รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การศึกษาและพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Study and Development for the Cold Chain of Pork Ball Products
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 พฤศจิกายน 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :
29 พฤศจิกายน 2564
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยและพัฒนา
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางด้านอาหารแปรรูปหลากหลายชนิด และสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากเกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ ผลผลิตส่วนเกินสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มกำลังการผลิต เนื่องจากขาดการบริหารจัดการระบบการผลิตตั้งแต่ระดับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์จนถึงผู้บริโภค เพื่อให้สินค้าอาหารแปรรูปมีคุณภาพมาตรฐานสูงสุด ตรงกับตามความต้องการของลูกค้า และสามารถส่งออกได้โดยมีเปอร์เซนต์การสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปเป็นการริเริ่มแนวคิดจากการมีกิจการฟาร์มสุกร แต่เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถควบคุมราคาสุกรหน้าฟาร์มได้ และต้องการหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมการผลิตได้ จึงต้องการแปรรูปเนื้อหมูให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยผู้ประกอบการบางรายต้องการผลิตสินค้าในเชิงธุรกิจเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมูที่มีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจอาหารแปรรูปสำหรับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นในปัจจุบันได้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากขึ้น ธุรกิจนี้จึงมีการขยายตัวหรือการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายใหม่ นอกจากนี้ การปนเปื้อนระหว่างการเก็บรักษาเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์มีอายุสั้น จึงต้องมีการเติมสารเจือปนอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา แต่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นมีสารกันบูดได้ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ผลิตต้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้คงทนมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นมีช่วงชีวิตที่จำกัด ดังนั้นการขนส่งและการจัดเก็บสินค้าจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการควบคุมระยะเวลาในการขนส่งให้สั้นที่สุด และการควบคุมอุณหภูมิตลอดห่วงโซ่ความเย็นให้เหมาะสมกับผลผลิตแต่ละชนิด เพื่อเป็นการขยายช่วงชีวิต รวมทั้งเป็นการพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นให้ไปถึงผู้บริโภคในเวลาที่ผู้บริโภคต้องการ ณ สถานที่ที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และได้ผลิตภัณฑ์ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการจัดเก็บและการขนส่งผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็นจึงกลายเป็นช่องทางการบริหารจัดการสินค้าที่สำคัญช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าพร้อมกับเป็นการถนอมอาหารเพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จากการขาดระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเทคนิคและการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาด ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้ผลิตอาหารแปรรูปภายในประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ หรือขยายตัวในอัตราชะลอตัว ดังนั้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปภายในประเทศให้สามารถปรับตัวเพื่อการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารได้ รวมถึงการพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้าแปรรูปให้ไปถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วที่สุดเนื่องจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีช่วงอายุที่สั้น (Salin & Jr., 2003) การลดปัญหาอุปสรรคดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารแปรรูป โดยการนำเทคโนโลยีด้านการควบคุมห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain System) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิรูปด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศควบคู่กันไป เพื่อให้สินค้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้สูงสุด ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูเป?นสินค้าที่ไวต?อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและแสงสว่าง ทำให้สูญเสียคุณภาพได? หากอยู่ในระดับอุณหภูมิที่ไม?เหมาะสม ทําให?สินค้าเสื่อมคุณภาพและเกิดการเน่าเสีย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทําให้เกิดการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นระบบห่วงลูกโซ่ความเย็นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่ดี และมีอุณหภูมิที่เหมาะสมพร้อมใช้งาน เพื่อให้การดำเนินงานการผลิตภายใต้ระบบห่วงลูกโซ่ความเย็นที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้ คือ การศึกษาและพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ ลดต้นทุน ประสิทธิภาพการจัดเก็บสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู ให้กับผู้ประกอบการได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์จำเพาะ 3 ประการ ได้แก่ 1. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการขนส่ง การจัดเก็บสินค้า และความเชื่อมโยงของกิจกรรมการผลิตและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู 2. เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มศักภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. เพื่อศึกษาต้นทุนและการปรับปรุงกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มภายในสถานประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูได้
ขอบเขตของโครงการ :
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้มีกำหนดขอบเขตการวิจัยไว้ 6 ด้าน เพื่อให้มีรูปแบบการดำเนินงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทั้งหมดของโครงการ ดังนี้ 1. ศึกษาโครงสร้างของห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู โดยการศึกษาโครงสร้างนี้จะมุ่งเน้นไปที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่ความเย็นนี้ ทั้งบทบาท หน้าที่ และความเชื่อมโยงกิจกรรมภายในห่วงโซ่ความเย็น 2. ศึกษาระบบปฏิบัติการของห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องของเวลาและอุณหภูมิตลอดทั้งห่วงโซ่ความเย็น ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง 3. ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และความเชื่อมโยงของกิจกรรมในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ การทำความสะอาด การผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง และการจำหน่ายสินค้า เพื่อวิเคราะห์ลำดับการเชื่อมโยงของกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูของผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำไปใช้ในการค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางปรับปรุงที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูต่อไป 4. ศึกษาปัญหาและกำหนดแนวทางการปรับปรุงกิจกรรมที่มีผลต่อการให้บริหารและการรักษาระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการกำหนดรูปแบบการพัฒนากิจกรรมการผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำไปกำหนดรูปแบบการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต และการจัดหาอุปกรณ์ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ รักษาระดับการจัดเก็บและคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด และเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดการสูญเสียและต้นทุนการผลิตให้น้อยที่สุด ซึ่งจะดำเนินการสอบถามปัญหา ระบบการควบคุมอุณหภูมิ และข้อจำกัดต่างๆ ภายในกระบวนการผลิตสินค้า รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการด้านการห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การเก็บรักษา รูปแบบบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และการจำหน่ายสินค้า เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 5. ศึกษาต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานผู้ผลิตสินค้า ไปจนถึงกลุ่มลูกค้า เพื่อศึกษาต้นทุนการผลิต ทั้งการจัดเตรียมวัตถุดิบ การทำความสะอาด การผลิต การจัดเก็บ การบรรจุภัณฑ์ และการส่งมอบสินค้า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ความเย็น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการนำข้อมูลที่ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่ความเย็นและลดของเสียในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญสำหรับการศึกษากระบวนการผลิตและห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูในโครงการนี้ คือ ทางทีมผู้วิจัยจะทำการสำรวจความเชื่อมโยงของกิจกรรมการผลิต การให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการปรับปรุงกระบวนการผลิต การเก็บรักษา การบรรจุภัณฑ์ และการขนส่งสินค้า ตลอดทั้งระบบห่วงโซ่ความเย็นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 6. ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตที่สูญเปล่า มีต้นทุนสูง เกิดของเสียจำนวนมาก ใช้เวลาสำหรับการผลิตสูง รูปแบบการควบคุมอุณหภูมิและการจัดเก็บสินค้าที่ไม่เหมาะสม และขาดประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า ตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสงสุด ซึ่งทางทีมผู้วิจัยจะพิจารณาถึงความคุ้มค่าและเหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตตามหลักการด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่ความเย็น ทั้งการผลิต เวลาการผลิต การควบคุมอุณหภูมิ ระดับคุณภาพสินค้า ต้นทุนการผลิต ความหยืดหยุ่นในการผลิต และความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนหรือสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
จากวัตถุประสงค์และขอบเขตการวิจัยที่ได้ระบุไว้ในโครงการนี้ ผลลัพธ์ที่ได้รับจากโครงการนี้คาดว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังรายละเอียดดังนี้ 1. ผลการวิเคราะห์การเชื่อมโยงของกิจกรรมการผลิตของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบห่วงโซ่ความเย็น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อค้นหาปัญหาและกำหนดรูปแบบการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เหมาะสม เนื่องจากทีมผู้วิจัยได้มีการศึกษาและสอบถามขั้นตอนการผลิตในทุกกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกันของผู้ประกอบการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งรูปแบบการจัดเก็บ ระดับอุณหภูมิ และระยะเวลาในการจัดเก็บสินค้า ทั้งกิจกรรมภายในและภายนอกโรงงาน รวมถึงข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ทำให้สามารถคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูให้มีคุณภาพตามที่ลูกค้ากำหนด และยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ได้เท่าเทียมกับคู่แข่งขันได้ ซึ่งถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จผลประโยชน์ที่ได้จะตกอยู่กับประเทศชาติอย่างมาก โดยหน่วยงานที่สามารถนำผลการดำเนินงานนี้ไปใช้งานต่อได้ อาทิเช่น ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการยกระดับความสามารถในการผลิต ลดต้นทุน รักษาระดับคุณภาพสินค้า และเพิ่มศักยภาพการผลิตของหน่วยงาน 2. รูปแบบการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการภายในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มศักภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถลดกิจกรรมที่เกิดของเสียและขาดประสิทธิภาพการผลิตในทุกกิจกรรมการผลิตของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูได้ ซึ่งถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถยกระดับความสามารถในการผลิต ลดต้นทุน ลดเวลาการผลิตสินค้า เพิ่มระยะเวลาการจัดเก็บสินค้า ลดการสูญเสีย และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้ โดยผลประโยชน์ทางอ้อมจะตกอยู่กับประเทศชาติ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. ระบบบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ของโรงงานด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็น ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานผู้ผลิตสินค้าไปจนถึงกลุ่มลูกค้า โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำมาใช้ในการพิจารณารูปแบบการปรับปรุงกิจกรรมที่สูญเปล่า ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงเกินมาตรฐาน และมีระบบการควบคุมและการจัดการระดับอุณหภูมิไม่เหมาะสมให้กับสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมทั้งยังนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และกำหนดแนวทางการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดต้นทุนต่ำสุด และเกิดประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดได้ต่อไป
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ในหัวข้อนี้จะอธิบายถึงขั้นตอนวิธีการทำวิจัย ซึ่งจะรวมถึงเนื้อหาในด้านการเก็บข้อมูล การกำหนดพื้นที่ ประชากรกลุ่มตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่างที่จะนำมาวิเคราะห์ ขั้นตอน และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งระบุสถานที่ใช้เป็นที่ทำการวิจัยหรือการเก็บข้อมูล ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ศึกษาเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎี และวิธีการเชื่อมโยงของกิจกรรมการผลิตด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นทั้งหมดภายในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลาย ตลอดจนข้อมูลทางด้านทาการศึกษา ค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูของหน่วยงานภายในประเทศ โดยการค้นคว้าข้อมูลจาก Web site ต่างๆ เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้วิจัยต่อไป 2. ศึกษา เก็บข้อมูล และวิเคราะห์กิจกรรมตามรูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการควบคุมระดับอุณหภูมิในทุกขั้นตอนการผลิตภายในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู พร้อมทั้งยังใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เหมาะสมต่อไป 3. ดำเนินการคัดเลือกกิจกรรมการผลิต และกำหนดปัญหาที่จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่กิจกรรมการกำจัดของเสีย การผลิตเกินความต้องการ การควบคุมอุณหภูมิในการจัดเก็บสินค้าและการขนส่งสินค้า การเก็บวัสดุคงคลังมากเกินไป กิจกรรมการขนย้ายที่ไม่จำเป็น กระบวนการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น และข้อบกพร่องจากการผลิตและใช้พลังงานเกินความจำเป็น เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่พบข้อบกพร่องแล้วให้ลำดับความสำคัญของปัญหาที่จะทำก่อนหลังได้ เพื่อนำมากำหนดรูปแบบการพัฒนาปรับปรุงภายในกิจกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นในโรงงานได้อย่างถูกต้อง ตามเวลา และความจำเป็นของกิจกรรมการผลิตสินค้า 4. เสนอผลการคัดเลือกปัญหา พร้อมศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจปัญหาและอุปสรรคในการผลิตสินค้าของแต่ละกิจกรรมการผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลกำหนดแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการวางแผนการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตหลังการคัดเลือกปัญหา ซึ่งจะทำให้บุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานได้ตรงตามเป้าหมาย และวางแผนเข้าไปดูงานในสถานที่จริงที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ เพื่อค้นหาสาเหตุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม และกำหนดรูปแบบการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตได้ตรงกับสาเหตุของปัญหาจริงๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม 5. ดำเนินการวางแผนการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตหลังการคัดเลือกปัญหา เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกิจกรรมการผลิต เนื่องจากการวางแผนช่วยให้คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต สามารถช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มระยะเวลาการจัดเก็บ และช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเริ่มต้นด้วยการจัดอันดับความสำคัญของกิจกรรมและเป้าหมายหลังการดำเนินงาน เพื่อกำหนดวิธีดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งการวางแผนดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดขึ้นได้ 6. นำผลที่ได้จากการศึกษาข้อมูลข้างต้นมาดำเนินการกำหนดวิธีการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตที่มีความเหมาะสมกับผลการวิเคราะห์ และการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาปรับปรุง ซึ่งอาจมีโครงสร้างการดำเนินงานที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติงานไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ในการปรับปรุงการทำงาน รวมถึงการกำหนดรูปแบบประเมินโครงสร้างที่รองรับการดำเนินงาน การประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน และการประเมินผลของการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งการนำเอาผลที่ได้มาวิเคราะห์ทำให้สามารถทราบผลและความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมการปรับปรุงงานดังกล่าวให้ได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ 7. จัดทำมาตรฐานการทำงานเพื่อนำไปใช้อ้างอิงถึงประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน หรือการนำผลการประเมินมาดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงแผนการปฎิบัติงานให้ดีขึ้น ซึ่งอาจประกอบด้วย การนำผลการประเมินมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ต้องดำเนินการปรับปรุง ทั้งด้านโครงสร้าง ระดับอุณหภูมิที่ต้องควบคุม และขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้การพัฒนาปรับปรุงเกิดผลสัมฤทธ์สูงสุด และสังเคราะห์รูปแบบการปฏิบัติงานใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการในอนาคตได้ 8. ศึกษาต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานผู้ผลิตสินค้า ไปจนถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการจัดเตรียมวัตถุดิบ การทำความสะอาด การจัดเก็บ การผลิต การบรรจุภัณฑ์ และการส่งมอบสินค้า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์อัตราต้นทุน และแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิตด้วยระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการภายในสถานประกอบการ การวางแผนธุรกิจ การจัดทำงบประมาณ และใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตและปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือเป็นกรณีพิเศษ โดยเป็นกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูงเกินค่ามาตรฐานได้ 9. ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน เพื่อตรวจสอบความคุ้มทุนของโครงการศึกษาและพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นของผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมู 10. สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ พร้อมส่งมอบผลการศึกษาของโครงการฯ ตลอดจนคู่มือแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมการผลิต เพื่อลดต้นทุน ของเสีย และการเคลื่อนไหวที่สูญเปล่า รวมถึงการเพิ่มรายได้ ระยะเวลาการจัดเก็บ รูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม และประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูได้
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายสว่าง แป้นจันทร์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 75%
2 นายวัชระ ชัยสงคราม นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 25%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย