รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวเพื่อรองรับสภาวะเครียดจากสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนไคโตซานร่วมกับเทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลแบบไฮเปอร์สเปกตรัล
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Increasing rice production potential for adaptation of environmental stress by using nano-chitosan and hyper-spectral remote sensing technology
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลักษณะโครงการวิจัย :
แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่ระบุ
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
8 พฤศจิกายน 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :
8 พฤษภาคม 2563
ประเภทของการวิจัย :
การพัฒนาทดลอง
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ในขณะเดียวกันประเทศจีนจัดเป็นคู่แข่งรายสำคัญเพราะสามารถผลิตข้าวได้มากที่สุดในประวัติการณ์ถึง 208.24 ล้านตัน (http://www.shac.gov.cn 16/9/60) ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการผลิตและการส่งออกเพื่อรักษาอันดับในการส่งออก ประการสำคัญที่สุดในการส่งเสริมข้าวไทยคือ การรักษาคุณภาพของข้าวไทยให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานคงที่ และเน้นคุณภาพของข้าวเรื่องความปลอดภัยจากสารเคมีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าเมื่อได้บริโภคข้าวไทยโดยที่หากเกษตรกรไทยสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกไปพร้อมกับการรักษาคุณภาพข้าวให้มีคุณภาพดี ปราศจากสารเคมีตกค้างจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้ข้าวของประเทศไทยได้เปรียบข้าวจากประเทศคู่แข่ง นอกเหนือจากสารเคมีตกค้างอันเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ข้าวมีผลผลิตและคุณภาพต่ำลงคือ สภาวะเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ภัยแล้ง อุณหภูมิ น้ำท่วม และโอโซน เป็นต้น โดยการเพิ่มขึ้นของโอโซนจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวเนื่องจากข้าวมีความไวต่อมลพิษทางอากาศ Sanz et al. (2014) ปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่บริเวณกว้างที่ตรวจพบก๊าซโอโซนเกินมาตรฐานโดยเฉพาะความเข้มข้นที่ส่งผลกระทบต่อพืชคือ 40 ppb เนื่องจากพืชมีความไวต่อการได้รับผลกระทบจากก๊าซโอโซน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานก๊าซโอโซนที่มีต่อมนุษย์ โดยก๊าซโอโซนสามารถทำลายพืชโดยผ่านเข้าสู่พืชทางปากใบเป็นสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่มองเห็นได้ (Felzer et al., 2007) อาการแก่ก่อนวัย ทำลายคลอโรฟิลล์ ส่งผลทางด้านสรีรวิทยาเช่น ลดการสังเคราะห์แสง ทำให้การเจริญเติบโต ความสูง พื้นที่ใบลดลง (Sarkar and Agrawal, 2012) และผลผลิตลดลง (chonlada and Rutairat, 2016) นอกจากนี้ก๊าซโอโซนยังมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการใช้ไนโตรเจนของพืช โดยลดประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากไนโตรเจน (Honghui Wu et al., 2016) ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของพืช มีบทบาทต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตของข้าว (Zhu Da-wei et al., 2017) เนื่องจากไนโตรเจนมีหน้าที่หลักในการเร่งการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ เพิ่มการแตกกอ รวมทั้งผลผลิต โดยผลจากการศึกษาของ Sanz et al. (2014) พบว่าการเพิ่มปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสามารถลดผลกระทบจากโอโซนได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อการรองรับปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การป้องกันปัญหาสามารถดำเนินการ เช่น การคัดเลือกพันธุ์พืชที่ทนต่อก๊าซโอโซน การหลีกเลี่ยงพื้นที่หรือฤดูกาลที่มีมลพิษสูง การเพาะปลูกพืชที่ให้ผลผลิตสูง และการจัดการปุ๋ยในการเพาะปลูกเพื่อการเพิ่มผลผลิต จากที่กล่าวมาข้างต้น แนวทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงการเพิ่มคุณภาพข้าว คือ การใช้ประโยชน์จากไคโตซานซึ่งมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ในด้านของการใช้ทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่พืช ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืช อีกทั้งยังสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศและดินได้อีกด้วย เมื่อศึกษาการใช้ไคโตซานในข้าวพบว่าสามารถกระตุ้นในการเพิ่มร้อยละการงอกในข้าวรวมถึงการตั้งตัวของต้นกล้าระหว่างการงอก ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสงในข้าวได้ รวมถึงมีการสะสมน้ำหนักแห้งเพิ่มขึ้น (สุชาดา และคณะ 2555) อีกทั้งไคโตซานจัดพอลิเมอร์ธรรมชาติดังนั้นจึงสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยสารกลุ่มดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อทั้งพืช มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญไคโตซานเป็นพอลิเมอร์เพียงชนิดเดียวที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ หากประเทศไทยสามารถสกัดไคโตซานที่มีประสิทธิภาพสูงจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารเหลือทิ้งได้ ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆที่ส่งออกอาหารทะเลจึงทำให้ได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบที่เพียงพอต่อการผลิต ต่างจากวัตถุดิบอื่นที่อาจหมดไปเมื่อต้องใช้ในปริมาณมาก แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของไคโตซานคือมีความสามารถในการละลายในน้ำได้น้อย ทำให้ต้องใช้กรดเป็นตัวช่วยให้ไคโตซานเพิ่มคุณสมบัติด้านการละลาย เพราะไคโตซานที่ใช้ในปัจจุบันมีขนาดอนุภาคใหญ่ (bulk) ทำให้มีพื้นที่ผิวน้อย จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไคโตซานมีค่าการละลายต่ำ ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมีความพยายามที่จะสังเคราะห์อนุภาคนาโนไคโตซานซึ่งมีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรแต่มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพิ่มทวีคูณ ทำให้มีข้อดีในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์โดยใช้ระยะเวลาในการเตรียมลดลงและเกษตรกรสามารถผลิตพืชพันธุ์ได้ทันความต้องการของตลาดผู้บริโภคอีกทั้งยังลดต้นทุนการผลิตเพราะใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีตกค้างอีกด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลภาคพื้นดิน (ground-based remote sensing) ในการประเมินการตอบสนองต่อความเครียดของพืช นั้นเป็นเทคนิคที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในการทำเกษตรกรรมที่มีความแม่นยำสูง (Precision agriculture) ซึ่งผู้บริหารจัดการแปลงเกษตรกรรมต้องมีการวินิจฉัยและวัดค่าการตอบสนองของพืชที่มีต่อความเครียดทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการจัดการต่อการตอบสนองของพืชได้อย่างเหมาะสม เช่น การใส่ปุ๋ย หรือการชลประทาน (จรัณธร บุญญานุภาพ, 2557) อย่างไรก็ตามการตอบสนองต่อความเครียดของพืชมีความคล้ายคลึงกันและมีความซับซ้อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมี (biochemical) ในพืช ดังนั้นการศึกษาการตอบสนองของพืชด้วยลักษณะบ่งชี้ของลายเซ็นเชิงคลื่น (spectral signature) จากตัวรับรู้ชนิดช่วงคลื่นละเอียดแบบไฮเปอร์สเปกตรัล (Hyperspectral sensor) จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่า ตัวรับรู้ชนิดช่วงคลื่นละเอียดแบบไฮเปอร์สเปกตรัล (Hyperspectral sensor) มีศักยภาพในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยของพืชได้ดีกว่าตัวรับรู้ชนิดในช่วงคลื่นกว้าง (broadband) (Darvishzadeh, R. et al., 2008; Darvishsefat, A. et al 2011; Das, P.K. et al., 2015) ปัญหาหนึ่งของการประยุกต์ใช้ข้อมูลการรับรู้จากระยะไกลแบบไฮเปอร์สเปกตรัล คือข้อมูลมีจำนวนมิติหรือตัวแปรมาก (High dimensional data) ทำให้เกิดปัญหามิติข้อมูล (Curse of dimensionality) จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีลดจำนวนมิติของข้อมูล (Dimension reduction) (Vaiphasa et al. 2007; Becker et al., 2009; Thenkabail et al., 2013) โดยเฉพาะในขั้นตอนการคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสม (Mariotto et al., 2013) งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของระดับไนโตรเจนต่อสรีรวิทยา การสังเคราะห์แสง และผลผลิตของข้าวภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซนในพันธุ์ข้าว กข61 เพราะการศึกษาผลกระทบของก๊าซโอโซนร่วมกับระดับของปุ๋ยไนโตรเจนมีความสำคัญทำให้ทราบถึงผลกระทบของก๊าซโอโซนต่อสรีรวิทยา ผลผลิตของข้าว กข61 และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อจัดการปุ๋ยในการเพาะปลูกข้าวอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังศึกษาการนำปุ๋ยชีวภาพนาโนไคโตซานมาใช้ร่วมกับการเพิ่มผลผลิตของพันธุ์ข้าว กข61 โดยศึกษาวิธีการสังเคราะห์และวิเคราะห์อนุภาคนาโนไคโตซานจากเปลือกกุ้งที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง จากนั้นนำไปศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ กข 61 โดยประเมินผลจากปริมาณไนโตรเจนที่สะสมในใบ สรีรวิทยา การสังเคราะห์ด้วยแสง และการสะสมมวลชีวภาพในข้าว เพื่อให้มีประสิทธิภาพการงอกและการเจริญเป็นต้นข้าวที่ให้ผลผลิตได้เต็มที่ ด้วยคุณสมบัติและปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่แนวคิดในการจัดทำลายเซ็นเชิงคลื่น (Spectral signature curve) ด้วยเทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลภาคพื้นดินแบบไฮเปอร์สเปกตรัล ในการติดตามการตอบสนองความเครียดของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้ได้ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุมาตรฐาน (Digital spectral library) และคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการจำแนกข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้ร่วมกับการจำแนกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการรองรับเกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาผลของระดับไนโตรเจนภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซนที่มีต่อสรีรวิทยา ปริมาณไนโตรเจน การสังเคราะห์แสง และผลผลิตข้าว 2. เพื่อศึกษาวิธีการสังเคราะห์และวิเคราะห์อนุภาคนาโนไคโตซานจากเปลือกกุ้งที่ได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง 3. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนไคโตซานที่ความเข้มข้นต่าง ๆ ต่อปริมาณไนโตรเจนที่ สรีรวิทยา การสังเคราะห์แสง มวลชีวภาพ และผลผลิตข้าว 4. เพื่อศึกษาสภาวะความเครียดจากการขาดธาตุไนโตรเจนและก๊าซโอโซน ที่มีต่อลายเซ็นเชิงคลื่นของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 ด้วยเครื่องวัดค่าการสะท้อนแสงแบบไฮเปอร์สเปกตรัล และคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสมในการจำแนกความเครียดของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 5. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรและนักวิชาการในการนำผลที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนา ติดตามการเพาะปลูกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร
ขอบเขตของโครงการ :
ใช้กุ้งขาวเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์วัสดุนาโนไคโตซาน และศึกษาความเข้มข้นต่างๆพร้อมทั้งใช้เป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอาหารมาผลิตเป็นวัสดุนาโนไคโตซานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเกษตร ร่วมกับใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลภาคพื้นดินแบบไฮเปอร์สเปกตรัล ในการติดตามการตอบสนองความเครียดของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้ได้ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุมาตรฐาน (Digital spectral library) และคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการจำแนกข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้ร่วมกับการจำแนกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการรองรับเกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป และมีการประเมินระดับไนโตรเจนต่อสรีรวิทยา การสังเคราะห์แสง และผลผลิตของข้าวภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซนในพันธุ์ข้าว กข61 เพราะการศึกษาผลกระทบของก๊าซโอโซนร่วมกับระดับของปุ๋ยไนโตรเจนมีความสำคัญทำให้ทราบถึงผลกระทบของก๊าซโอโซนต่อสรีรวิทยา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
ผลที่ได้จากการศึกษาจะทราบถึงการตอบสนองของข้าวต่อระดับของไนโตรเจนและก๊าซโอโซน รวมทั้งการตอบสนองต่อระดับไนโตรเจนภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซน เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการจัดการปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากก๊าซโอโซน ซึ่งจากการตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2559 พบว่าปริมาณก๊าซโอโซนเกินมาตรฐานจำนวน 24 สถานี จากสถานีทั้งหมด 27 สถานี (ร้อยละ 89 ของสถานีตรวจวัดแบบอัตโนมัติภายในประเทศทั้งหมด) นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาวัตถุดิบภายในประเทศที่ได้จากเปลือกกุ้งซึ่งเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งมาสกัดเป็นอนุภาคนาโนไคโตซานเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยเสริมธาตุไนโตรเจนในข้าวได้โดยทราบถึงประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนไคโตซานต่อปริมาณไนโตรเจนที่สะสมในใบ สรีรวิทยา การสังเคราะห์ด้วยแสง และการสะสมมวลชีวภาพในข้าว และได้แนวทางการใช้ฐานข้อมูลสเปกตรัลอ้างอิง (Endmember) และช่วงคลื่นที่เหมาะสม ในการติดตามการตอบสนองของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 ภายใต้สภาวะความเครียดจากการขาดธาตุไนโตรเจนและผลกระทบจากโอโซนให้กับหน่วยงานด้านภูมิสารสนเทศและหน่วยงานด้านการศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ร่วมกับภาพถ่ายจากดาวเทียมความละเอียดสูงและการรองรับเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในอนาคตต่อไป เมื่องานวิจัยนี้สำเร็จจะได้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ (TCI) 2 เรื่องหรือนานาชาติ 1 เรื่อง และถ่ายทอดแนวทางการจัดการปุ๋ยไนโตรเจนภายใต้สภาวะเครียดจากโอโซนให้กับหน่วยงานด้านการเกษตร หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้แนวทางสำหรับเกษตรกรและนักวิชาการในการนำผลที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาและปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่อไป
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การสังเคราะห์และวิเคราะห์วัสดุนาโนไคโตซานและศึกษาความเข้มข้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลภาคพื้นดินแบบไฮเปอร์สเปกตรัล ในการติดตามการตอบสนองความเครียดของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้ได้ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุมาตรฐาน (Digital spectral library) และคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการจำแนกข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้ร่วมกับการจำแนกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการรองรับเกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป และมีการประเมินระดับไนโตรเจนต่อสรีรวิทยา การสังเคราะห์แสง และผลผลิตของข้าวภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซนในพันธุ์ข้าว กข61 เพราะการศึกษาผลกระทบของก๊าซโอโซนร่วมกับระดับของปุ๋ยไนโตรเจนมีความสำคัญทำให้ทราบถึงผลกระทบของก๊าซโอโซนต่อสรีรวิทยา
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
เป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอาหารมาผลิตเป็นวัสดุนาโนไคโตซานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเกษตร ร่วมกับใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกลภาคพื้นดินแบบไฮเปอร์สเปกตรัล ในการติดตามการตอบสนองความเครียดของข้าวเจ้าพันธุ์ กข61 จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้ได้ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุมาตรฐาน (Digital spectral library) และคัดเลือกช่วงคลื่นที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการจำแนกข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้ร่วมกับการจำแนกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการรองรับเกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป และมีการประเมินระดับไนโตรเจนต่อสรีรวิทยา การสังเคราะห์แสง และผลผลิตของข้าวภายใต้สภาวะเครียดจากก๊าซโอโซนในพันธุ์ข้าว กข61 เพราะการศึกษาผลกระทบของก๊าซโอโซนร่วมกับระดับของปุ๋ยไนโตรเจนมีความสำคัญทำให้ทราบถึงผลกระทบของก๊าซโอโซนต่อสรีรวิทยา
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวชลดา เดชาเกียรติไกร ธีรการุณวงศ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%
2 นางสาวฤทัยรัตน์ โพธิ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 25%
3 นายปฏิวิชช์ สาระพิน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 25%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย