รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
บทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้าน ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Caring Role of Government and Other Network Sector for Homeless People in Muang Nakhon Sawan District, Nakhon Sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2562
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยพื้นฐาน(ทฤษฎี)/บริสุทธิ์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         คนไร้บ้าน (Homeless) เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในบางประเทศประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาทางสังคมที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศที่อยู่ในสถานการณ์คนไร้บ้านมาเป็นระยะเวลานานอย่างสหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ยังคงมุ่งมั่นกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เมืองที่ถือว่าประสบกับสถานการณ์คนไร้บ้านในขั้นวิกฤตอย่างเมืองลอสแอนเจลิส มีจำนวนคนไร้บ้านมากถึง 25,000 คน นายกเทศมนตรีของเมืองลอสแอนเจลิสจึงจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราว และพยายามทำความเข้าใจกับชุมชน ในขณะเดียวกัน อีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาก็แก้ไขปัญหาคนไร้บ้านด้วยนโยบายกวาดล้างคนไร้บ้าน ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลลัพธ์ในทางที่ดีต่อประเด็นปัญหาคนไร้บ้านแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ได้สร้างปัญหามากมายตามมา อีกทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ สำหรับสถานการณ์คนไร้บ้านในประเทศไทยถือว่ายังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ การสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนคนไร้บ้านมากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้มีเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลายมาเป็นคนไร้บ้านจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นหลัก ดังกล่าวนี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมต้องดำเนินชีวิตในแบบที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ในแง่หนึ่ง ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีมุมมองต่อประเด็นคนไร้บ้านในทิศทางค่อนข้างลบ หลายคนมองว่าประเด็นคนไร้บ้านเป็นปัญหาทางสังคมมากกว่าจะฉุกคิดในแง่ของสาเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างที่แวดวงวิชาการในระยะหลังพยายามสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับคนไร้บ้านให้กับสังคมไทย เฉกเช่นในผลงาน “โลกของคนไร้บ้าน” ที่พยายามแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับคนไร้บ้านในแง่มุมที่กว้างขวางให้คนทั่วไปได้รับรู้ และยอมรับในความเป็นมนุษย์เหมือนกันของคนไร้บ้าน ดังนั้น ประเด็นคนไร้บ้านในประเทศไทยจึงมีสาเหตุมาจากหลากหลายทิศทางด้วยกัน ทั้งในเชิงโครงสร้างและปัจเจกชน ซึ่งในเชิงโครงสร้างภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมพอสมควร โดยสร้างนิยามคนไร้บ้านให้ชัดเจนขึ้นเพื่อรองรับกับสวัสดิการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจะจัดสรรให้แก่คนไร้บ้าน พระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ให้ความหมายของ “คนไร้ที่พึ่ง” ไว้ว่าหมายถึง “บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และให้รวมถึงบุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้” และกำหนดให้ “การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” หมายความถึง “การจัดสวัสดิการสังคม การเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ การส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างโอกาสในสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีงานทำและมีที่พักอาศัย และการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไร้ที่พึ่ง” ดังกล่าวนี้ ทำให้สถานะของคนไร้บ้านจัดอยู่ในคำนิยามของคนไร้ที่พึ่งและจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งบทบาทหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก สำหรับสถานการณ์คนไร้บ้านในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แม้จะไม่ร้ายแรงและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่จังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นจังหวัดที่มีความเจริญและมีความเป็นเมือง (Urbanization) ค่อนข้างมาก จึงต้องให้ความสนใจต่อประเด็นคนไร้บ้านที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในจังหวัดนครสวรรค์ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับคนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่ง โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครสวรรค์ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ และทีมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขอทานจังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทานในจังหวัดนครสวรรค์ โดยการลงพื้นที่หากลุ่มเป้าหมายในเขตตลาดและที่สาธารณะ ในพื้นที่อำเภอเมืองและต่างอำเภอ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ พระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พ.ศ.2484 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 พบบุคคลขอทาน จำนวน 22 ราย และล่าสุดหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ได้มีการติดตามผลการดำเนินงาน และร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ โดยการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 206 ราย เปรียบเทียบสถิติข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง ในช่วงเดือนตุลาคม - เมษายน ในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 พบว่า อัตราคนเร่ร่อนหรือคนไร้ที่พึ่งมีแนวโน้มลดลง คิดเป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการทำงานและคุณภาพการให้บริการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของคนไร้ที่พึ่ง การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมและชุมชนในการดูแลและอยู่ร่วมกันกับคนไร้ที่พึ่ง การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองดูแลคนไร้ที่พึ่ง การพัฒนาศักยภาพและเสริมพลังบุคลากรเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ และการป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมิให้ตกเป็นคนไร้ที่พึ่ง จากที่กล่าวมาข้างต้น สถานการณ์ภาพรวมเกี่ยวกับคนไร้บ้านค่อนข้างถูกละเลยหรือให้ความสำคัญในลำดับรองลงมาจากประเด็นปัญหาอื่น ๆ ในสังคมไทย อีกทั้งกระบวนการในการดูแลคนไร้บ้านในประเทศไทยก็ยังเป็นกรอบปฏิบัติที่ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีผลลัพธ์ในทิศทางใด จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้ การศึกษาสถานการณ์และบทบาทในการดูแลคนไร้บ้านอาจจะเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างแนวทางในการพัฒนาบทบาทของหน่วยงานที่ดูแลคนไร้บ้าน และช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ต่อไปในอนาคตได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อศึกษาสถานการณ์คนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
การศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษา 2 ประเด็นหลัก คือ 1) ประเด็นสถานการณ์ของคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยศึกษาผ่านหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายที่ทำหน้าที่ดูแลคนไร้บ้านหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 2) ประเด็นบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้าน โดยเริ่มศึกษาที่บทบาทของหน่วยงานภาครัฐเป็นอันดันแรก แล้วจึงเชื่อมโยงไปยังบทบาทของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครสวรรค์ มูลนิธิและอาสาสมัครต่าง ๆ ดังนั้น ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มเป้าหมายหลักในการวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการมุ่งศึกษาที่หน่วยงานภาครัฐและเครือข่าย ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตเชิงพื้นที่ในการทำวิจัยไว้เพียงในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1) ทราบถึงสถานการณ์คนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 2) ทราบถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายในการดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 3) ผลการวิจัยนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาบทบาทของหน่วยงานที่ดูแลคนไร้บ้าน และช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวนันทิยา สัตยวาที นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 40%
2 นางสาวรตา อนุตตรังกูร นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%
3 นายธีรพงศ์ พรหมวิชัย นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย