มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
ผลการใช้นวัตกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF(Executive Functions)
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The Effects of the 3R Process of Reading of Activity Packages by the Parents on the Executive Functions of Early Childhood Students
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะครุศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
24 เมษายน 2562
วันสิ้นสุดโครงการ :
25 เมษายน 2563
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยและพัฒนา
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
การสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21 และช่วยนำพาประเทศไปสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ได้ จำเป็นต้องมีการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์โดยเริ่มต้นจากเด็กปฐมวัย การพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ จำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่เพียงความสามารถทางสติปัญญา ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ แต่ในปัจจุบันนักจิตวิทยา นักสรีรวิทยา และแพทย์ ได้ทำการศึกษาสมองและหาความสัมพันธ์ของสมองและพฤติกรรมในศาสตร์ที่เรียกว่า “ประสาทวิทยาและจิตวิทยา” พบว่า ความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กนั้นไม่ได้อาศัยเพียงแค่พัฒนาการด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยทักษะด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย (อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์. 2555 : 46) วิกฤตด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการ และการทำ งานของสมอง (ชนิพรรณ จาติเสถียร, กันตวรรณ มีสมสาร, และ อภิรดี ไชยกาล. 2560 : 4-12) ซึ่งจะเห็นได้จากรายงานการสำรวจทักษะ EF ของเด็กไทยวัย 2-6 ปี มีคะแนนพัฒนาการด้านทักษะ EF โดยรวมล่าช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อยไปจนถึงล่าช้ามากมีประมาณเกือบ 30% ของเด็กในแต่ละช่วงอายุ ส่วนเด็กวัย 2-6 ปี ที่เริ่มมีปัญหาพฤติกรรมด้านทักษะ EF มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย จนถึงมีปัญหาอย่างชัดเจน มีมากกว่า 30% ของเด็กในช่วงอายุเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในเด็กอายุ 3-11 ปี โดยควบคุมตัวแปรต่าง ๆ เช่น ระดับสติปัญญา เพศ และสถานภาพทางสังคมให้คล้ายคลึงกัน พบว่า เด็กที่มีทักษะด้านการควบคุมตนเองต่ำ เช่น หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งใด และขาดความเอาใจใส่ เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ใน 30 ปีข้างหน้า จะมีแนวโน้มสุขภาพด้อยกว่า ทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่า และมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหาด้านการควบคุมตนเอง (Diamond and Lee. 2011) ดังนั้น ทักษะ EF นับเป็นทักษะที่จำเป็นยิ่งที่เด็กปฐมวัยควรได้รับการพัฒนาและแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะการพัฒนาทักษะ EF นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องอาศัยการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และวางรากฐานด้วยวิธีการ ที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน การพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัยนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่าง ๆ ให้กับเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด (สุภาวดี หาญเมธี. 2559) การมีทักษะ EF จะช่วยให้เด็กสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ทักษะ EF ช่วยให้เขาลุกขึ้นสู้ต่อไปได้ การส่งเสริม EF ทุกด้านจะช่วยให้เด็กมีทักษะปรับตัวและฟื้นตัวหลังเหตุการณ์วิกฤตได้ ทักษะ EF เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้บุคคลดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข (Greenberg M.T. 2006) การพัฒนาเด็กให้มีทักษะ EF ที่ดี คงไม่สามารถสร้างได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็ก (Dawson and Guare. 2014 : 432-438) การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็น การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะ EF ให้มีความแข็งแรง เนื่องจากมีแนวการจัดกิจกรรมในลักษณะแบบการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอ่านนิทาน การร้องเพลง กิจกรรมเคลื่อนไหว และดนตรี การเล่นอิสระ การเล่นละคร การเล่นบทบาท การทำงานบ้าน การไปทัศนศึกษา และการอ่านในรูปแบบต่าง ๆ การอ่านเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาการทางสติปัญญา อันเป็นประตูสู่การเรียนรู้ที่เด็กต้องได้รับ การพัฒนา ได้แก่ การอ่านหนังสือภาพ การอ่านนิทาน การอ่านอิสระตามลำพัง การอ่านร่วมกัน และการอ่านโดยมีผู้ชี้แนะ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2560) การอ่านเป็นวิธีการพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย เพื่อชีวิตที่สำเร็จ เป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ดังปรากฏในแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ทักษะ EF มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการอ่าน การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมทักษะ EF สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของพ่อแม่ ผู้ปกครอง พบว่า พ่อแม่ที่ประเมินว่าลูกของตนมีทักษะ EF ดี ในด้านการยั้งคิด ไตร่ตรองกับความจำเพื่อใช้งานสูง (Inhibition and Working memory) จะเป็นพ่อแม่ที่มักชอบการอ่านหนังสือให้ลูกฟังที่บ้าน (สุภาวดี หาญเมธี. 2559) ทักษะสมอง EF เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการอ่าน ลักษณะการอ่านที่ซับซ้อน และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาสูงขึ้น การอ่านจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรต้องให้ความใส่ใจ (สุไบดาห์ โมห์เซน. 2555) จากรายงานวิกฤตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ขวบ) สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า พัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม (สุภาวดี หาญเมธี. 2559) การส่งเสริมการอ่านจึงเป็นนโยบายที่จำเป็นต้องมีการนำไปปฏิบัติ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2560) พ่อแม่ ผู้ปกครองถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย ที่ส่งผลต่อความสำเร็จทางการศึกษาของเด็ก (อรชา ตุลานันท์ และอรุณี หรดาล. 2555 : 12-45) สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มีพันธกิจในการทำหน้าที่พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความก้าวหน้าของวิทยาการและความต้องการของสังคม เพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย รวมทั้งวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และการบริการทางวิชาการ ดังประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และได้ออกแบบงานวิจัยในประเด็นนี้คือ ผลการใช้นวัตกรรมการอ่านแบบมีกระบวนการโดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผลงานวิจัยครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนของประเทศ โดยเริ่มต้นที่เด็กปฐมวัยที่ยั่งยืน และยังเป็นการลดปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม อีกทั้งยังสามารถนำไปขยายผลการใช้นวัตกรรมให้แก่สถานศึกษาปฐมวัยในสังกัดอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives) 6.1 เพื่อสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย 6.2 เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 6.2.1 เปรียบเทียบระดับทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองก่อนและหลังการทดลอง 6.2.2 เปรียบเทียบระดับทักษะ EF ของเด็กปฐมวัยระหว่างกลุ่มเด็กทดลองที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองและกลุ่มเด็กเปรียบเทียบที่ไม่ได้รับการจัดกิจกรรม โดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองก่อนและหลังการจัดกิจกรรม 6.3 เพื่อศึกษาความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย
ขอบเขตของโครงการ :
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษา ผลการใช้นวัตกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย โดยผู้วิจัยได้นำชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย ที่พัฒนาขึ้นมาให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการอ่านของเด็กปฐมวัยอายุ 3-4 ปี ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 7.1 ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 1. 7.1.1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1.1 พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 3-6 ปี โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 2 จำนวน 141 โรงเรียน มีจำนวนผู้ปกครองทั้งสิ้น 4555 คน 1.2 เด็กปฐมวัยอายุ 3-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 2 จำนวนทั้งสิ้น 141 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 4,555 คน 2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1.1. พ่อแม่ ผู้ปกครองในการวิจัยครั้งนี้มีหลักในการเลือกกลุ่มตัวอย่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อมาเป็นตัวแทนในการศึกษา โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 สุ่มจากขนาดโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 2 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นโรงเรียนขนาดกลาง จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านบุรีรัมย์ และโรงเรียนบ้านศาลเจ้าไก่ต่อ และขนาดใหญ่ จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียอนุบาลลาดยาวและโรงเรียนอนุบาลบรรพตพิสัย(วัดส้มเสี้ยว) ขั้นตอนที่ 2 สุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี โดยการสุ่มแบบกลุ่ม มีดังนี้ 1. โรงเรียนขนาดกลาง ได้พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กโรงเรียนบ้านบุรีรัมย์ จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลอง และพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยโรงเรียนศาลเจ้าไก่ต่อ จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม 2. โรงเรียนขนาดใหญ่ ได้พ่อแม่ผู้ปกครองโรงเรียอนุบาลลาดยาว จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลอง และพ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียนอนุบาลบรรพตพิสัย(ส้มเสี้ยว) จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม 1.2 เด็กปฐมวัยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้มาจากเด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี มีดังนี้ 1. โรงเรียนขนาดกลาง ได้เด็กปฐมวัยจากครอบครัวของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยในโรงเรียนบ้านบุรีรัมย์ จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลอง และเด็กปฐมวัยจากครอบครัวของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยในโรงเรียนศาลเจ้าไก่ต่อ จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม 2. โรงเรียนขนาดใหญ่ ได้เด็กปฐมวัยจากครอบครัวของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยในโรงเรียอนุบาลลาดยาว จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลอง และเด็กปฐมวัยจากครอบครัวของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาลบรรพตพิสัย(ส้มเสี้ยว) จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม 7.2 ขอบเขตด้านเนื้อหา ขอบเขตเนื้อหาของชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ ในการวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดเป็นการจัดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองหลังจากที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยการใช้ชุดกิจกรรม โดยพิจารณาจากทักษะ EF (Executive functions) สำหรับเด็กปฐมวัย 3 ด้าน คือ 1) ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) 2) การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory control) และ 3) การยืดหยุ่นความคิด (Shifting/ Cognitive flexibility) และความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R ตัวแปรที่ศึกษามีดังนี้ 7.2.1 ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือ การจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1. การเตรียมความพร้อม (R: Readiness) ขั้นที่ 2. การอ่าน (R : Reading) ขั้นที่ 3 การสะท้อนความคิด (R: Reflection) 7.2.2 ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือ ผลการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย (1) ระดับทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย 3 ด้าน คือ 1) ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) หมายถึง ความสามารถในการจำข้อมูลไว้ในใจและจัดการข้อมูลกับเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อคิดแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยการมีความตั้งใจจดจ่อ (Attention) เป็นพื้นฐาน 2) การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory control) หมายถึง ความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรมตนเองไม่หุนหันพลันแล่น หยุดคิดก่อนทำ หยุดพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รวมถึงการยับยั้งความคิดไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อยในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ควบคุมความคิดให้มีสมาธิจดจ่อในเรื่องที่กำลังทำ 3) การยืดหยุ่นความคิด (Shifting/ Cognitive flexibility) หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนความคิดได้ไม่ยึดติดความคิดเดียว รู้จักเปลี่ยนมุมมองคิดนอกกรอบได้ สามารถทำงานหลายอย่างสลับไปมาได้ (2) ความพึงพอใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง 7.3 ขอบเขตด้านสถานที่และเวลา งานวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ คือ 7.3.1 อำเภอเมืองนครสวรรค์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลนครนครสวรรค์ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนเทศบาลวัดพรมจริยาวาส 7.3.2 อำเภอแม่วงก์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขาชนกัน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลแม่วงก์ ระยะเวลาของการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ระยะเวลา 10 สัปดาห์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
14.1 ได้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครสวรรค์ 14.2 พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย 14.3 เด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมทักษะ EF (Executive Functions) โดยหลักการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองที่สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับทักษะ EF ในเด็กปฐมวัยที่ล่าช้าได้อย่างเหมาะสม และส่งผลต่อความสำเร็จ ในการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 14.4 เด็กปฐมวัยได้รับการวางรากฐานพฤติกรรมที่ดีงาม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคม ที่จะส่งผลต่ออนาคตของประเทศชาติในภายภาคหน้า 14.5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัยทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ EF ตามบริบท ผ่านการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัย ได้แก่ การเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์ การจัดทำเป็นแผ่นซีดี การขยายผลด้วยการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนให้แก่นักศึกษาและครู การฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัย การตีพิมพ์และการเผยแพร่ในวารสารระดับชาติ การนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ เป็นต้น 14.6 สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตครูปฐมวัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำผลงานวิจัยไปให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการให้แก่นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามรายวิชาของหลักสูตรและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กปฐมวัย เมื่อเข้าสู่ระบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
8.3 รูปแบบการวิจัย (Research Design) ระบุว่าเป็น 8.3.1 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยวิธีการ (Methodology) Research)การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) การวิจัยเรื่อง ผลการใช้นวัตกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นการวิจัยพัฒนาทดลอง (Experimental development) 5 ขั้นตอน ดังรายละเอียดของวิธีการและเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนดังนี้ การวิจัยเรื่อง ผลการใช้นวัตกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นการวิจัยพัฒนาทดลอง (Experimental development) 5 ขั้นตอน ดังรายละเอียดของวิธีการและเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1 สร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย วิธีดำเนินการ 1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย 2. ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย แนวคิดเกี่ยวกับทักษะ EF (Executive Functions) สำหรับเด็กปฐมวัย แนวคิดเกี่ยวกับ การอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเด็กปฐมวัยและแนวคิดเกี่ยวกับชุดกิจกรรม โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ เชิงลึก เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการสร้างชุดกิจกรรม 3. สร้างแบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และแบบการสัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครองเกี่ยวกับความต้องการในการจัดกิจกรรมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 4. รวบรวมข้อมูลที่ได้นำมาสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประกอบด้วย 4.1 คู่มือการใช้ชุดกิจกรรมสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 4.2 คู่มือความรู้สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 4.3 คู่มือปฏิบัติกิจกรรมสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 4.4 เครื่องมือประเมินผลสำหรับการใช้ชุดกิจกรรมสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 5. ตรวจสอบชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ด้วยการพิจารณาความเหมาะสมและความสอดคล้อง 6. ประเมินผล ปรับปรุงและแก้ไขชุดกิจกรรมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ขั้นที่ 2 สร้างเครื่องมือประกอบการใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง วิธีดำเนินการ 1. แบบสอบถามความคิดเห็นของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีต่อชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง การสร้างและตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือมีการดำเนินการ ได้แก่ 1.1 ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแบบสอบถามความคิดเห็น 1.2 ศึกษาองค์ประกอบของชุดกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 1.3 กำหนดวัตถุประสงค์ของแบบสอบถามความคิดเห็น นำข้อมูลมาสร้างแบบสอบถามความคิดเห็น 1.4 นำแบบสอบถามความคิดเห็นของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา และประเมินความสอดคล้องด้วยดัชนีความสอดคล้อง 1.5 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการพิจารณาเกณฑ์ความสอดคล้องด้วยดัชนีความสอดคล้อง 1.6 นำแบบสอบถามความคิดเห็น มาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ 2. แบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัยการสร้างและตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือมีการดำเนินการ ได้แก่ 2.1 ศึกษาเอกสารและตำราที่เกี่ยวข้องกับการวัดและประเมินผลด้วย แบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัย 2.2 ศึกษากรอบความคิดเกี่ยวกับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นนำมาสร้างเป็นแบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัย 2.3 นำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นแบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัย 2.4 นำแบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัยให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาและประเมินความสอดคล้องด้วยดัชนีความสอดคล้อง และนำไปหาค่าความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น และค่าอำนาจจำแนก 2.5 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการพิจารณาเกณฑ์ความสอดคล้องด้วยดัชนีความสอดคล้อง ค่าความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น และค่าอำนาจจำแนก 2.6 นำแบบประเมินระดับทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัยมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ และผลจากการวิเคราะห์ค่าความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น และค่าอำนาจจำแนก ขั้นที่ 3 ศึกษานำร่อง วิธีดำเนินการ การศึกษานำร่อง เป็นการตรวจสอบและปรับปรุงชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ก่อนนำไปใช้ในการทดลอง มีขั้นตอนดังนี้ 1. พัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง สำหรับกลุ่มที่ใช้ในการศึกษานำร่องเป็นเวลา 5 วันๆ ละ 3 ชั่งโมง รวม 15 ชั่วโมง 2. ประเมินผลและปรับปรุง โดยการนำผลการประเมินจากการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง สำหรับการศึกษานำร่องมาปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมและเครื่องมือประกอบการใช้ชุดกิจกรรม 3. พ่อแม่ ผู้ปกครอง สำหรับกลุ่มที่ใช้ในการศึกษานำร่องทดลองใช้ชุดกิจกรรมกับเด็กปฐมวัยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ 4. ประเมินผลพ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยนำผลการพัฒนาผู้ปกครองด้านความรู้และทักษะมาปรับปรุง/แก้ไข เพื่อให้ได้ชุดกิจกรรมและเครื่องมือประกอบการใช้ชุดกิจกรรมที่สมบูรณ์สำหรับการนำไปใช้ในการทดลอง 5. ประเมินผลโดยนำผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาปรับปรุง/แก้ไข เพื่อให้ได้ชุดกิจกรรมและเครื่องมือประกอบการใช้ชุดกิจกรรมที่สมบูรณ์สำหรับการนำไปใช้ในการทดลอง ขั้นตอนที่ 4 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการอ่านแบบกระบวนการ 3R โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง การทดลองใช้ชุดชุดกิจกรรม เป็นการนำโครงร่างชุดชุดกิจกรรมที่ผ่านการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. การเตรียมการก่อนการทดลองใช้ชุดชุดกิจกรรม ประกอบด้วย 1.1 ติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1.2 ผู้วิจัยประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำวิจัย 1.3 จัดเตรียมชุดกิจกรรมและเครื่องมือในการทดลองใช้ชุดกิจกรรม 2. การทดลองใช้ชุดกิจกรรม ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลการใช้และปรับปรุงชุดกิจกรรม การประเมินผลการใช้ชุดกิจกรรม เป็นการนำผลจากการทดลองใช้ชุดกิจกรรมมาทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล และทำการปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมเพื่อให้ได้ชุดกิจกรรม ฉบับสมบูรณ์ ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1. นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองมาประเมินข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าทางสถิติจากค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสถิติโดยใช้ Independent t – test และ dependent t – test และประเมินข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา 2. นำผลการประเมินมาพิจารณาแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้ได้ชุดกิจกรรมที่สมบูรณ์ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะ EF สำหรับเด็กปฐมวัย
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นางวไลพร เมฆไตรรัตน์
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
50%
2
นางสาวสุชานาฎ ไชยวรรณะ
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมวิจัย
50%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru