รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
-
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
-
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
2 พฤศจิกายน 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 มิถุนายน 2564
ประเภทของการวิจัย :
ไม่ระบุ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         เอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นการแสดงลักษณะพิเศษจากสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งใด สิ่งหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งมีความโดดเด่นเฉพาะด้าน หรือเฉพาะสังคมที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ประมาณได้จากที่มีอยู่ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ) นครสวรรค์เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักนครสวรรค์ตามสมญานามต่าง ๆ อาทิ “เมืองสี่แคว” “เมืองปากน้ำโพ” และ“ประตูสู่ภาคเหนือ” นอกจากนี้นครสวรรค์ยังมีสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่สวยงาม โบราณสถาน และงานประจำปีที่ขึ้นชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นบึงบอระเพ็ด อุทยานนกน้ำ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เขาหน่อ-เขาแก้ว หรืองานประเพณีเชิดสิงโต แห่มังกร ในเทศกาลตรุษจีน จึงมีคำขวัญประจำจังหวัด“เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ” เนื่องจากนครสวรรค์เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง ชาวบ้านจึงมีภูมิปัญญาของตนเองที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและค้นพบด้วยตนเองมากมายหลายด้าน เช่น การทำเครื่องปั้นดินเผา ของชุมชนบ้านมอญ การแกะสลักงาช้างของชุมชนพยุหะคีรี และการทำเรือจำลองโบราณของชุมชนตาคลี การทำผลิตภัณฑ์จากและงานไม้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาและเป็นอาชีพหลักในปัจจุบันทั้งสิ้น มีทั้งที่ทำเป็นของใช้ขนาดใหญ่ ขนาดกลางและไปจนถึงของที่ระลึกขนาดเล็ก ซึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์เหล่านี้ สามารถนำไปประยุกต์หรือสร้างสรรค์เป็นงานของที่ระลึกได้จำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับตนเอง ชุมชน และจังหวัดนครสวรรค์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลงานของที่ระลึกต่าง ๆ ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต ตลอดจนประเพณีอันดีงามที่สืบต่อกันมาของชาวจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเผยแพร่และร่วมกันอนุรักษ์สืบไป การสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นพันธกิจหนึ่งของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการส่งเสริมให้มีการฟื้นฟู ทำนุบำรุงให้คงอยู่ และเผยแพร่ สร้างสรรค์ต่อยอดสู่ประโยชน์เชิงสาธารณะ และประโยชน์เชิงพาณิชย์ ดังนั้น สาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จึงสนใจในการสร้างสรรค์งานวิจัย เรื่อง การสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุง รักษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากจากเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ และร่วมแก้ปัญหาความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน นั่นคือ ความต้องการในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ ในการทำเป็นของที่ระลึกจากไม้และกะลา เช่น สะพานเดชา ป้ายอุทยานสวรรค์ สิงโต มังกร ปลาเสือตอ ฯลฯ ที่พร้อมจำหน่าย โดยมีบรรจุภัณฑ์ Brand และ Story ของสิ่งเหล่านั้น ส่งต่อความรู้สึก ความจดจำ ความประทับใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการงานวิจัยและบริการวิชาการกับการเรียนการสอนเพื่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในหลักสูตรตามที่กำหนดไว้ อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของที่ระลึกจากกะลาและงานไม้ 2. เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของที่ระลึกกะลาและงานไม้ จากเอกลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ 3. เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดบนสื่อออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
1. สร้างสรรค์รูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้องค์ความรู้ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ ในการสร้างสรรค์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องตัด CNC ที่ช่วยควบคุมคุณภาพในการผลิต ลดระยะเวลาในการผลิต 2. สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้เครื่องปริ้น digital สาขาวิชาการออกแบบ ในการทำต้นแบบบรรจุภัณฑ์ 3. ส่งเสริมด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ Facebook Fan page โดยใช้องค์ความรู้ของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้องค์ความรู้ของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ 2. ได้รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้องค์ความรู้ของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ 3. ได้ช่องทางการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ Facebook Fan page โดยใช้องค์ความรู้ของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ 4. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ 5. ได้บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน หน่วยงานที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนที่ 1 : การศึกษา สำรวจข้อมูล และเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลา และงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เดิม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ภาพถ่าย จากปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ ในเรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากกะลาและงานไม้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ขั้นตอนที่ 2 : การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของที่ระลึกกะลาและงานไม้ จากเอกลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ โดยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของที่ระลึกจากกะลาและงานไม้ จากเอกลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ ของคณะผู้จัดทำโครงการวิจัย ร่วมกับ กลุ่มชุมชน เป็นการบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ ในรายวิชาต่าง ๆ เช่น รายวิชางานสิ่งพิมพ์ 2 และ รายวิชาโครงการพิเศษ ขั้นตอนที่ 3 : การส่งเสริมด้านการตลาดบนสื่อออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยสร้างช่องทางการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากงานกะลาและงานไม้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ Facebook Fan page โดยใช้องค์ความรู้ของสาขาวิชาการออกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ ขั้นตอนที่ 4 : การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชน และเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ โดยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์จำนวน 1 ครั้ง ใช้เวลาในการอบรม 3 วัน หลังจากนั้น สรุปผลการดำเนินงาน นำเสนองาน เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการต่อไป
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
เป็นงานวิจัย เชิงสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์กะลาและงานไม้ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะ เครื่องมือและอุปกรณ์ ของสาขาวิชาการอกแบบสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์รพีพัฒน์ มั่นพรม นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 35%
2 นางสาวกันยาพร กุณฑลเสพย์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย รองหัวหน้าโครงการวิจัย 25%
3 นายนัฐท์ธีรนนช์ รอดชื่น นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%
4 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา อยู่หนู นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย เลขานุการโครงการ 10%
5 นายพรรษประเวศ อชิโนบุญวัฒน์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%
6 นางยุวดี ทองอ่อน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย