รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองด้วยกากน้ำตาล
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Development of culture media for Cordyceps militaris cultivation with molasses
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2564
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         เห็ดถั่งเช่า (Cordyceps mushroom) เป็นเชื้อรากินแมลง (Entomofungus) จัดอยู่ในกลุ่ม Ascomycetes เห็ดถั่งเช่าเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่อดีตกาล ชาวจีนเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของร่างกาย เป็นสมุนไพรธาตุร้อน ในสมัยโบราณเห็ดถั่งเช่าถูกจำกัดการใช้เฉพาะจักรพรรดิ และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของจีนเท่านั้น ตำราการแพทย์ทิเบตมีการบันทึกไว้ว่า เห็ดถั่งเช่าถูกใช้เป็นยาชูกำลัง ใช้รักษาสารพัดโรค (Winkler, 2008) เห็ดถั่งเช่าที่มีบทบาทสำคัญและเป็นที่รู้จักในเรื่องของการเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมี 4 ชนิดคือ เห็ดถั่งเช่าทิเบต (Ophicordyceps sinensis) หรือชื่อเดิม (Cordyceps sinensis) เห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militalis) เห็ดถั่งเช่าหิมะ (Paecilomyces tenuipes หรือ Isaria japonica) และเห็ดถั่งเช่าจั๊กจั่น (Paecilomyces cicadae หรือ Isaria sinclairii) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุลคอร์ไดเซป [Cordyceps (Fr.) Link] จัดว่าเป็นราแมลงกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) จากการศึกษาค้นคว้าทางเภสัชวิทยาพบว่า เห็ดถั่งเช่ามีสารสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด ได้แก่ โพลีแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) แมนนิทอล (mannitol) หรือกรดคอร์ไดเซปิก (cordycepic acid) อะดีโนซีน (adenosine) คอร์ไดเซปิน (cordycepin หรือ 3'-deoxyadenosine) เออโกสเตอรอล (ergosterol) เป็นต้น (Shashidhar et al., 2013) นอกจากนี้ยังพบสารชนิดอื่นๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก คอปเปอร์ แมงกานีส สังกะสี เป็นต้น (Bhandari et al., 2010) การวัดคุณภาพของเห็ดถั่งเช่าในรายงานส่วนใหญ่จะวัดจากปริมาณของสารกลุ่มนิวคลีโอไซด์เป็นหลัก เช่น อะดีโนซีน และคอร์ไดเซปิน (Li et al., 2006) ซึ่งอะดีโนซีนเป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโรคหัวใจล้มเหลว (Kitakaze and Hori, 2000) ส่วนคอร์ไดเซปินมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มพลังภายในร่างกาย มีคุณสมบัติบำรุงไตและปอด (Nakamura et al., 2005) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Li et al., 2006) ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Yu et al., 2006) ช่วยในการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (Schmidt et al., 2003) กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษาสมดุลของคลอเรสเตอรอลในหลอดเลือด และลดการอักเสบ (Kim et al., 2010) ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Lee et al., 2012) สามารถต้านการเกิดเนื้องอก (Dai et al., 2001) และต้านมะเร็ง (Yoshikawa et al., 2004; Weil and Chen, 2011) และเชื่อว่ามีสรรพคุณที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศได้ (Lim et al., 2012) จากการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าวจึงทำให้เห็ดถั่งเช่าเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ และเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่มีราคาสูงมาก เนื่องจากความต้องการบริโภคมีมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก การเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองในเชิงพาณิชย์นั้นส่วนใหญ่นิยมเพาะเลี้ยงในอาหารธัญพืชที่ผสมอาหารเหลว Potato dextrose broth (PDB) และวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ อีกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสูตร เพื่อให้มีปริมาณสารอาหารครบถ้วนและมีปริมาณเหมาะสม โดยที่วัตถุดิบบางชนิดมีราคาค่อนข้างสูง เช่น ยีสต์สกัด และ เปปโตน เป็นต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย กากน้ำตาล (molasses) เป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองเพราะอุดมไปด้วยแหล่งคาร์บอนและแหล่งไนโตรเจนสูง โดยมีแหล่งพลังงานในรูปของน้ำตาลซูโครสและน้ำตาลรีดิวซ์ประมาณ 50 – 60% ของของแข็ง (ละลาย) ทั้งหมด ปริมาณไนโตรเจนประมาณ 20% ของของแข็ง (ละลาย) ทั้งหมด และมีปริมาณของวิตามินอยู่เล็กน้อย (Stoppok and Buchholz, 1993) จากข้อมูลการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหลินจือ เห็ดโคนญี่ปุ่น มีการนำกากน้ำตาลมาผสมในสูตรอาหารเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น (อภิชาต ศรีสะอาด, 2556) แต่ยังไม่มีรายงานการใช้กากน้ำตาลในการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง ดังนั้นถ้านำกากน้ำตาลมาผสมกับธัญพืชข้าวและวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เหมาะสมและมีราคาถูกเพื่อพัฒนาเป็นสูตรอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองและเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยได้ วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เป็นการพัฒนาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองจากกากน้ำตาลเพื่อนำมาทดแทนวัตถุดิบที่เป็นน้ำต้มมันฝรั่ง น้ำตาลเด็กโตรส ยีสต์สกัด และเปปโตน โดยเปรียบเทียบกับสูตรอาหารดั้งเดิมที่เพาะเลี้ยงกันอยู่ทั่วไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
เพื่อศึกษาผลของสูตรอาหารที่ผสมกากน้ำตาลต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต คุณสมบัติทางกายภาพของดอก และปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเห็ดถั่งเช่าสีทอง
ขอบเขตของโครงการ :
เห็ดตัวอย่างที่ใช้ คือ เห็ดถั่งเช่าสีทอง ตัวแปรงานวิจัย ได้แก่ ตัวแปรต้น : สูตรอาหารเพาะเลี้ยง ตัวแปรตาม : การเจริญของเห็ดถั่งเช่าสีทอง ผลผลิต ลักษณะทากายภาพ และปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ตัวแปรควมคุม : สภาวะต่างๆ ในการเพาะเลี้ยง : การวัดคุณสมบัติทางกายภาพ : การวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้สูตรอาหารใหม่ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง 2. ลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองสำหรับผู้ประกอบการ 3. เพิ่มมูลค่าของกากน้ำตาลซึ่งเป็นของเหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ทำการศึกษาผลของการพัฒนาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองด้วยกากน้ำตาลจำนวน 12 สูตร เปรียบเทียบกับสูตรอาหารที่เป็นตัวควบคุม (Control) จำนวน 1 สูตร รวมสูตรอาหารที่ใช้ในการศึกษานี้ทั้งหมด 13 สูตร โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomize Designed ; CRD) จำนวน 3 ซ้ำๆ ละ 3 ขวด 8.1 วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ สารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์ 8.1.1 วัสดุและอุปกรณ์ 1) จานเพาะเชื้อ 2) เข็มเขี่ย 3) หลอดทดลอง 4) ขวดรูปชมพู่ 5) กระบอกตวง 6) กรวย 7) บีกเกอร์ 8) มีดผ่าตัด 9) ขวดโซดา 10) ตะเกียงแอลกอฮอล์ 11) คีมหนีบ 12) ขวดแก้วพร้อมฝา ขนาด 28 ออนซ์ 13) กระดาษฟอยด์ 14) หลอดปั่นเหวี่ยง 15) กระดาษกรอง Whatman No. 1 16) แผ่นเยื่อกรองที่มีรูพรุนขนาด 0.45 ไมครอน 17) เข็มฉีดยา 18) สำลี 8.1.2 เครื่องมือ 1) โครมาโทกราฟฟีเหลวความดันสูง (High Performance Liquid Chromatography; HPLC) 2) หม้อนึ่งฆ่าเชื้อความดันไอระบบอัตโนมัติ (Autoclave) 3) ตู้บ่มเชื้อปรับระดับอุณหภูมิ (Incubator) 4) ตู้ถ่ายเชื้อ (Laminar air flow) 5) ตู้อบลมร้อน (Hot air oven) 6) เครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอลไฟฟ้า 7) เครื่องปั่นเหวี่ยงควบคุมอุณหภูมิ (Refrigerated Centrifuge) 8) เครื่องเขย่าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonic) 9) เครื่องเขย่า (Shaker) 10) เครื่องวัด pH (pH meter) 11) เครื่องทำไอน้ำ 12) เครื่องวัดสี (Color meter) 8.1.3 สารเคมี สารเคมีสำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่า 1) เปปโตน (Peptone) 2) น้ำตาลเด็กโทรส (Dextrose) 3) ยีสต์สกัด (Yeast extract) 4) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide; H2O2) 5) วิตามินบี 1 (Thiamine) สารเคมีสำหรับการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 1) Adenosine 2) Cordycepin 3) เมทานอลสำหรับใช้กับเครื่อง HPLC 4) น้ำกลั่นสำหรับใช้กับเครื่อง HPLC 8.2 การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองลงบนอาหารแข็ง PDA นำเชื้อราเห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) เพาะเลี้ยงในอาหารแข็งพีดีเอ (potato dextrose agar; PDA) ประกอบด้วย มันฝรั่ง 200 กรัม, ข้าวโพดอ่อน 50 กรัม, กลูโคส 20 กรัม, ยีสต์สกัด 5 กรัม, เปปโตน 5 กรัม, ดีเกลือ 0.5 กรัม ผงวุ้นบริสุทธิ์ 20 กรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร ปรับค่า pH ที่ 6.5-7 นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 ํC เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นเทใส่จานเพาะเชื้อแล้วทิ้งให้เย็น ใช้เข็มเขี่ยเชื้อปลายงอลนไฟฆ่าเชื้อแล้วเขี่ยเอาเส้นใยเชื้อราเห็ดถั่งเช่าสีทองปลูกลงในอาหารแข็งที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ นำไปบ่มในที่มืด อุณหภูมิ 22 ํC เป็นเวลา 14 วัน จะได้โคโลนีของเส้นใยราเห็ดถั่งเช่าสีทอง 8.3 การเตรียมหัวเชื้อในอาหารเหลว PDB ใช้ Cork Borer เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร เจาะบริเวณรอบนอกโคโลนีให้ได้ชิ้นวุ้นที่มีเส้นใยจำนวน 2 ชิ้นวุ้น วางลงในขวดขนาด 250 มิลลิลิตร ที่มีอาหารเหลว potato dextrose broth (PDB) ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วปริมาตร 50 มิลลิลิตร บรรจุอยู่ โดยสูตรอาหารเหลวประกอบด้วย มันฝรั่ง 200 กรัม, ข้าวโพดอ่อน 50 กรัม, กลูโคส 20 กรัม, ยีสต์สกัด 5 กรัม, เปปโตน 5 กรัม, ดีเกลือ 0.5 กรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร ปรับค่า pH ที่ 6.5-7 จากนั้นนำไปบ่มบนเครื่องเขย่า (shaker) ที่ความเร็วรอบ 120 รอบต่อนาที ในที่มืดที่อุณหภูมิ 22 ํC เป็นเวลา 10 วัน 8.4 การเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองบนอาหารแข็งธัญพืชข้าวผสมกากน้ำตาล 1) เตรียมวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง ได้แก่ ข้าวขาวเสาไห้ อาหารเหลว PDB นมผงเด็ก (ยี่ห้อดูเม็กซ์ สูตร 2) ดักแด้ไหม และกากน้ำตาล ในปริมาณที่แตกต่างกันของแต่ละสูตรจำนวน 13 สูตร และสูตรควบคุม (control) จำนวน 1 สูตร ดังนี้ Control ข้าวเสาไห้ : ดักแด้ไหม : PDB = 30:5:50 (ก./ก./มล.) สูตรที่ 1 ข้าวเสาไห้ : น้ำเปล่า = 30:50 (ก./มล.) สูตรที่ 2 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 5% (w/v) = 30:50 (ก./มล.) สูตรที่ 3 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 10% (w/v) = 30:50 (ก./มล.) สูตรที่ 4 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 15% (w/v) = 30:50 (ก./มล.) สูตรที่ 5 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 20% (w/v) = 30:50 (ก./มล.) สูตรที่ 6 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 5% (w/v) : นมผง = 30:50:1 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 7 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 10% (w/v) : นมผง = 30:50:1 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 8 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 15% (w/v) : นมผง = 30:50:1 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 9 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 20% (w/v) : นมผง = 30:50:1 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 10 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 5% (w/v) : ดักแด้ไหม = 30:50:5 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 11 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 10% (w/v) : ดักแด้ไหม = 30:50:5 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 12 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 15% (w/v) : ดักแด้ไหม = 30:50:5 (ก./มล./ก.) สูตรที่ 13 ข้าวเสาไห้ : กากน้ำตาล 20% (w/v) : ดักแด้ไหม = 30:50:5 (ก./มล./ก.) 2) ทำการผสมวัตถุดิบของแต่ละสูตรลงในขวดแก้วขนาด 32 ออนซ์ ปิดฝาให้เรียบร้อย นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ที่อุณหภูมิ 121 ํC เป็นเวลา 20 นาที ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น 3) ทำการหยอดเชื้อเห็ดถั่งเช่าสีทองแต่ละแหล่งที่เจริญในอาหารเหลวลงไปในขวดอาหารแข็งธัญพืชปริมาณ 5 มิลลิลิตร ปิดฝาขวดแล้วนำไปบ่มในที่มืด ที่อุณหภูมิ 22 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 60–70% ทำการบันทึกผลการเจริญของเส้นใย 4) กระตุ้นให้เกิดปุ่มดอกเห็ดโดยเพาะเลี้ยงที่อุณหภูมิ 18 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 60– 70% ให้แสง วันละ 12–14 ชั่วโมง จนกระทั่งมีปุ่มดอกเกิดขึ้นแล้วทำการบันทึกผล 5) เพาะเลี้ยงให้ปุ่มดอกเจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 22 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 80–90% ให้แสง วันละ 12 ชั่วโมง และบันทึกผลการเจริญเติบโตของดอกเห็ด 8.5 การเก็บเกี่ยวเพื่อประเมินผลผลิต และการวัดคุณสมบัติทางกายภาพของเห็ดถั่งสีทอง 1) ทำการเก็บผลผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองหลังจากทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 65 วัน สเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบริเวณที่จะทำการเก็บเกี่ยวเห็ดถั่งเช่าสีทอง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและเช็ดให้แห้ง ใช้มือเปิดฝาขวดและนำผลผลิตออกมาทั้งชิ้นจากขวดเพาะแล้ววางบนภาชนะที่สะอาด ใช้คีมคีบที่เช็ดทำความสะอาดแล้วดึงก้านเห็ดถั่งเช่าสีทองออกมาเรียงกันในถาดทีละก้านให้ถึงโคนต้นหรืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 2) ประเมินผลผลผลิตที่ได้โดยนับจำนวนดอก และวัดน้ำหนักของดอกสด 3) วัดคุณสมบัติทางกายภาพของดอกเห็ด ได้แก่ วัดความยาวดอก และวัดค่าสีด้วยเครื่องวัดสี (Minolta Model DP-1000, USA) โดยแสดงผลค่าความสว่างด้วยค่า L* ค่าสีแดงด้วยค่า a* และค่าสีเหลืองด้วยค่า b* 8.6 การวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ วิเคราะห์หาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2 ชนิด คือ สารอะดีโนซีนและสารคอร์ไดเซปินของดอกเห็ดถั่งเช่าสีทอง ตามวิธีการของ Huang et al. (2009) โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) การเตรียมสารสกัดหยาบ 1.1) นำตัวอย่างดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองมาอบแห้งด้วยลมร้อนที่อุณหภูมิ 50 ํC เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นปั่นให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่นสมุนไพร 1.2) นำตัวอย่างที่ปั่นละเอียด 1 กรัม ใส่ในหลอดสำหรับปั่นเหวี่ยงขนาด 50 มิลลิลิตร เติมสารละลายเมทานอลความเข้มข้น ร้อยละ 50 ปริมาตร 10 มิลลิลิตร และผสมให้เข้ากันด้วยเครื่องเขย่า (vortex mixture) 1.3) นำไปแช่ในเครื่องอัลตราโซนิกชนิดอ่าง (ultrasonic bath) เป็นเวลา 30 นาที และแยกสารละลายส่วนใสโดยนำไปปั่นเหวี่ยงที่ความเร็ว 9,900 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 4 ํC เป็นเวลา 10 นาที 1.4) เทส่วนใสเก็บไว้ ทำการสกัดตัวอย่างสองรอบ เทสารสกัดที่ได้รวมกันและบันทึกปริมาตร กรองสารสกัดที่ได้ผ่านเมมเบรนที่มีรูพรุนขนาด 0.45 ไมครอน ใส่ในขวดเก็บสารเพื่อเตรียมวิเคราะห์สารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนต่อไป 2) การวิเคราะห์หาสารอะดีโนซีนและคอร์ไดเซปิน 2.1) นำสารที่สกัดหยาบที่เตรียมได้มาแยกและวิเคราะห์หาสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนด้วยเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography: HPLC) (Shimadzu, Japan) และตัวตรวจวัดสัญญาณ (detector) เป็นอุลตราไวโอเล็ต (UV) ที่กำหนดความยาวคลื่นเท่ากับ 254 นาโนเมตร โดยมีสภาวะที่ใช้สำหรับแยกสาร ได้แก่ สารละลายเคลื่อนที่ (mobile phase) คือ น้ำและสารละลายเมทานอลในอัตราส่วน 90:10 (V/V) อัตราการไหลเท่ากับ 1 มิลลิลิตรต่อนาที ปริมาณสารที่ฉีดเท่ากับ 20 ไมโครลิตร อุณหภูมิของช่องใส่คอลัมน์เท่ากับ 30 ํC 2.2) ใช้สารมาตรฐานคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีน ของบริษัท Sigma Chemical Corporation เตรียมสารละลายมาตรฐานคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในช่วงความเข้มข้นเท่ากับ 0-100 และ 0-50 ppm ตามลำดับ 8.6 การวิเคราะห์ผล เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยวิธี DMRT (Duncan’s Multiple Range Test) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS 15
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายณัฐพงษ์ สิงห์ภูงา นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 70%
2 นายรัตนะ ยศเมธากุล นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย