456
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กับแนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น 2. เพื่อสร้างข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
ขอบเขตของโครงการ :
1. ขอบเขตประเด็นที่ศึกษา การศึกษาเรื่อง สถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น แบ่งขอบเขตของประเด็นที่จะศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก ศึกษาถึงความสอดคล้องระหว่างหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กับแนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ส่วนที่สอง ศึกษาถึงประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึง ในการดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น 2. ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มเป้าหมาย การศึกษาเรื่องสถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วยผู้ให้ข้อมูลซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม โดยพิจารณาจากผู้ที่มีบทบาทหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและชุมชนท้องถิ่น และผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บุคคลสำคัญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ แนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกโดยใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) คณะผู้วิจัยจะทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้ให้ข้อมูลกลุ่มที่ 1 เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ หลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ แนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มที่ 2.1 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จำนวน 19 คน (2.1.1) อธิการบดี จำนวน 1 คน (2.1.2) รองอธิการบดี จำนวน 5 คน (2.1.3) คณบดี จำนวน 5 คน (2.1.4) ผู้อำนวยการสำนัก/กอง จำนวน 7 คน (2.1.5) ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการพลเรือน จำนวน 1 คน ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกโดยใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) คณะผู้วิจัยจะทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้ให้ข้อมูลกลุ่มที่ 2.1 เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพื้นฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์และบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มที่ 2.2 ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ สายสนับสนุน และตัวแทนนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จำนวน 3 กลุ่ม (2.2.1) ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ จำนวน 1 กลุ่ม (2.2.2) ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน จำนวน 1 กลุ่ม (2.2.3) ตัวแทนนักศึกษา จำนวน 1 กลุ่ม คณะผู้วิจัยจะทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Groups) แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้ให้ข้อมูลกลุ่มที่ 2.2 เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพื้นฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์และบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยประชากรในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ที่คณะผู้วิจัยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ถูกเลือกมาโดยวิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จากการพิจารณาของผู้วิจัยเอง โดยลักษณะกลุ่มประชากรที่ต้องการจะศึกษา จะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ, แนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น, และข้อมูลพื้นฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ในระดับสูง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพจากผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) อย่างครบถ้วน 3. ขอบเขตด้านพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และจังหวัดนครสวรรค์ 4. ขอบเขตด้านเวลา งานวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาไปที่ช่วงเวลาตั้งแต่ที่เริ่มมีการนำเสนอแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเข้ามาในประเทศไทย และเริ่มมีการกำหนดพันธกิจและประเภทของมหาวิทยาลัยให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นต้นมา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้ทราบถึงความสอดคล้องระหว่างหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กับแนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น 2. ได้ทราบถึงประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึง ในการดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น 3. ข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น 4. มหาวิทยาลัยที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น สามารถนำข้อเสนอแนะไปใช้ประโยชน์ได้
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การศึกษาวิจัยเรื่อง สถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ได้ทราบถึงข้อมูลตามข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ตามรูปแบบการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็นการวิจัยที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ และมีผู้วิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการวิจัย ด้วยการใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (non-participant observation) นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารงานและวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยมีลำดับขั้นตอนการศึกษา ดังต่อไปนี้ 1. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การศึกษาวิจัยเรื่อง สถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ได้แบ่งข้อมูลที่จะทำการเก็บรวบรวมออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อมูลปฐมภูมิ (primary sources) ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับบุคคลสำคัญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และบุคคลสำคัญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาพิจารณาความสอดคล้อง เพื่อสร้างข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และแบ่งกลุ่มสนทนาเพื่อสัมภาษณ์ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ สายสนับสนุน และตัวแทนนักศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น “การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก” นั้นมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ตัวของผู้วิจัย ว่าต้องการข้อมูลอะไร ลักษณะใด ประเด็นอะไร ถ้าผู้ให้ข้อมูลสำคัญมีการให้ข้อมูลที่นอกเหนือประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการทราบ ผู้วิจัยจะทำการนำทางหรือป้อนคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการทราบให้แก่ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เพราะฉะนั้น ผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของตนเองในการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการทราบ ส่วนที่ 2 ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary sources) จะประกอบไปด้วยหนังสือ ตำราวิชาการต่าง ๆ วิทยานิพนธ์ บทความจากวารสาร และเอกสารราชการ รายงานข่าวต่าง ๆ ทั้งทาง วิทยุชุมชน และสื่อออนไลน์ 2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คณะผู้วิจัยจะทำการวางแผนเพื่อออกแบบแนวทางการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured interview) จำนวน 1 ชุด ใช้กับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 4 กลุ่ม ซึ่งการสัมภาษณ์จะให้เลือกสัมภาษณ์ตามความสำคัญของความต้องการข้อมูลตามวัตถุประสงค์ เรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บุคคลสำคัญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกโดยใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) กลุ่มที่ 2 บุคคลสำคัญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ แนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกโดยใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) กลุ่มที่ 3 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จำนวน 19 คน ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกโดยใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) กลุ่มที่ 4 ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ สายสนับสนุน และตัวแทนนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ หลังจากที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ครบทั้ง 4 กลุ่ม คณะผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปผล ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีความจำเป็นต้องใช้แบบสัมภาษณ์ที่ได้สร้างขึ้น รวมทั้งเครื่องบันทึกเสียง กล้องบันทึกภาพ และสมุดบันทึก เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนตามจุดประสงค์ของงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ 3. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์โดยวิธีการตรวจสอบข้อมูลจาก 2 ส่วน คือ จากการสัมภาษณ์จากประชากรทั้ง 4 กลุ่ม และข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเอกสารในทุกรูปแบบ นำมารวมกันและวิเคราะห์ โดยวิธีการดังนี้ - สังเกตและตรวจสอบสิ่งที่ปรากฏอยู่ในข้อมูล - วิเคราะห์และตีความข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และข้อมูลเอกสารต่าง ๆ นำมาสู่การหาข้อสรุปในงานวิจัย อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยมีการวางแผนการศึกษาโดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใน 3 ขั้นตอน คือ จัดระเบียบข้อมูล เสนอผลการศึกษา และสรุปผล รวมทั้งข้อเสนอแนะ โดยงานศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นรูปแบบการเขียนเชิงพรรณนา (descriptive analysis) ร่วมกับการอธิบายทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งยังทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกโดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อทำให้ทราบถึงสถานภาพและข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกด้านมาทำการอธิบายความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
โครงการวิจัยนี้มุ่งทำการศึกษาความสอดคล้องระหว่างหลักการ แนวคิด และเจตนารมณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กับแนวทางและกระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อค้นหาประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึง ในการดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายธีรพงศ์ พรหมวิชัย นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 40%
2 นางสาวนันทิยา สัตยวาที นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%
3 นางสาวรตา อนุตตรังกูร นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย