มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน : ศึกษากรณี การจัดการป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Guidelines for participation in natural resource management balance and sustainability. Case study : Community Ban Khlong Huai Wai ,Mae Poen , Nakhon Sawan
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
12 กุมภาพันธ์ 2558
วันสิ้นสุดโครงการ :
11 กุมภาพันธ์ 2559
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในมาตรา 66 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” และในมาตรา 67 บัญญัติไว้ว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการอนุรักษ์บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม” จึงเห็นได้ว่าหลักการตามบทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไป สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการ ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และสิทธิในการที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ถือเป็นการยอมรับในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยอมรับสิทธิของชุมชนยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก อาจเพราะลักษณะชุมชนมีความยืดหยุ่นสูงและไม่มีกลไกทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการรองรับสิทธิชุมชน (กิตติศักดิ์ ปรกติ อ้างใน นิตยา โพธิ์นอก สถาบันพระปกเกล้า,2557,น. 22-23) ความคลุมเครือนี้ได้อธิบายได้ดังที่ ยศ สัตตสมบัติ กล่าวว่าสิทธิชุมชนมีลักษณะเป็นสิทธิเชิงซ้อน คือ ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ต่างมีส่วนในการบริหารจัดการ ไม่มีหน่วยงานใดเป็นการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ จึงถือเป็นระบบจัดการร่วม ส่วนการใช้สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น จะสามารถใช้ได้เฉพาะสมาชิกที่ดูแลทรัพยากรนั้น ๆ โดยที่การใช้ประโยชน์นั้นจะต้องไม่ก้าวก่ายไปยังสิทธิของผู้อื่น คือจะไม่มีการใช้สิทธิที่เกินขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้ ยกเว้นเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีความสามารถพอ เช่น คู่สมรสใหม่หรือผู้ที่ยากจนอาจได้รับยกเว้นให้ใช้ทรัพยากรบางประเภทได้ทรัพยากรบางประเภทได้ แต่คนที่ร่ำรวยอยู่แล้วจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ( ยศ สัตตสมบัติ,2546,น.89) ซึ่งการจัดการทรัพยากรเหล่านี้ยังไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนตายตัวได้เพราะอาจขัดต่อความเป็นชุมชนแต่ละพื้นที่ การยอมรับและรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือว่ามีความสอดคล้องกันกับหลักการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฐานชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความเข็มแข็งและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้ เพราะชุมชนจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของตนและชุมชน ในขณะเดียวกันชุมชนก็ดูแลทรัพยากรไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการส่งเสริมสิทธิชุมชน ก็จะทำให้ชนชั้นนำในสังคมใช้อำนาจเข้าครอบครองบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนนั้นก็จะหมดบทบาทและไร้ที่ทำกิน (Rihoy & Maguranyang อ้างใน นิตยา โพธิ์นอก สถาบันพระปกเกล้า,2557,น. 27)
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
5.1 วิเคราะห์ถึง แนวคิด รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 5.2 ศึกษาถึงสภาพปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน 5.3 เพื่อศึกษาชุมชนต้นแบบที่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 5.4 เพื่อศึกษาถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป
ขอบเขตของโครงการ :
6.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา : ผู้วิจัยจะทำการศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยศึกษาถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและศึกษากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชุมชนการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน ศึกษาตำราเอกสาร ที่เกี่ยวข้องในแนวคิด ทฤษฎี สิทธิชุมชนการมีส่วนร่วม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน แนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลและเอกสาร ตำรา งานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง 6.2 ขอบเขตด้านพื้นที่ : ในการวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนคือ ชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย เพราะว่าเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จ(Best Practice) ที่ให้สิทธิของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการให้สิทธิของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีคณะกรรมการจัดการป่า มีกำหนดกฎ กติกา ร่วมกันที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ซึ่งเป็นป่าชุมชนประเภทภูเขาเป็นป่า เบญจพรรณ มีพื้นที่ป่าจำนวน 1,887 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จ (Best Practice) ที่ให้สิทธิของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย เป็นผืนป่าที่มีอายุนานกว่า 20 ปี โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์พิทักษ์ป่า เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าจากนายทุน โดยการจัดการในรูปแบบคณะกรรมการป่าชุมชนร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และการสนับสนุนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการสร้างกฎระเบียบของป่าชุมชนร่วมกัน (รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน, เรื่องเดียวกัน) เป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านและชุมชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์และดูแลรักษาป่าร่วมกันตามวิถีชีวิตของชุมชน มีพื้นป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ เช่น ของป่า สมุนไพร เห็ด หน่อไม้ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2551 ชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ได้เป็นป่าชุมชน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คณะกรรมการป่าชุมชนเฝ้าระวังและป้องปรามผู้ที่เข้ามาบุกรุกป่าหรือทำลายป่า และมีการกำหนดระเบียบและกฎกติกาชัดเจน ในการเข้าพื้นที่และใช้สอยป่า เช่น หาของป่าได้คนละ 1 ตะกร้าต่อวัน และให้สิทธิ์เฉพาะชาวบ้านที่เป็นสมาชิกป่าชุมชนแห่งนี้เท่านั้นหากคนภายนอกต้องการจะเข้ามาหาของป่า จะต้องเสียค่าบำรุงรายละ 20 บาท โดยคณะกรรมการจะผลัดเวรกันมาตั้งด่านลาดตระเวนตามทาง ซึ่งใช้เป็นแนวกันไฟป่า และยังมีการปลูกป่าทดแทนเป็นระยะ ในกรณีใครบุกรุกป่าชุมชนจะถูกยึดพื้นทำกินคืนและปลูกป่าทดแทน และในปี พ.ศ. 2552 ป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ยังได้รับรางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด จากโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2552 เป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (สารคดีชุด "ประชาธิปไตยทำเอง" ตอน "อนาคตป่าชุมชน เพื่อคนรุ่นต่อไป" เครือข่ายป่าชุมชน บ้านคลองห้วยหวาย อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ สืบค้นจาก https://vimeo.com/ และ www.youtube.com เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
11.1 ทำให้ทราบแนวคิด รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 11.2 ทำให้ทราบสภาพปัญหาของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 11.3 ทำให้ทราบแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการของชุมชนต้นแบบที่ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 11.4 ทำให้ทราบแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
13.1 การเก็บข้อมูล 1) ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ได้จากการสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อให้ ทราบถึงลักษณะทั่วไปของพื้นที่ที่ทำการศึกษา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ในการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการ คือ การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง สัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการประชุมกลุ่มระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ หา แนวความคิด รูปแบบปัจจัย ที่ส่งผลให้สิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติ และแนวทางการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น เกี่ยวกับสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องกับบริบทสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการสังเกตจากการเข้าร่วมประชุมกลุ่มของประชาชนในพื้นที่ และการประชุมปฏิบัติการ 2) ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ได้จากการวิจัยทางเอกสารที่ได้ถูกเก็บรวบรวมไว้แล้วโดยบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถาบัน/หน่วยงานต่าง ๆ โดยผู้วิจัยจะทำการศึกษาและวิเคราะห์ถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยศึกษาถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และศึกษากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ศึกษาตำราเอกสารที่เกี่ยวข้องในแนวคิด ทฤษฎี สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วม จัดการทรัพยากรธรรมชาติ ศึกษาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล และเอกสาร ตำรา งานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง 13.2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 1) ประชากร ในการวิจัย แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน : ศึกษากรณี การจัดการป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์ในการศึกษาครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชน ผู้วิจัยจึงแบ่งกลุ่มประชากร ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชากร ดังต่อไปนี้ 1.1) หน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วยดังนี้ 1. หน่วยงานปกครองท้องที่ ประกอบด้วย อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน 2. หน่วยงานบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย สำนักสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ ส่วนการจัดการป่าชุมชน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครสวรรค์ และอุทยานแห่งชาติแม่วงค์ จังหวัดนครสวรรค์ 4. หน่วยงานรัฐอื่นที่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย วัด และโรงเรียน 1.2) องค์กรเอกชนและเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน ประกอบด้วยดังนี้ 1. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2. องค์กรเอกชนที่ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย 1.3) ภาคประชาชน ประกอบด้วยดังนี้ 1. ผู้นำในการจัดการป่าชุมชน คือ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน สมาชิกเครือข่าย ป่าชุมชน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครพิทักษ์ป่า 2. ประชาชนบ้านคลองห้วยหวาย คือ กลุ่มเฒ่าผู้แก่ในชุมชน กลุ่มวัยคนกลาง กลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ - หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอำเภอ นายกองค์การ บริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่สำนักป่าไม้จังหวัดกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงค์ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครสวรรค์ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น - หน่วยงานภาคเอกชน เช่น เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และหน่วยงานเอกชน อื่นๆที่เกี่ยวข้อง 2) กลุ่มประชากรตัวอย่าง กลุ่มประชากรตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าองค์กรเอกชน ผู้นำในการจัดการป่าชุมชน กลุ่มเฒ่าผู้แก่ในชุมชน กลุ่มวัยคนกลาง กลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ตำบลแม่เปิ่น อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์ โดยผู้วิจัยใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอน มีกลุ่มตัวอย่างจำนวนรวมทั้งสิ้น จำนวน 84 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่กระจายตามกลุ่มตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และผู้นำในการจัดการป่าชุมชนและประชาชนบ้านคลองห้วยหวาย โดยกลุ่มตัวอย่างแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ - นายอำเภอแม่เปิน 1 คน - กำนันตำบลแม่เปิน 1 คน - ผู้ใหญ่บ้านบ้านคลองห้วยหวายและหมู่บ้านใกล้เคียง 4 คน - นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปิน 1 คน - ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปิน 1 คน - ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปิน 1 คน - สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล บ้านคลองห้วยหวาย 2 คน - เจ้าหน้าสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์กรมป่าไม้ 2 คน - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงค์ 2 คน - เจ้าอาวาส / พระภิกษุสงฆ์ 2 รูป - ผู้อำนวยการโรงเรียน/ ครู 2 คน - เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและองค์กรเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3 คน - ประธานเครือข่ายป่าชุมชน 1 คน - สมาชิกเครือข่ายป่าชุมชน 10 คน - ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชน 26 คน - ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครพิทักษ์ป่า 5 คน - ประชาชนบ้านคลองห้วยหวาย ได้แก่ กลุ่มเฒ่าผู้แก่ในชุมชน กลุ่มวัยคนกลาง กลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตัวแทนกลุ่มละ 5 คน 20 คน กลุ่มประชากรตัวอย่างรวมจำนวนทั้งหมด 84 คน 13.3 สถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล สถานที่ทำการ เก็บข้อมูล คือ ชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย ตำบลแม่เปิ่น อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครสวรรค์ 13.4 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสัมภาษณ์ โดยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวิจัยและ ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเครื่องมือแบบสัมภาษณ์ “แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน ศึกษากรณี การจัดการป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ ได้ดังนี้ วัตถุประสงค์ ข้อ 1 ศึกษาถึง แนวคิด รูปแบบและปัจจัย ที่ส่งผลให้สิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก วัตถุประสงค์ ข้อ 2 ศึกษาถึงสภาพปัญหา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยที่มีต่อความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และสัมภาษณ์แบบเจาะลึก วัตถุประสงค์ ข้อ 3 ศึกษาชุมชนต้นแบบสิทธิของชุมชนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ที่สอดคล้องกับบริบทสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง ใช้การประชุมกลุ่ม (Focus Groups)และการประชุมเชิงปฏิบัติการ วัตถุประสงค์ ข้อ 4 วิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมของสิทธิชุมชนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องกับบริบทสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริงโดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การประชุมกลุ่ม (Focus Groups) และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือและหาคุณภาพของเครื่องมือ ในการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ คณะผู้วิจัยดำเนินการสร้างเครื่องมือตามลำดับขั้นตอนดังนี้ 1. ศึกษาหลักการแนวคิด ทฤษฎี จากเอกสารและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรที่จะศึกษา เพื่อนิยามเป็นแนวทางในการสร้างแบบสัมภาษณ์ 2. สร้างแบบสัมภาษณ์ตามกรอบแนวคิดและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย โดยแบ่งแบบสัมภาษณ์ตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ แบบสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ แบบสัมภาษณ์ผู้บริหารท้องถิ่น แบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองท้องที่ แบบสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน แบบสัมภาษณ์ตัวแทนภาคเอกชน แบบสัมภาษณ์ประชาชนทั่วไป 3. นำแบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้น ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 2 ท่าน ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา โดยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และนิยามศัพท์ 4. นำแบบสัมภาษณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบมาแก้ไขปรับปรุงอีกครั้ง 5. นำแบบสัมภาษณ์ไปลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลในภาคสนามยังพื้นที่เป้าหมาย 13.5 การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยนำข้อมูลจากการศึกษาและรวบรวมมาวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้รับไปจำแนกหมวดหมู่ตามหัวข้อที่วางไว้ เพื่อตอบคำถามการวิจัย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย เพราะในช่วงเก็บรวมรวมข้อมูลก็ได้มีการวิเคราะห์เป็นระยะๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นางสาวอรทัย อินต๊ะไชยวงค์
นักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
60%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru