รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Policy Recommendation for Local Economic Development According to the Digital Economy Concept in Nakhonsawan Province.
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
29 ตุลาคม 2561
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยพื้นฐาน
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ในโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคแห่งสารสนเทศ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร โดยการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายหรือระบบอินเตอร์เน็ท ซึ่งเรียกว่าอินเตอร์เน็ทคือทุกสิ่ง(Internet of thing : IoT) หมายความว่า สภาพแวดล้อมอันประกอบด้วยสรรพสิ่งที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านโพรโทคอลการสื่อสารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย โดยสรรพสิ่งต่างๆ มีวิธีการระบุตัวตนได้ รับรู้บริบทของสภาพแวดล้อมได้ และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบและทำงานร่วมกันได้ ความสามารถในการสื่อสารของสรรพสิ่งนี้จะนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย ผ่านการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นสายใย เทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเฉกเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป หากแต่เป็นการทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเข้าใจถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ของโลกที่มีผลต่อประเทศไทย ได้แก่ กระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์มีผลเป็นรูปธรรมที่กระทบต่อการดำรงชีวิต ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความคิดการเรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่จุดการค้าเสรีมากขึ้น โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นโลก/ยุคไร้พรมแดน (Borderless World) ในลักษณะที่มีการลดกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนในด้านต่าง ๆ พลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปอย่างสิ้นเชิง กระแสโลภาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทสำคัญๆ ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2549 : 23) เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ท มาอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้า ทำให้ยุคหลังเกิดเป็นสินค้าออนไลน์ที่เติบโตมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด กระบวนการทางกฎหมายจึงเข้ามามีส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้กำหนดแนวนโยบายในมาตรา 84 ที่รัฐต้องดำเนินการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ รวมไปถึงส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และฉบับที่ 12 ที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสอดคล้องโดยตรงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2559) ที่กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้ากับยุคปัจจุบันที่มีการใช้สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจรวมไปถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ทำให้เห็นช่องทางและโอกาสในการรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น และเน้นรูปแบบการสร้างระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต และสอดรับประสานการทำงานระหว่าง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในระดับท้องถิ่นได้เริ่มสนใจที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลสำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเริ่มต้น และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตนเองเพื่อกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจระดับโลกและภายในประเทศ โดยเฉพาะภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับมือให้ทันกับการแข่งขันนี้ การศึกษาเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง ดังนั้น ชาวบ้านมีเศรษฐกิจในชุมชน ที่บางส่วนได้นำภูมิปัญญาของตนเองที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และค้นพบด้วยตนเองมากมายหลายด้านมาพัฒนา ภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจ เช่น การทำมาหากิน การกินอยู่ ศิลปกรรม ภาษาและวรรณกรรม ศาสนาและประเพณี และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สืบค้นจากเว็บไซต์ http://aritc.nsru.ac.th/local/local_ns/intellect.php : วันที่ 15 สิงหาคม 2559) สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนก่อให้เกิดเป็นรายได้ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญของจังหวัดด้วย นอกจากนั้นจังหวัดนครสวรรค์ยังได้เปรียบในทำเลที่ตั้ง ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นประตูเชื่อมสู่เขตภาคเหนือ และมีระยะทางไม่ไกลจากเมืองหลวง มีระบบขนส่งที่หลากหลายทั้งทางราง ทางน้ำ และทางถนน และโครงข่ายสื่อสารที่เชื่อมโยงถึงทุกพื้นที่ สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเด็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในสังคมไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นานนี้ แต่กลับมีผู้สนใจต้องการหาช่องทางและพร้อมลงทุนกับธุรกิจประเภทดังกล่าว แต่สิ่งที่ยังขาดคือความรู้ความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชุนชนในจังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสถิติของกลุ่มวิสาหกิจในจังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนทั้งสิ้น 968 กลุ่ม (กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร, 2559) ซึ่งหากไม่มีการเตรียมตัวรองรับกระแสการพัฒนาแนวใหม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ของกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดนครสวรรค์ ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่นให้สามารถสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ท้องถิ่น และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปให้ยังพื้นที่อื่นที่มีความสนใจในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคตได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบเศรษฐกิจชุมชน และความพร้อมของเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ในจังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล 3) เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
ขอบเขตของโครงการ :
- ขอบเขตด้านระยะเวลา ใช้ระยะเวลา ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2560 ถึง เดือน กันยายน 2561 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี - ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) รูปแบบเศรษฐกิจชุมชน และความพร้อมของเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ในจังหวัดนครสวรรค์ 2) ปัจจัยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล 3)ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
ได้องค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานในการบริการทางวิชาการเกี่ยวกับการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนต่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชุมชน 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดนครสวรรค์ 3) ผู้นำและผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นเป้าหมาย 4) ผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ในจังหวัดนครสวรรค์ 5) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเลือกอำเภอที่มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใน 15 อำเภอ จำนวน 278 กลุ่ม จากทั้งหมด 968 คน (กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, 2559) โดยกำหนดขนาดจากตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน 3) ผู้นำ หรือผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 8-15 คน 4) ตัวแทนผู้บริโภคสินค้าขายออนไลน์ในจังหวัดนครสวรรค์ 8 – 15 คน 5) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8-15 คน 2) ขอบเขตด้านเนื้อหา เนื้อหาที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน 2) แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายณัฐชัย นิ่มนวล นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย