มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อป้องกันความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลลาดยาวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อและสถานการณ์ปกติ
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Guidelines for Using Social Media to Prevent Risks and Increase Operational Efficiency for Village Health Volunteers at Lat Yao Health Promoting Hospital in Communicable Epidemic and Normal Situations.
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 พฤศจิกายน 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :
1 ธันวาคม 2564
ประเภทของการวิจัย :
อื่นๆ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
ตามความหมายของ องค์กรอนามัยโลก (WHO) คำว่า Pandemic คือ เชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วโลกที่ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมาจากรากศัพท์ภาษากรีก ที่แปลว่า ผู้คนทั้งหมด เป็นศัพท์ที่ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อ เมื่อการระบาดหรือ epedimics ขยายวงออกไปในหลายประเทศ หรือหลายทวีปในเวลาพร้อมๆ กัน ซึ่งการประกาศภาวะโรคระบาดโลก มีหลักการเบื้องต้นอยู่ 3 ประการ คือ 1) โรคสามารถ ก่อให้เกิดอาการป่วยจนถึงเสียชีวิต 2) มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน และ 3) การแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870455) ซึ่งมีเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในโลกมาก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ กาฬโรคแห่งจัสติเนียน, Blak death, โรคระบาด-กาฬโรคครั้งใหญ่ของลอนดอน, โรคอหิวาตกโรค, ไข้หวัดสเปน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน คือ ไวรัสโควิท-19 องค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับโรค COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ หรือระยะ Pandemic จากการแพร่ระบาดลุกลามไปแล้วใน 118 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งสามารถป้องกันตัวเองและช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายสู่คนอื่นได้โดยทำดังนี้ คือ 1) ล้างมือบ่อยๆ เป็นเวลา 20 วินาทีด้วยสบู่และน้ำหรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 2) ใช้กระดาษทิชชู่หรือข้อพับตรงข้อศอกด้านในปิดปากและจมูกขณะไอหรือจาม 3) หลีกเลี่ยงการพบปะใกล้ชิด (ระยะ 1 เมตรหรือ 3 ฟุต) กับคนที่ไม่สบาย และ 4) อยู่บ้านและกักตัวเองให้ห่างจากคนอื่นในบ้านหากรู้สึกไม่สบาย สาธารณสุขอำเภอลาดยาว(สสอ.ลาดยาว) จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเครือข่ายบริการสุขภาพลาดยาวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดนครสวรรค์ มีโรงพยาบาลลาดยาว อำเภอลาดยาว เป็นแม่ข่ายซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากโรงพยาบาลลาดยาวไปยังจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนตัวใช้เวลาประมาณ 30 นาที มีสถานบริการสุขภาพในเครือข่ายทั้งสิ้น 28 แห่ง คือ โรงพยาบาลขนาด 90 เตียง 1 แห่ง และ สถานีอนามัย 27 แห่ง เปิดดำเนินการเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(รพ.สต.) แบ่งเป็น 4 อำเภอ คือ 1) อำเภอลาดยาว มีจำนวน รพ.สต. 18 แห่ง 2) อำเภอแม่วงก์ มีจำนวน รพ.สต. 3 แห่ง 3) อำเภอชุมตาบง มีจำนวน รพ.สต. 3 แห่ง และ 4) อำเภอแม่เปิน มีจำนวน รพ.สต. 3 แห่ง (http://ladyaodho.go.th/web/cup%20ladyao.html) มีการใช้ Face book ชื่อ “สสอ.ลาดยาว นครสวรรค์” เพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวน้อย ได้มีการเปลี่ยนมาใช้โปรแกรมไลน์เพื่อการสื่อสารและการสั่งการกับ อสม. และ รพ.สต. ในเครือข่ายดูแลทั้งหมด อาทิ รพ.สต.ลาดยาว ดูแลจำนวน 6 หมู่บ้าน ซึ่งมีหัวหน้า รพ.สต. เป็นผู้บริหารและผู้ประสานหลักกับทาง สสอ.ลาดยาว บทบาท อสม. ตามปกติ คือ การสื่อข่าวสารสาธารณสุข การแนะนำเผยแพร่ความรู้ การวางแผนและประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่นการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้นโดยใช้ยาและเวชภัณฑ์ตามขอบเขตที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการการฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งจากภาวะปัญหานั้น อสม. จะมีหน้าที่ คือ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยา และการเฝ้าระวังการระบาดโควิด 19 รวมถึงทำรายงานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย อสม.ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชน ออกเคาะประตูบ้าน ให้ความรู้ คำแนะนำประชาชนในการเฝ้าระวังป้องกันโรค รวมทั้งติดตามสังเกตอาการผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า อสม. ต้องไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ดำเนินการเก็บข้อมูล พร้อมส่งรายงาน และ ต้องมาประชุมที่ รพ.สต. ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อ อสม. และ บุคลากรของ รพ.สต. ด้วย สื่อสังคมออนไลน์ รูปแบบของเว็บไซต์ ในการสร้างเครือข่ายสังคม สำหรับผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ต เขียนและอธิบายความสนใจ และกิจการที่ได้ทำ และเชื่อมโยงกับความสนใจและกิจกรรมของผู้อื่น ในบริการเครือข่ายสังคมมักจะประกอบไปด้วย การแช็ต ส่งข้อความ ส่งอีเมล วิดีโอ เพลง อัปโหลดรูป บล็อก เป็นต้น (วิกิพีเดีย,2563) ได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมากรวมถึงเป็นจุดเปลี่ยนของโลกแห่งการสื่อสารไปสู่รูปแบบใหม่ๆที่รวดเร็วการใช้สื่อใหม่หรือที่เรียกกันว่า “New Media” ได้ดำเนินมาสู่ระบบยุคดิจิทัลซึ่งเป็นการแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกคิดค้นการใช้งานบนเครือข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีอุปกรณ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์การสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท๊บเล็ต) เป็นต้น คอยทำหน้าที่เป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ใช้งานหรือกลุ่มเป้าหมายหลายๆองค์กรหรือหน่วยงานเห็นประโยชน์ในข้อนี้จึงได้นํา “สื่อสังคมออนไลน์” มาปรับประยุกต์ใช้และบูรณาการการปฏิบัติงานของตนในงานด้านการประชาสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงเห็นควรดำเนินการวิจัยในการหาแนวทางการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีระบบให้บริการฟรีในบางส่วนที่นำใช้ปฏิบัติงานสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน การลดความเสี่ยงการติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อของโรคระบาด และ สามารถสร้างความพึงพอใจและมั่นใจให้กับ อสม. ในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การสร้างสรรค์งานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและพันธกิจสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และ เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อ นอกจากนี้ จำเป็นต้องเสริมความรู้ในเรื่องวงจรคุณภาพ (PDCA) เพื่อนำใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและเป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งเสริมความรู้เรื่องการจัดการความรู้ หรือ KM ระหว่าง อสม. กันเอง หรือ อส. ระหว่างหมู่บ้าน หรือ ระหว่าง รพ.สต. หรือ ระหว่างเครือข่าย อสม. ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในตัวของ อสม. ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่จริงและมี ประสบการณ์ตรงอันทรงคุณค่า นำมาเผยแพร่และถ่ายทอดให้กับ อสม. คนอื่น ๆ หรือ พื้นที่อื่นเพื่อการลดความผิดพลาดในการทำงาน ส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ ทำให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรค พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติงานให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วยแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อหรือในสถานการณ์ปกติก็ตาม
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อศึกษาระบบการบริหารงานและออกแบบการสื่อสารออนไลน์สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามโครงสร้างการสั่งการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาว และ เครือข่ายสาธารณสุขอำเภอลาดยาว 2) เพื่อพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานสำหรับการลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานทั้งในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อและในสถานการณ์ปกติ 3) เพื่อจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและทดลองใช้ในการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยการวัดประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4) เพื่อจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวน์ และ การส่งผลการปฏิบัติงานออนไลน์ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาวที่มีประสิทธิภาพ 5) เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องวงจรคุณภาพและการจัดการความรู้สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาว
ขอบเขตของโครงการ :
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1) ขอบเขตด้านเนื้อหา เนื้อหาในการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาหาแนวทางและจัดทำคู่มือการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานของ รพ.สต.ลาดยาว และ อสม. ได้แก่ การประชุมออนไลน์ การจัดทำปฏิทินออนไลน์ การจัดเก็บข้อมูลบนคลาวน์ การจัดส่งข้อมูลออนไลน์ และ ระดับความพึงพอใจของ อสม. ต่อการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่นี้ 2) ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นกรณีศึกษา คือ กลุ่ม อสม. และ บุคลากรของโรงพยาบาลส่งสเริมสุขภาพตำบลลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1) รพสต. และ อสม. มีการจัดระดับโครงสร้างการสื่อสารออนไลน์ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในแต่ละระดับการสั่งการ 2) รพสต. และ อสม. มีแนวทางและความรู้ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานการสื่อสารตามโครงสร้างการบริหารงาน ทั้งในระดับบุคคล ระดับหมู่บ้าน ระดับ รพ.สต. และ ระดับอำเภอ 3) รพสต. สามารถสามารถลดความเสี่ยง และ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ อสม. ต่อการปฏิบัติงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ และในสถานการณ์ปกติ โดยการประชุมออนไลน์และการสื่อสารออนไลน์ 4) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลของ อสม. เพื่อการนำส่งข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น ให้กับ รพสต. ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อการปฏิบัติงาน 5) รพ.สต. และ อสม. มีความรู้เรื่องวงจรคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และ มีการจัดการความรู้ในองค์กรขึ้น
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ คณะผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยผสมผสานในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quality Research) และเชิงปริมาณ (Quantity Research) โดยมีขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 เป็นการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 1) เพื่อศึกษาระบบการบริหารงานและออกแบบการสื่อสารออนไลน์สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามโครงสร้างการสั่งการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาว และ เครือข่ายสาธารณสุขอำเภอลาดยาว 1) นัดหมายและจัดสัมภาษณ์ และ เก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบฟอร์มที่สร้างขึ้น โดยเชิญกลุ่มผู้บริหาร รพ.สต.ลาดยาว และ ประธาน อสม. หรือ ตัวแทน รวมทั้งสิ้น 6 คน 2) ประชุมกลุ่มเพื่อร่วมกันออกแบบระบบการสื่อสารออนไลน์เป็นระดับโครงสร้างการบริหารงาน อสม. ของ รพ.สต.ลาดยาว 3) จัดเก็บข้อมูลทักษะ ความรู้ ผลการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจก่อนเริ่มอบรม (Pre-test) ขั้นตอนที่ 2 เป็นการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 2-4 คือ 2) เพื่อพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานสำหรับการลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานทั้งในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อและในสถานการณ์ปกติ 3) เพื่อจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและทดลองใช้ในการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยการวัดประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ 4) เพื่อจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวน์ และ การส่งผลการปฏิบัติงานออนไลน์ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาวที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดวิธีการและขั้นตอนโดยกระบวนการ PDCA และ การจัดการความรู้ (KM) ดังนี้ คือ 1) วิเคราะห์ และรวบรวมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับ รพ.สต. และ อสม. 2) ประชุมกลุ่ม และ ถ่ายทอดความรู้/อบรม ครั้งที่ 1 จำนวน 30 คน (งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก) แบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ไม่เกิน 10 คน (รวมวิทยากรและผู้ช่วยฯ) โดยมีเนื้อหาดังนี้ (1) การส่งข้อมูลมัลติมีเดียผ่านโปรแกรมแชท ได้แก่ Line, Messenger เป็นต้น จำนวน 2 ครั้ง (2) การประชุมออนไลน์โดยโปรแกรมประชุมออนไลน์ อาทิ โปรแกรม ZOOM , Google Meet เป็นต้น จำนวน 2 ครั้ง (3) การใช้งานปฏิทินออนไลน์และการจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวน์ เช่น โปรแกรม Google Calendar, Drive เป็นต้น จำนวน 2 ครั้ง (4) วงจรคุณภาพ PDCA และ การจัดการความรู้ (KM) 3) ทดลองใช้คู่มือปฏิบัติงานการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชุม การสื่อสาร การส่งข้อมูลมัลติมีเดีย การใช้ปฏิทินออนไลน์ การบันทึกข้อมูลบนคลาวน์ และ การรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. และ รพ.สต.ลาดยาว 4) ประชุมกลุ่ม/อบรม ครั้งที่ 2 ติดตาม ให้ความรู้เพิ่มเติม และ ประเมินการใช้สื่อสังคมออนไลน์ฯ ในแต่ละเดือน จำนวน 4 ครั้ง โดยกระบวนการ PDCA และ KM ขั้นตอนที่ 3 เป็นการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 5) เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องวงจรคุณภาพและการจัดการความรู้สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดยาว โดยกำหนดวิธีการและขั้นตอนดังนี้ 1) ประชุมกลุ่ม/อบรมครั้งที่ 3 เผยแพร่ความรู้ โดยกระบวนการ KM จำนวน 2 วัน ๆ ละ 15 คน 2) จัดเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินทักษะ ความรู้ ผลการปฏิบัติงาน และ ความพึงพอใจของ อสม. (Post-test) พร้อมทั้ง วิเคราะห์ และแปลผล ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างอสม. รพ.สต.ลาดยาว จำนวน 30 คน แหล่งข้อมูล เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามโดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล 1. ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัย 2. ผู้วิจัยนำเครื่องมือที่สร้างผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไปทดลองใช้กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แต่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างเพื่อหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม 3. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างก่อนการอบรม 4. ผู้วิจัยดำเนินการประชุมกลุ่ม/อบรมครั้งที่ 3 เผยแพร่ความรู้ โดยกระบวนการ KM จำนวน 2 วัน 5. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างหลังการทดลองโดยแบบสอบถาม 6. ผู้วิจัยนำผลการตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างมาตรวจสอบความเรียบร้อย ความถูกต้องสมบูรณ์ในการลงข้อมูล และ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ 1. เครื่องมือในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนั้น ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถาม (Questionnaire) ขึ้น โดยศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ตำรา วารสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีโครงสร้างคำถามครอบคลุมประเด็นเนื้อหาคุณลักษณะ ประสิทธิภาพของงาน และความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของ อสม. โดยใช้ลักษณะคำถามเป็นแบบมาตราส่วนการประมาณค่า (Rating Scale) คือเกณฑ์การให้ค่า 5 ระดับ โดยเนื้อหาของแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลสภาพทั่วไปของผู้ตอบ ส่วนที่ 2 ข้อมูลความคิดเห็นต่อการประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานสำหรับกลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้แก่ คุณลักษณะ ประสิทธิภาพของงาน และความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของ อสม. ผู้วิจัยมีวิธีการดำเนินการดังนี้ 1) ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นรูปแบบในการกำหนดคำถาม 2) กำหนดแบบสอบถามเพื่อใช้เก็บข้อมูลกับประชาการให้ครอบคลุมเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย 3) นำแบบสอบถามที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เสนอผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาความถูกต้องของเนื้อหาและตรวจแก้ไขเนื้อหา 4) นำแบบสอบถามที่จะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลมาปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ 5) สร้างแบบสอบถามที่จะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลฉบับสมบูรณ์ ไปจัดเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตการวิจัย 2. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญไปทดลองใช้กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แต่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อปรับปรุงแบบสอบถามให้ถูกต้อง โดยนำผลของข้อมูลมาหาค่าความเชื่อมั่น โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ถ้าผลของแบบสอบถามทั้งฉบับมีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ .71 – 1.00 แสดงว่ามีความเชื่อมั่นสูง จากนั้น จึงนำไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มอย่างจริงได้ การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับขั้นตอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1) นำแบบสอบถามที่ได้กลับคืนมา ตรวจสอบความสมบูรณ์ทุกฉบับ 2) วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบโดยแจกแจงความถี่ และ คำนวณค่าร้อยละ 3. นำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามส่วนที่ 2 ที่เป็นมาตรฐานประมาณค่า มาวิเคราะห์โดยแปลผลจากค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ซึ่งกำหนดช่วงคะแนนตามเกณฑ์ ดังนี้ ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.51-5.00 หมายถึง มากที่สุด ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.51-4.50 หมายถึง มาก ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.51-3.50 หมายถึง ปานกลาง ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.51-2.50 หมายถึง น้อย ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00-1.50 หมายถึง น้อยที่สุด สถิติที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิจัยเป็น สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3) การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ การตรวจสอบก่อนนำไปใช้โดยการวัดความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา หาค่าดัชนีความสอดคล้อง ระหว่างคำถามแต่ละข้อและจุดประสงค์ โดยใช้ค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา ของครอนบาค
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นางกาญจนา ยลสิริธัม
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
50%
2
นายสมพร พูลพงษ์
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมวิจัย
50%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru