รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการพัฒนาเครื่องทอลายและการย้อมสีธรรมชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผักตบชวา
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The development of machine woven and natural staining products to add value water hyacinth
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
29 ตุลาคม 2561
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยและพัฒนา
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         การมุ่งสู่ความเปลี่ยนในระดับประเทศ จากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคงและยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมี ความสุข และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศ คือกรอบวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจ โดยการยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านสภาวะแวดล้อมและด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลักดันให้ผู้ประกอบการมีบทบาทหลักด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญาเดิม เพื่อประโยชน์ด้านพาณิชย์ ด้านสังคม หรือแม้แต่ด้านสนับสนุนนโยบายของประเทศ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้นับเป็นยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างอย่างยืนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2560-2564) ในการส่งเสริมกลไกและกิจกรรมการนำกระบวนการวิจัย ผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ โดยการถ่ายทอดและขยายผลการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยอย่างทั่วถึงด้านอุตสาหกรรม/พาณิชย์ สังคม/ชุมชน วิชาการ และนโยบาย ในรูปแบบของการศึกษาถึงปัญหา บริบทชุมชน ตลอดจนความต้องการทั้งของผู้ผลิตและตลาดผู้บริโภค ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ อันเป็นตัวแปรและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแข่งขันให้ก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศได้ รวมทั้งผู้ประกอบการ ห้างร้าน หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค ต้องเร่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจ เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้กลับคืนสู่ประเทศให้ได้มากที่สุด ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ ความประณีต และความงดงามของไทย และเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ ผู้ผลิตสามารถส่งเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ หัตถกรรมพื้นบ้านจึงควรพัฒนาให้ก้าวสู่ระดับสากล ทั้งนี้จะต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนควบคู่กันไปกับการอนุรักษ์ และคำนึงถึงการรักษาเอกลักษณ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยไว้ด้วย ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จัดอยู่ในประเภทงานหัตถกรรมมีหลากหลายรูปแบบ งานทอ ถัก จัก สาน ถือเป็นงานอีกหนึ่งลักษณะที่แสดงถึงภูมิปัญญาดังกล่าว และวัตถุดิบที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานมีอยู่มากมายและหลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ ผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวา เป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความนิยมอีกรูปแบบหนึ่ง อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาและความประณีตของไทย ที่สามารถแปรรูปผักตบชวาอันเป็นวัชพืชที่สร้างปัญหาต่อลุ่มแม่น้ำและต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ มาอย่างยาวนาน นำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภค สามารถผลักดันเป็นสินค้าส่งออกช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ผักตบชวาเกิดขึ้นง่ายแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยจึงแพร่กระจายพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำโดยทั่วไป ในตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกตำบลหนึ่งที่พบว่ามีการทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาในรูปแบบกระเป๋า ตะกร้า ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ปัญหาหลักที่พบ คือ รูปแบบและสีสันของผลิตภัณฑ์ยังไม่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยังไม่ครบถ้วน ทุกกลุ่มวัย ไม่มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ขอพื้นถิ่นที่สามารถสร้างการจดจำของลูกค้า สีที่ใช้บนผลิตภัณฑ์เป็นสีที่ได้จากเคมีทั้งหมดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สร้างสรรค์ผลงานและต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงานเกิดจากการใช้เทคนิคการถักและการสานเท่านั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์บางชิ้นงานไม่แน่น และแข็งแรงพอที่จะนำไปจำหน่ายได้ จากประเด็นดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษา กระบวนการย้อมสีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติใน พื้นถิ่น และพัฒนาเครื่องทอลายผักตบชวาเพื่อสร้างมาตรฐานในการผลิตและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ชุมชน โดยเน้นไปที่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ประเภทชุดตกแต่งบ้าน ชุดผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหาร และชุดเฟอร์นิเจอร์ ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน โดยการบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนในศาสตร์สาขาวิชาการออกแบบ ของคณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ สอดคล้องกับปรัชญาและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำเพื่อพัฒนาท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนอื่นในเขตพื้นที่ที่มีผักตบชวาเป็นจำนวนมากได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1)เพื่อศึกษากระบวนการย้อมสีผักตบชวาด้วยสีจากธรรมชาติในพื้นถิ่น 2)เพื่อพัฒนาเครื่องทอลายผักตบชวา ในการสร้างลวดลายเอกลักษณ์ 3)เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา 4)เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ชุมชนและเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ
ขอบเขตของโครงการ :
งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อสรรหาวัตถุดิบในธรรมชาติที่มีในพื้นถิ่น ที่ทำให้เกิดสีและกระบวนการที่เหมาะสมกับการย้อมสีของผักตบชวา รวมทั้งการพัฒนาเครื่องทอลวดลาย ที่นำมาช่วยเพิ่มมาตรฐานการผลิตและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อที่จะนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับจากตลาด โดยการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามกระบวนการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1)ได้กระบวนการย้อมสีผักตบชวาด้วยสีจากธรรมชาติในพื้นถิ่น ของตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ 2)ได้ต้นแบบเครื่องทอลายผักตบชวา ในการสร้างลวดลายเอกลักษณ์ของชุมชน 3)ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค 4)ได้ถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ชุมชนและเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ 5)ได้บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนที่ 1 : ศึกษา สำรวจข้อมูล และเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม เพื่อศึกษาวัตถุดิบในธรรมชาติที่เหมาะสมกับการย้อมสีผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา โดยการเก็บตัวอย่างวัตถุดิบที่มีในธรรมชาติในท้องถิ่นของกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ตำบล เก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อไปจำแนกโทนสี และบันทึกค่าสี โดยเปรียบเทียบกับ Pantone Color และจัดเก็บเพื่อเตรียมสู่ขั้นตอนกระบวนการย้อมสีด้วยวัตถุดิบสีต่างๆ ในขั้นต่อไป รวมทั้งสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ภาพถ่าย จากปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ ในเรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรม ในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านการสร้างเครื่องทอลาย หรือนวัตกรรมในการย้อมสีและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนที่ 2 : ศึกษากระบวนการย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติในพื้นถิ่น ที่เหมาะสมกับผักตบชวา นำข้อมูลจากการศึกษาและสำรวจภาคสนามมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประมวลผลจากการศึกษา เพื่อค้นหากระบวนการที่ใช้ในการย้อมสีเส้นใยผักตบชวา โดยการทดลองย้อมสีจากวัตถุดิบต่างๆ ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ฝาง แก่นขนุน กระเจี๊ยบ ฯลฯ แล้วทำการเทียบเคียงค่าสีที่ได้กับ Pantone Color เพื่อบันทึกค่าสีเป็นฐานข้อมูลชุดสีจากวัตถุดิบต่างๆ ที่เหมาะสมกับเส้นใยผักตบชวา เป็นการสร้างมาตรฐาน ในขั้นตอนการย้อมสีสำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่อไป ขั้นตอนที่ 3 : สร้างนวัตกรรมเครื่องทอลายผักตบชวา ให้ได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยการทดลองสร้างต้นแบบเครื่องทอลายที่เหมาะสมกับการทอผักตบชวา โดยศึกษาและพัฒนาจากเครื่องทอผ้า และเครื่องทอเสื่อกก เพื่อให้ได้เครื่องทอลายผักตบชวาที่เหมาะสมสามารถสร้างชิ้นงานเป็นผืน และสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆได้ ขั้นตอนที่ 4 : สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา นำผลจากการสร้างนวัตกรรมด้านการพัฒนาเครื่องทอลายผักตบชวา และกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ จนได้ชุดสีเพื่อเป็นมาตรฐานในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา รวมทั้งผลจากการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคถึงแนวโน้มความต้องการที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา นำมาสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้วิจัยกำหนดเป็นประเภทชุดตกแต่งบ้าน ชุดผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหาร และชุดเฟอร์นิเจอร์ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนได้ ผ่านกระบวนการทางการวิจัย ทั้งด้านการสำรวจความต้องการของตลาด โดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริโภค โดยมีนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เป็นการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนกับงานวิจัย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการจริงในการทำงาน ขั้นตอนที่ 5 : ถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ชุมชนและเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ โดยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1 ครั้ง ใช้เวลาในการอบรม 3 วัน หลังจากนั้น สรุปผลการดำเนินงาน นำเสนองาน เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการ และยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตรด้านการออกแบบ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้นวัตกรรม เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการผลิต และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่เป็นขยะหรือวัชพืชในธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การศึกษาเพื่อสรรหาวัตถุดิบในธรรมชาติที่มีในพื้นถิ่น ที่ทำให้เกิดสีและกระบวนการที่เหมาะสมกับการย้อมสีของผักตบชวา รวมทั้งการพัฒนาเครื่องทอลวดลาย ที่นำมาช่วยเพิ่มมาตรฐานการผลิตและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อที่จะนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับจากตลาด โดยการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามกระบวนการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายรพีพัฒน์ มั่นพรม นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%
2 นางยุวดี ทองอ่อน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 25%
3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นัฐท์ธีรนนช์ รอดชื่น นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 25%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย