รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การพัฒนาชุดฝึกทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
THE DEVELOPMENT OF COMMUNICATIVE ENGLISH PACKAGES TO ENHANCE ENGLISH LISTENING-SPEAKING ABILITIES AMONG PEOPLE IN NAKHON SAWAN PROVINCE
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2562
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยบูรณาการ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         โลกปัจจุบันคือโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร มนุษย์มีการติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอยู่เสมอ ซึ่งมนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศจึงมีความสำคัญมากในโลกปัจจุบัน นอกจากภาษาจะเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารดังกล่าวข้างต้น ภาษายังช่วยให้มนุษย์ตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ หรือประเทศต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ภาษาที่ใช้กันมากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งสอดคล้องกับ Viriyachitra, et al. (2012, p.10) กล่าวว่า ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางของโลกหรือกลายเป็นภาษาสากล จะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษมีอิทธิพลต่อการเมือง การค้า การศึกษา และการพัฒนาของเทคโนโลยี ดังนั้นผู้คนจึงหันมาเรียนหรือใช้ภาษาอังกฤษเพื่อจะสื่อสารกับคนทั่วโลก และสื่อสารกันเองภายในประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาคมอาเซียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการด้วยเช่นกัน และ Deerajviset (2015, p. 56-57) กล่าวว่า เมื่อภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษามหาวิทยาลัย เนื่องจากภาษาอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อความสำเร็จทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการทางาน (อ้างใน เกรียงศักดิ์ ฐานะกอง และนิธิดา อดิภัทรนันท์, 2560) ผู้วิจัยซึ่งสนใจและเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารของชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ โดยการฝึกอบรมจะเน้นทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษ แบบเน้นทักษะสำหรับการสื่อสารตามทฤษฎีภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ (English for Specific Purposes) เน้นเนี้อหาและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ร่วมอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพื่อเป็นปัจจัยในการส่งเสริม และสนับสนุนในการทำงาน รวมไปถึงการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1.เพื่อศึกษาความต้องการด้านเนื้อหาในการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษสำหรับสื่อสารของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ 2.เพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการทำงาน 3.เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการทำงาน
ขอบเขตของโครงการ :
ในการออกแบบพัฒนาชุดฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสารของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงได้หยิบยกประเด็นความต้องการความรู้ด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มตัวอย่างและระดับทักษะภาษาอังกฤษของกลุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ก่อน แล้วจึงพัฒนาชุดฝึกทักษะภาษาอังกฤษดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด โดยจะได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษให้มีความเหมาะสม สามารถนำไปใช้งานได้จริงและถูกต้องตามหลักวิชาการ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1.หลังจากสิ้นสุดการดำเนินงานวิจัย ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์จะได้รับการอบรมหลักสูตรจากการสำรวจความต้องการการพัฒนาชุดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารเพื่อเพิ่มพูนทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ 2.ผลจากการนำชุดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร นำไปใช้เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้วิจัยมีความมั่นใจว่าชุดฝึกอบรมจะพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝึกอบรม อีกทั้งได้เนื้อหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของชุมชนให้สามารถแข่งขันกับการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไปได้ในอนาคต
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การวิจัยครั้งนี้จะใช้การทดลองแบบ One Group Pre-test and Post-test Design เครื่องมือที่ผู้วิจัยจะสร้างขึ้นสำหรับการเก็บข้อมูลดำเนินการวิจัย มีดังต่อไปนี้ 1. สัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview) เกี่ยวกับความต้องการในการพัฒนาทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการศึกษานำร่อง โดยบันทึกและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ประกอบการสร้างชุดฝึกอบรม 2. ชุดฝึกอบรมทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร (Communicative English skill Training Packages) โดยสร้างตามทฤษฎีภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ (English for Specific Purposes) เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ และความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก (Hutchinson & Waters, 1669) โดยผู้วิจัยจะได้ประมวลสถานการณ์ที่กลุ่มประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์จะต้องพบในขณะที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดนครสวรรค์ 3. แบบทดสอบ (Test) มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ คะแนนเต็ม 30 คะแนน โดยมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว และนำแบบทดสอบไปหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยหาดัชนีความสอดคล้องของข้อสอบ (Index of Item Objective Congruence: IOC) ของ Rovinelli & Hambleton (1977) โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน 4. แบบสอบถาม (Questionnaire) ความพึงพอใจในการพัฒนาชุดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารเพื่อเพิ่มพูนทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะของแบบสอบถามมี 2 ตอนประกอบไปด้วย ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัวประกอบไปด้วย เพศ อายุ รายได้ อาชีพ เป็น แบบตรวจสอบรายการ (Check List) ตอนที่ 2 แบบสอบถามความพึงพอใจ ลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วน ประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และนำแบบสอบถามมาหาค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน และหาค่าดัชนีความสอดคล้อง หรือ IOC และหาความเชื่อมั่น (Reliability) โดยนำแบบสอบถาม ไปทดลองใช้กับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่มีลักษณะเหมือนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 คน โดยหาค่าสัมประสิทธ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach, 1990) 5. แบบสังเกตการณ์ (Observation) ซึ่งจะใช้กับกลุ่มประชากรเป้าหมายเพื่อเป็นการยืนยันว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารจริง การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยเก็บรวบรวมดังนี้ 1. การพัฒนาชุดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารเพื่อเพิ่มพูนทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้แบบทดสอบก่อนและหลังการฝึกอบรม 2. การอบรมจะใช้เวลาจำนวน 30 ชั่วโมง ครั้งละ 6 ชั่วโมง จำนวน 5 ครั้ง 3. การประเมินความพึงพอใจของการพัฒนาชุดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารเพื่อเพิ่มพูนทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจหลังจากทดสอบหลังเรียนแล้ว 3. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พื้นที่กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย คือ บุคคลวัยทำงานในองค์กรภาครัฐและเอกชนและผู้ประกอบอาชีพอิสระในจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร จำนวน 30 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย และแบบอาสาสมัครตามความเหมาะสมกับบริบทของงานวิจัย
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารของชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ โดยการฝึกอบรมจะเน้นทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษ แบบเน้นทักษะสำหรับการสื่อสารตามทฤษฎีภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ (English for Specific Purposes) เน้นเนี้อหาและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ร่วมอบรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งเพื่อเป็นปัจจัยในการส่งเสริม และสนับสนุนในการทำงาน รวมไปถึงการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายรังสรรค์ หล้าคำจา นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย