รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
ทุนทางสังคมกับการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพของเกษตรกร : กรณีศึกษากลุ่มแปรรูปเห็ด บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Social Capital for developing potential of thai farmers A case study of nangfa mushroom processing group, Bannongpotang Tambon Phanomrok Thatako district, Nakhon Sawan province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2562
ประเภทของการวิจัย :
อื่นๆ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         การพัฒนากระแสหลักตามระบบทุนนิยม มักจะมุ่งเน้นการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ให้ความสำคัญต่อมิติความเป็นธรรมทางสังคมน้อย การพัฒนาตามแนวทางเช่นนี้ทำให้คนส่วนน้อย เช่น นายทุนธุรกิจขนาดใหญ่ ทุนผูกขาด และแรงงานมีฝีมือที่ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นต้น ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของกลไกตลาด ที่พึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนที่สูงขึ้น ขณะที่ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติลดลง เกษตรกรจำนวนมากขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และขาดการต่อรองกับระบบตลาด นอกจากนี้ แนวทางการพึ่งทุนและตลาด รวมทั้งความรู้จากภายนอกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่าสี่ทศวรรษของการพัฒนา ล้วนส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ การผลิตซ้ำ และการปรับตัวของกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชน โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถูกละเลยในกระบวนการพัฒนา และขาดการพัฒนาศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ ต้นทุนทางสังคมและความรู้ความสามารถของท้องถิ่นค่อย ๆ ลดความสำคัญลง จนนักวิชาการและองค์กรเอกชนจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐมีนโยบายในการเพิ่มพลังให้ภาคประชาชน แต่เสียงเรียกร้องนั้นกลับไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ขาดศักยภาพและทำให้ชาวบ้านกลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสไปในที่สุด การพัฒนาที่นำมาสู่การสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนได้ จึงน่าจะเป็นการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนมีพื้นที่ทางสังคมในการทำกิจกรรมสาธารณะมากที่สุด เพราะจะช่วยทำให้เกิดระบบความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มขึ้น จนชุมชนสามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ เพราะการทำกิจกรรมร่วมกัน (collective actions) ของสมาชิกในชุมชน เป็นการรวมพลังที่นำไปสู่การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก กลุ่ม และองค์กร แล้วทำให้เกิดผลล้นออก (spillover effects) สู่การทำกิจกรรมสาธารณะ (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, 2547; พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2545; ประเวศ วะสี, 2542) ดังนั้น ทุนทางสังคมจึงเปรียบเหมือนการวางคานงัด เพื่อยกของที่มีน้ำหนัก (social capital as leverage) หรือเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคน เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน (Briggs, 1998) โดย Cox (1995) มองว่า ขบวนการเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะของโครงสร้าง หรือการเกาะเกี่ยวทางสังคม (social glue) หรือเรียกว่า ทุนทางสังคม (social capital) ธนาคารโลก (1999) ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของแนวคิดทุนทางสังคมว่า สามารถสร้างองค์กร ความสัมพันธ์ และบรรทัดฐาน ที่ก่อให้เกิดทั้งปริมาณและคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม “social capital refers to the institutions, relationships, and norms that shape the quality and quantity of a society's social interactions”. ทุนทางสังคมเป็นแนวคิดที่นักวิชาการหลายท่าน อาทิเช่น Jacobs (1961); Coleman (1988) ; Putnam (1993) and Cox (1998) เห็นสอดคล้องกันว่า เกิดจากความร่วมมือของกลุ่ม และองค์กรต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (social integration) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ก็ได้มีมาตรการในการสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดทุนทางสังคม โดยจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทางสังคม WSSD (UN 1995) โดยมีประเด็นสำคัญคือ 1. การส่งเสริมการจ้างงาน 2. การลดความยากจน และ 3. การสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ปัจจุบันแนวคิดเรื่องทุนทางสังคมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมโลก และถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือของนโยบายของรัฐ ในการลดความยากจน โดยนักคิดและนักวิชาการจำนวนมาก มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ทุนทางสังคมเป็นทุนอย่างเดียวที่คนยากจนและคนด้อยโอกาสมี ซึ่งความจริงทุนทางสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ดำรงอยู่ก่อนหน้าแล้ว เพียงแต่การผลักดันแนวทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่แผนการพัฒนาชาติ ที่มุ่งเน้นที่แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงประการเดียว ได้ละเลยการพัฒนาแนวคิดการพัฒนาทุนทางสังคม ทำให้ผลที่ได้จากการพัฒนานำมาสู่สภาพสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ และกลายเป็นสังคมที่ไร้น้ำใจ (careless society) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2548) การริเริ่มของผู้นำและสมาชิกของชุมชน ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและองค์กรในชุมชน โดยอาศัยกระบวนการทำกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจภายในชุมชน เป็นการปรับตัวและเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาวิสาหกิจชุมชน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ควบคู่กับการทำงานภายในครอบครัว หรือกิจกรรมสาธารณะในชุมชน รวมทั้งความริเริ่มจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งกิจกรรมการพัฒนาของตัวอย่างชุมชนชั้นนำเหล่านี้ ล้วนอาศัยทุนทางสังคมทั้งสิ้น บ้านหนองโพธิ์ทอง เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลพนมรอก อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอท่าตะโก ประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน 2,647 ครัวเรือน ประชากร 6,444 คน เนื้อที่ทั้งหมด 99.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 62,370 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่อ้อย ปลูกผัก เกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด และรับจ้าง อีกส่วนหนึ่งก็เข้าไปประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปในกรุงเทพ การทำนาของชาวบ้านหนองโพธิ์ทอง เป็นการทำนาปี ซึ่งทำได้ปีละครั้ง ชาวบ้านจึงมีเวลาว่างหลังจากฤดูการทำนา ผู้ใหญ่กิตติศักดิ์ คงเพชรศักดิ์ จึงได้ริเริ่มดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปเห็ดให้ชาวบ้าน เพื่อประกอบเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และมีการพัฒนาการดำเนินงานบริหารจัดการกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้ และมีความสามารถในการแปรรูปเห็ดที่มีคุณภาพ ที่ขึ้นชื่อในระดับโอท็อป ของตำบลพนมรอก จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะทำการวิจัยในครั้งนี้ โดยมีคำถามสำหรับการวิจัยในครั้งนี้ว่า ทุนทางสังคมของกลุ่มอาชีพแปรรูปเห็ดของเกษตรกร บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ มีลักษณะเป็นอย่างไร และการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพแปรรูปเห็ดของเกษตรกร บ้านหนองโพธิ์ทอง ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอะไร
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาทุนทางสังคมของกลุ่มอาชีพของเกษตรกรแปรรูปเห็ด บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ 2. เพื่อศึกษาการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพของเกษตรกรแปรรูปเห็ด บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาวิจัยไว้ ดังนี้ 1. ขอบเขตด้านผู้ให้ข้อมูลหลัก สำหรับผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ สมาชิกกลุ่มแปรรูปเห็ดบ้านหนองโพธิ์ทอง จำนวนทั้งสิ้น 20 คน ประกอบด้วย ประธานกลุ่ม รองประธานกลุ่ม เลขานุการกลุ่ม เหรัญญิกกลุ่ม คณะกรรมการกลุ่ม และนักพัฒนาชุมชนในพื้นที่ (ที่ปรึกษากลุ่ม) 2. ขอบเขตด้านพื้นที่ การวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาในระดับจุลภาค โดยผู้วิจัยพิจารณาเลือกพื้นที่แบบเจาะจง คือ พื้นที่บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของชุมชนที่สอดคล้องและสามารถตอบปัญหาการวิจัย (สุภางค์ จันทวานิช, 2547 : 42) 3. ขอบเขตด้านเนื้อหา เนื้อหาสำหรับการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับทุนทางสังคม และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพหรือการพัฒนาความสามารถของกลุ่ม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพของเกษตรกรแปรรูปเห็ด เพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 2. สมาชิกในชุมชน/ตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้มีรายได้เสริมจากการแปรรูปเห็ด
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การวิจัยเรื่อง ทุนทางสังคมกับการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพของเกษตรกร กรณีศึกษากลุ่มแปรรูปเห็ด บ้านหนองโพธิ์ทอง ต.พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quality Research ) โดยมีขั้นตอนการวิจัยดังนี้ 1. ประชากรผู้ให้ข้อมูลหลัก 2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 3. การเก็บรวบรวมข้อมูล 4. การวิเคราะห์ข้อมูล ประชากรผู้ให้ข้อมูลหลัก ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง คือ เป็นเกษตรกรกลุ่มแปรรูปเห็ดบ้านหนองโพธิ์ทอง จำนวน 20 คน ประกอบด้วย 1. ประธานกลุ่ม จำนวน 1 คน 2. รองประธานกลุ่ม จำนวน 1 คน 3. เลขานุการกลุ่ม จำนวน 1 คน 4. เหรัญญิกกลุ่ม จำนวน 1 คน 5. คณะกรรมการกลุ่ม จำนวน 15 คน 6. นักพัฒนาชุมชน (ที่ปรึกษากลุ่ม) จำนวน 1 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับผู้ให้ข้อหลักในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1. แบบเก็บรวบรวมข้อมูลมือสอง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบริบทของพื้นที่วิจัย ได้แก่ ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน 1. แนวคำถามในการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ (Formal Interview) 2. แนวคำถามสำหรับการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) 3. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participatory Observation) โดยผู้วิจัยได้เข้าร่วมกิจกรรม การเก็บรวบรวมข้อมูล 1. การเก็บข้อมูลจากเอกสาร กระทำโดยการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมจากเอกสาร ตำรา บทความและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่เป็นเอกสารของชุมชนหรือพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้สามารถเรียนรู้ในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงนำ ข้อมูลทีได้มาทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความเหมาะสมในการนำไปใช้เป็นกรอบในการศึกษา 2. การเก็บข้อมูลภาคสนาม มีขั้นตอนปฎิบัติดังนี้ 2.1 ติดต่อประสานกับผู้นำชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย 2.2 ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ที่จะศึกษา โดยใช้วิธีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างสัมพันธ์ภาพกับคนในชุมชน รวมทั้งเพื่อเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในชุมชน ตลอดจนการใช้วิธีการสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม 2.3 การเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ (Formal Interview) และไม่เป็นทางการ (Informal) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก ซึ่งผู้วิจัยกำหนดประเด็นที่สัมภาษณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว และระหว่างการสัมภาษณ์ผู้วิจัยใช้วิธีการพูดคุยเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองและไว้วางใจมากขึ้น 2.4 การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ทุนทางสังคมกับการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพของเกษตรกรกลุ่มแปรรูปเห็ด บ้านหนองโพธิ์ทอง ต. พนมรอก อ. ท่าตะโก จ. นครสวรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัยในครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ตามลำดับดังนี้ 1. วิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร โดยการศึกษาจากเอกสารวิชาการ รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลทุติยภูมทั้งหมด 2. วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ ไม่เป็นทางการ และจากการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ผู้วิจัยใช้วิธีการตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Induction) จากข้อมูล และนำเสนอเชิงพรรณา การวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลผู้วิจัยจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กันกับการเก็บรวบรวมข้อมูล จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาด้วยการซักถามเป็นการแลกเปลี่ยนคำถาม ต่อจากนั้นก็ทำการแยกแยะข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ พร้อมกับพิจารณาถึงความสมบูรณ์และความพอเพียงของข้อมูล โดยนำมาเปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดในการวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัย นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) เป็นการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล ตรวจสอบด้านข้อมูล และตรวจสอบด้านวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวจิตราภรณ์ เพ็งดี นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย