รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Paticipatory Action Research to Develop the Teacher on Classroom Action Research
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะครุศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
18 พฤษภาคม 2564
วันสิ้นสุดโครงการ :
17 พฤษภาคม 2565
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยเชิงปฎิบัติ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         การจัดการศึกษาในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการนำวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยกำหนดให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนครูผู้สอนให้สามารถทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา การจัดการศึกษาทุกระดับได้มุ่งสนองความต้องการของท้องถิ่นและให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกกระบสนการและทุกกิจกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาผุ้เรียนได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้โดยการรับความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติจรคิง ดังนั้นครูผู้สอนซึ่งเป็นกลไกในการจัดการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ครูจึงต้องมีการคิดค้นหาวิธีและทดลองใช้เทคนิควิธีใหม่ ๆ โดยนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ เพราะการวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าหาความจริงอย่างเป็นระบบ ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนและช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของครูให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาครูให้เป็นครูนักวิจัยถือเป็นบทบาทหนึ่งของครูยุคใหม่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามที่หลักสูตรมุ่งหวัง ครูนักวิจัยย่อมนำเอาการวิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้เรียน หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนหรืออื่น ๆ ครูจะต้องการทำการค้นหาสาเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริง แสวงหาแนวทางหลักการ วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ สำหรับนำมาใช้ในการแก้ปัญหา วางแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ติดตามตรวจสอบและประเมินผล ทำการปรับปรุง แก้ไข จนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจทั้งครูและนักเรียน ซึ่งการวิจัยในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน การวิจัยในชั้นเรียนมีบทบาทและความสำคัญต่อการจัดการศึกษา เพราะเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้พัฒนา ทำให้เกิดการตัดสินใจในกระบวนการวางแผนและการจัดการศึกษา จึงกล่าวได้ว่าการทำวิจัยเป็นหัวใจของการพัฒนาการศึกษา เป็นงานที่ท้าทายความคิด เกิดความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน แต่ในสภาพความเป็นจริงการพัฒนาครูผู้สอนด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากครูผู้สอนเองก็มีงานประจำและมีเวลาในการทำวิจัยน้อยหรือขาดแรงจูงใจในการทำงาน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาครูผู้สอนด้านวิจัยในชั้นเรียนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ถ้าครูผู้สอนพิจารณาด้วยความเข้าใจในขั้นตอนสำคัญของการวิจัยและตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ครูผู้สอนสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน อีกทั้งยังมิได้เป็นการเพิ่มภาระการสอนแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องมีกระบวนการและขั้นตอนในการทำวิจัย และนำผลที่ได้จากการทำวิจัยไปพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพตามความถนัดและความสนใจของตนเอง การพัฒนาครูดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษามาตรา 24 (5) ระบุว่าจะส่งเสริมสนับสนุนให้ ผู้สอนจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนการสอนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วในมาตรา 30 ยังระบุว่าให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการสอนให้เกิด ประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน โรงเรียนวัดวังยาง เป็นสถานศึกษาที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมครูผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความสามารถในการทำวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งจะส่งผลในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพของตน จากการศึกษาแผนปฏิบัติงานของโรงเรียนวัดวังยาง พบว่า โรงเรียนมีจุดเน้นในการส่งเสริมการวิจัยเพื่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาของโรงเรียนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูผู้สอนทำวิจัยในชั้นเรียน โดยจัดอบรมครูผู้สอนให้เกิดความรู้ในการทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาการสอนของตนเอง แต่สภาพปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ครูผู้สอนไม่สามารถดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนได้ด้วยตนเอง เนื่องมาจากครูผู้สอนขาดความเข้าใจ ไม่มีความมั่นใจในด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนและขาดบุคลากรในการร่วมให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางพัฒนาการวิจัยร่วมกัน จึงทำให้ครูผู้สอนยังไม่สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามมีครูผู้สอนจำนวนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาวิจัยในชั้นเรียนโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม แต่แนวคิดและการปฏิบัติดังกล่าว คงจำกัดอยู่กับครูผู้สอนในส่วนน้อยและยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นวิจัยปฏิบัติการรูปแบบหนึ่งที่มีการร่วมกันวางแผนในการแก้ปัญหาในทุก ๆ ขั้นตอน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กับผู้วิจัยเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพตามมาตรฐานนการศึกษาที่โรงเรียนมุ่งหวัง จากเหตุผลและความจำเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้วิจัยในฐานะนักการศึกษา ได้ตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน จึงมีความต้องการที่จะพัฒนาครูซึ่งเป็นบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนในการจัดการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ และเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนให้เกิดประสิทธิภาพอันจะส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ 1. เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหาและความต้องการในการทำวิจัยชั้นเรียนของครู 2. เพื่อหาแนวทางการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน 3. เพื่อติดตามและประเมินผลการใช้แนวทางการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน 4. เพื่อเผยแพร่งานวิจัยในชั้นเรียนของครู และนวัตกรรมสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการนำเสนอผลงานต่อที่ประชุมวิชาการ
ขอบเขตของโครงการ :
การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน คือ ผู้บริหาร และคณะครูในโรงเรียน โดยศึกษาแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของ Kemmis and Mctaggart (สุวิมล ว่องวาณิช, 2550 หน้า 23 อ้างอิงมาจาก Kemmis and Mctaggart, 1988) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผน (Plan) ขั้นที่ 2 ขั้นปฏิบัติ (Act) ขั้นที่ 3 ขั้นสังเกต (Observe) ขั้นที่ 4 ขั้นสะท้อนผล (Reflect) ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการพัฒนาครู 3 แนวทาง ดังนี้ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน 2) การพัฒนาตนเองของครูระหว่างปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน 3) การนิเทศภายในโดยกลุ่มผู้นิเทศที่มีความรู้ความเข้าใจการทำวิจัยในชั้นเรียน ขอบเขตพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่เป้าหมายในการวิจัย คือ โรงเรียนวัดวังยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีบุคลากรเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน และครูผู้สอนจำนวน 10 คน ผู้วิจัยเลือกโรงเรียนวัดวังยางเป็นโรงเรียนเป้าหมาย โดยมีเหตุผลในการเลือก ดังนี้ 1. เป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งไม่ไกล ซึ่งเอื้อต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมได้อย่างต่อเนื่อง 2. ผู้บริหารและคณะครูทุกคนยินดีให้การสนับสนุนและเข้าร่วมโครงการ 3. ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณะครู นักเรียนและโรงเรียน ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย 1. กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอน โรงเรียนวัดวังยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ที่สมัครเข้าร่วมพัฒนาตนเองในการทำวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 10 คน 2. กลุ่มผู้ให้ข้อมูล 2.1 กลุ่มผู้นิเทศ ผู้วิจัยเลือกแบบเจาะจงจากผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 3 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน และกลุ่มครูผู้สอน โรงเรียนวัดวังยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 2.2 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ของโรงเรียน ผู้วิจัยดำเนินการคัดเลือกแบบเจาะจงโดยเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน จำนวน 5 คน เพื่อร่วมกันหาแนวทางพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนวัดวังยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 2.3 วิทยากร คือ ผู้ให้การอบรมและพัฒนารครูในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 1 คน 2.4 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ คือ ผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งช่วยตรวจสอบความถูกต้องดำเนินกิจกรรมการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยผู้วิจัยได้ขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยในชั้นเรียน จำนวน 2 คน ขอบเขตด้านระยะเวลา การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนวัดวังยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ดำเนินการวิจัยในระหว่างเดือน พฤษภาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 รวมระยะเวลา 12 เดือน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
ผลจากการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดังนี้ 1. ประโยชน์ด้านวิชาการ 1.1 ได้แนวทางการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน ครูมีความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถและทักษะ รวมทั้งมีความตระหนักในการใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1.2 เป็นแนวทางในการพัฒนาครูด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 1.3 เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจในการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียนได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป 2. การเผยแพร่ผลการวิจัย 2.1 เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ สมศ. หรือ สกว. 2.2 จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการนำไปใช้ เผยแพร่ให้กับโรงเรียน 3. หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนประถมศึกษา สามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ต่อไป
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน คือ ผู้บริหาร และคณะครูในโรงเรียน โดยศึกษาแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของ Kemmis and Mctaggart (สุวิมล ว่องวาณิช, 2550 หน้า 23 อ้างอิงมาจาก Kemmis and Mctaggart, 1988) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน (Plan) ขั้นตอนที่ 2 ขั้นปฏิบัติ (Act) ขั้นตอนที่ 3 ขั้นสังเกต (Observe) ขั้นตอนที่ 4 ขั้นสะท้อนผล (Reflect) ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน (Plan) 1. ประชุมคณะครูนำเสนอหลักการ แจ้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย กระบวนการวิจัยและประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยแก่คณะครู 2. ตั้งกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้วิจัย จำนวน 1 คน และครูผู้สอนโรงเรียนวัดวังยางที่สมัครเข้าร่วมการศึกษาวิจัย จำนวน 10 คน 3. ประชุมกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และการปฏิบัติในฐานะผู้ร่วมวิจัยในการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน 4. ผู้วิจัยจัดทำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเกี่ยวกับสภาพ ปัญหา ความต้องการและแนวทางการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน นำเสนอผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะ 5. ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ 6. ประชุมกลุ่มผู้เร่วมวิจัย ผู้วิจัยนำเสนอผลการวิเคราะห์สภาพ ปัญหา และความต้องการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียนต่อกลุ่มผู้ร่วมวิจัย และคณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมกันหาแนวทางและวางแผนปฏิบัติการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 2 ขั้นปฏิบัติ (Act) กลุ่มผู้ร่วมวิจัยปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ ดังนี้ 1. ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยมีวิทยากรด้านการวิจัยในชั้นเรียนมาฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูให้ได้รับความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน 2. ประชุมชี้แจงก่อนการลงมือดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน เกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน การนิเทศภายใน การตรวจผลงานวิจัยในชั้นเรียน 3. ผู้ร่วมวิจัยดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตามหัวข้อที่ตนเองสนใจ ตามแผนปฏิบัติการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยถือเป็นการพัฒนาตนเองของผู้ร่วมวิจัยระหว่างปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน 4. กลุ่มผู้นิเทศดำเนินการนิเทศภายในเพื่อช่วยเหลือแนะนำผู้ร่วมวิจัยในการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน โดยการนิเทศ ติดตามการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาเพื่อทำการวิจัยและกำหนดวิธีการวิจัย การนิเทศ ติดตามใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน การพัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรมและการนำวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้ รวมทั้งการนิเทศ ติดตามการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน ประเมินผลงานวิจัยในชั้นเรียนหลังสิ้นสุดการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน 5. ผู้ร่วมวิจัยปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยในชั้นเรียนตามข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้นิเทศ และนำเสนอผลการวิจัยต่อผู้เชี่ยวชาญตรวจและให้ข้อเสนอแนะแล้วนำมาปรับปรุวแก้ไขตามแผนและระยะเวลาที่กำหนด 6. ประชุมกลุ่มผู้วิจัย โดยการนำเสนอผลงานของตนเองต่อที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การสรุปประเมินผลการดำเนินการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นสังเกต (Observe) กลุ่มผู้ร่วมวิจัยร่วมกันสังเกต ติดตาม การดำเนินการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสะท้อนผลในขั้นต่อไป โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในการสังเกต ดังนี้ 1. เก็บรวบรวมข้อมูลการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยใช้แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัยในชั้นเรียนและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างภาพรวมการอบรมเชิงปฏิบัติการดำเนินการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน 2. เก็บรวบรวมข้อมูลการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนซึ่งเป็นข้อมูลการพัฒนาตนเองของผู้ร่วมวิจัยระหว่างปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การลงมือปฏิบัติการยวิจัยในชั้นเรียน และแบบประเมินผลงานวิจัยในชั้นเรียนหลังสิ้นสุดการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน รวมทั้งแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างหลังสิ้นสุดการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน 3. เก็บรวบรวมข้อมูลการนิเทศภายในโดยใช้แบบบันทึกการนิเทศ ติดตามผลและประเมินผลการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 4 ขั้นสะท้อนผล (Reflect) ประชุมกลุ่มผู้ร่วมวิจัยเพื่อร่วมกันประเมินผลการทำงานและสะท้อนผลหลังการดำเนินการพัฒนาครูในการทำวิจัยในชั้นเรียนสิ้นสุดลงตามวงจน PAOR โดยการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ในขั้นการสังเกตมาร่วมกันวิเคราะห์ แปลผลและสะท้อนผล โดยร่วมกันปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่มีข้อบกพร่องและนำข้อมูลที่ได้ไปปรับแผนแล้วดำเนินการตามวงจร PAOR จนกระทั่งปัญหาได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาไปในทิศทางที่ต้องการ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
การวิจัยโดยการมีส่วนร่วมระหว่าง ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักวิจัย เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู ทุกฝ่ายร่วมกันในทุกขั้นตอนตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผล ซึ่งจะส่งผลให้ครูมีความรู้ มีความสามารถ และเจตคติที่ดีต่อการทำวิจัยในชั้นเรียน อีกทั้งมีความมั่นใจในการดำเนินการในทุกขั้นตอน
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสิริพร ปาณาวงษ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย