มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การบำบัดโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยราที่มีประสิทธิภาพ
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Treatment of Heavy Metal from Electronic Waste by Highly Effective Fungi
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2561
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งวัสดุที่เกี่ยวข้อง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีการแข่งขันทางการตลาดสูง ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มถูกลง ผู้บริโภคจึงเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซ่อมผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดเพื่อนำมาใช้ใหม่เป็นการทิ้งผลิตภัณฑ์เดิมและซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้ทดแทน ท้ายที่สุดจึงส่งผลให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2552 พบว่า มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์สะสม 50 ล้านตัน (Jiang และคณะ, 2012) และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นและมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 4 ต่อปี (Ravi, 2012) โดยในประเทศไทยพบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอิเล็กทรอนิคจากชุมชน จากร่างรายงานสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2557 กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอยู่ที่ประมาณ 376,801 ตันโดยคำนวณจากจากซากผลิตภัณฑ์ฯ เพียง 8 ชนิด ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ดังนั้น หากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทคาดว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยน่าจะสูงกว่านี้หลายเท่า (กรมควบคุมมลพิษ, 2558) เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีคุณลักษณะแตกต่างจากขยะทั่วไปโดยมีองค์ประกอบจากวัสดุหลายชนิด เช่น พลาสติก แก้ว โลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมีการทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมก็จะก่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของโลหะหนักที่มีพิษสูง เช่น ตะกั่ว (Pb) ปรอท (Hg) และแคดเมียม (Cd) (Robinson, 2009) อย่างไรก็ตามขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 75.5 (กรมควบคุมมลพิษ 2551) แต่กระบวนการรีไซเคิลของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยถูกถอดแยกหรือกำจัดโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเผาในที่โล่งเพื่อแยกชิ้นส่วนโลหะ การแช่ในน้ากรดเพื่อแยกทองคำ การกระทาเหล่านี้ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งเน้นความสนใจในการใช้จุลินทรีย์ทั้ง แบคทีเรีย ยีสต์ รา และสาหร่าย มาใช้ในการบำบัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในธรรมชาติมากขึ้นทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทางชีวภาพ ไม่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม และมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีการอื่นๆ จากการศึกษาของ Netpae, Suckley และ Phalaraksh (2014) พบว่า รา Humicola sp. ที่ ที่ใกล้เคียงกับเหมืองสังกะสี มีความทนทานต่อแคดเมียม และยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับแคดเมียมในน้ำสังเคราะห์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Netpae, Suckley และ Phalaraksh,2014 และ Netpae, 2015) ขณะที่ Willner และ Fornalczyk (2013) นำ กรดที่เกิดจากแบคทีเรีย Acidithiobacillus ferrooxidans มาช่วยในการชะล้างทองแดงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ และSaidan, Brown และ Valix (2012) พบว่ากรดอินทรีย์ (organic acid) ราสามารถชะล้างทองแดงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมุ่งใช้ รา Humicola sp. ได้มาจากตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมกับการนำกรดอินทรีย์ที่ผลิตจากรา Aspergillus niger และ รา Rhizopus sp. มาเป็นตัวชะล้างโลหะ เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยกระบวนการเผา ฝังกลบ หรือใช้สารเคมี ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ และก่อให้เกิดปัญหาในสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. ศึกษาปริมาณโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดนครสวรรค์ 2. ประเมินประสิทธิภาพ การชะโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยกรดอินทรีย์จากรา Aspergillus niger และ รา Rhizopus sp. ในสภาวะต่าง ๆ 3. ศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดโลหะหนักในขยะอิเล็กทรอนิกส์โดย รา Humicola sp. ในสภาวะต่าง ๆ
ขอบเขตของโครงการ :
1. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากโรงคัดแยกขยะในจังหวัดนครสวรรค์ 2. กรดที่ใช้ในกระบวนการชะโลหะ ได้แก่ กรดซิตริก (citric acid) และกรดแลคติก (lactic acid) ที่ได้จาก รา Aspergillus niger และ รา Rhizopus sp. ตามลำดับ 3. ราที่ใช้ในการศึกษาในการดูดซับโลหะหนักได้แก่ รา Humicola sp. ที่ได้จากตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 4. ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการในการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดโลหะหนักในขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยราที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนัก ได้แก่ระยะเวลาในการดูดซับ พีเอช และอุณหภูมิ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. สามารถบำบัดโลหะหนักในขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีสิทธิภาพมีโดยชีววิธีซึ่งไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับวิธี การฝัง เผา หรือใช้สารเคมีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน 2. มีการตีพิมพ์งานวิจัย ในวารสารวิชาการ ในระดับชาติหรือ นานาชาติ 3. มีการนำเสนองานวิจัย ในการประชุมวิชาการในระดับชาติหรือ นานาชาติ
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
การดำเนินการวิจัย การบำบัดโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยราที่มีประสิทธิภาพ แบ่งการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ศึกษาปริมาณโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดนครสวรรค์ 1. วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่าง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มาจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ของศูนย์คัดแยกขยะในจังหวัดนครสวรรค์ที่รอการบดอัด สุ่มตัวอย่างดัดแปลงจากวิธีของ ไพศาล ผดุงศิริกุล (2538) โดยนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบริเวณที่แตกต่างกัน อย่างน้อย 4 จุด นำมาเทกองรวมกันบนพื้นที่ที่เตรียมไว้ ทำการคลุกเคล้าให้องค์ประกอบต่างๆ กระจายกันอย่างทั่วถึง กองขยะในลักษณะสมมาตรรูปกรวยจากนั้นแบ่งขยะ ออกเป็น 4 ส่วน หรือควอเทอริง (quartering) เลือก 2 ส่วนที่กองอยู่ตรงกันข้ามมารวมกัน ส่วนที่เหลือแยกทิ้งไป ทำการควอเทอริงไปเรื่อยๆ จนได้กระทั่งได้ตัวอย่างขยะในประมาณ 5 กิโลกรัม 2. วิธีการเตรียมตัวอย่าง นำไปตากแดด 15 วัน และอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาผ่านการตัดให้มีขนาดน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร และเตรียมตัวอย่างเพื่อวัดปริมาณโลหะหนักตามวิธีของ Adaramovbgduและคณะ (2012) โดยนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการย่อย 1 กรัม ผสมกับกรดไนตริก (HNO3) และกรดไฮโดรคลอริกปริมาตร 5 และ 10 มิลลิลิตร ตามลำดับ นำมาย่อยโดยใช้ความร้อน จนกว่าควันสีน้ำตาลของไนตริกออกไซด์หมดไป นำสารละลายตัวอย่างกรองด้วยกระดาษกรองเบอร์ 42 และปรับปริมาตรด้วยน้ำปราศจากไอออนให้ได้ปริมาตร 100 มิลลิลิตร 3. วิธีการตรวจโลหะหนัก นำสารละลายที่ได้ไปวัดปริมาณโลหะหนัก ประกอบไปด้วย ทองแดง (Cu) ตะกั่ว (Pb) และแคดเมียม (Cd) ด้วยเครื่อง อะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (atomic absorption spectrophotometer) 4. ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนที่ 2. ประเมินประสิทธิภาพการชะโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยกรดอินทรีย์ 1. การเตรียมสปอร์ของรา Aspergillus niger และรา Rhizopus sp. เลี้ยงรา Aspergillus niger และรา Rhizopus sp. (ได้มาจากตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก) ในหลอดที่มีอาหารพีดีเอ วางเอียงปริมาณ 5 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ ห้องเป็นเวลา 3 วัน จนเกิดสปอร์เต็มที่จึงเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส จนกว่าจะนำมาใช้ในการศึกษาต่อไป (เพาะเลี้ยงเชื้อต่อเนื่องโดยเปลี่ยนอาหารใหม่ทุก 2 เดือน) โดยสปอร์ของราจะเตรียมโดยใช้สาร Tween 80 เข้มข้นร้อยละ 0.1 ที่ฆ่าเชื้อแล้ว 5 มิลลิลิตร ใส่ลงในหลอดสปอร์ที่มีอายุ 3 วัน ใช้เข็มเขี่ยเชื้อให้สปอร์กระจายเป็นสารแขวนลอย นับความหนาแน่นของเซลล์โดยใช้ฮีมาไซโตมิเตอร์ โดยเจือจางสปอร์ด้วยน้ำปราศจากไอออนให้สปอร์มีจำนวนอยู่ระหว่าง 106 – 107 สปอร์ต่อมิลลิลิตร ทั้งนี้เนื่องจากความหนาแน่นของสปอร์ราแต่ละชนิดมีไม่เท่ากัน 2. ประสิทธิภาพการชะล้างโลหะหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกสส์โดยกรดอินทรีย์จากรา 1) นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการย่อย 0.3 กรัม ลงในอาหารพีดีบี 80 มิลลิลิตร ใส่สปอร์ของรา Aspergillus niger และรา Rhizopus sp. จำนวน 106 – 107 สปอร์ ที่อุณหภูมิ (ประมาณ 28?2 องศาเซลเซียส) ห้องเขย่าด้วยเครื่องหมุนวน ที่ 150 รอบต่อนาที โดยปรับ พีเอชทุก 5 วัน ให้อยู่ที่ 5.6 ? 0.1 โดยใช้ HCl ความเข้มข้น 0.1 โมล (Kolen??k และคณะ, 2013) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการชะล้างโดยรากับ กรดซิตริก (citric acid) และกรดแลคติก (lactic acid) จากบริษัท (analytical reagent grade, AR) ที่ความเข้มข้น 0.05 โมล ในสารละลายปริมาตร 80 มิลลิลิตร ที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการย่อย 0.3 กรัม บ่มในสภาวะเช่นเดียวกับข้อ 2 2) ทำการเก็บตัวอย่างายจากข้อ 1) ออกมาในวันที่ 7 14 21 28 35 และ 42 วัน โดยทำการกรองตัวอย่าง นำสารละลายที่ผ่านการกรอง และตะกอนที่ได้ ไปผ่านการเตรียมตัวอย่าง ตามวิธีของ Adaramovbgdu et al. (2012) และหาปริมาณทองแดง ตะกั่ว และแคดเมียมด้วยเครื่องอะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (atomic absorption spectrophotometer) 3. ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของปริมาณโลหะหนักในอนุภาคขยะอิเล็กทรอนิกส์ และในสารละลายที่ได้ เปรียบเทียบเกิดกรดอินทรีย์จากการเลี้ยงรา และกรดอินทรีย์ที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้น โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science) โดยวิธีทางสถิติ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (one-way analysis of variance หรือ ANOVA)และ Post Hoc. duncan test (P<0.05) ส่วนที่ 3. ศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดโลหะหนักในขยะอิเล็กทรอนิกส์โดย รา Humicola sp. 1. การเตรียมสปอร์ของรา Humicola sp. รา Humicola sp. ได้จากตะกอนดินห้วยแม่ตาวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นราที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับแคดเมียม (Netpae, Suckley และ Phalaraksh,2014 และ Netpae, 2015) โดยการเตรียมสปอร์ของรา Humicola sp. เช่นเดียวกับกาเตรียมสปอร์ของรา Aspergillus niger และรา Rhizopus sp. ในการทดลองที่ 2 2. การเตรียมชีวมวลรา ทำการเลี้ยงรา Humicola sp. ในอาหารเลี้ยงเชื้อพีดีบี (PDB, Potato Dextrose Broth) เขย่าในเครื่องเขย่าแบบหมุนที่ 150 รอบต่อนาที อุณหภูมิ 30?2 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 72 ชั่วโมงล้างด้วยน้ำปราศจากไอออนและนำชีวมวลที่ได้มากรองและแบ่งชีวมวลออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1) ชีวมวลมีชีวิต (living biomass) โดยนำไมซีเลียมของรา Humicola sp. ที่ได้ล้างด้วยน้ำปราศจากไอออน ตรวจสอบการมีชีวิตของชีวมวลด้วยการทำให้เชื้อกระจายในจานเพาะเชื้อโดยใช้น้ำปราศจากไอออนเป็นตัวเจือจาง 2) ชีวมวลไม่มีชีวิตโดยใช้ความร้อน (heat treated biomass) โดยนำชีวมวลที่มีชีวิตของรา Humicola sp. เข้าหม้อนึ่งความดันไอที่ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้วนาน 20 นาที ทำให้แห้งในตู้อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง และบดให้มีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร 3) ชีวมวลไม่มีชีวิตที่ล้างด้วยกรด (acid washed biomass) โดยนำชีวมวลรา Humicola sp. ที่มีชีวิตแช่ด้วยสารละลายกรดไนตริกความเข้มข้นร้อยละ 10 โดยปริมาตร (v/v) เขย่าในเครื่องเขย่าแบบหมุนวนที่ 150 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ล้างด้วยน้ำปราศจากไอออน ทำให้แห้งในตู้อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง และบดให้มีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร 4) ชีวมวลไม่มีชีวิตที่ล้างด้วยเบส (base washed biomass) ) โดยนำชีวมวลรา Humicola sp. ที่มีชีวิตแช่ด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก (w/v) เขย่าในเครื่องเขย่าแบบหมุนวนที่ 150 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ล้างด้วยน้ำปราศจากไอออน ทำให้แห้งในตู้อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง และบดให้มีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร 3. ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับโลหะจากสารละลายชะโลหะ นำชีวมวลที่ได้ทั้ง 4 กลุ่มทำการดูดซับสารละลายชะโลหะจากการทดลองที่ 2 โดยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมการดูดซับโลหะจากสารละลายชะโลหะดังนี้ 1) อิทธิพลของอุณหภูมิ ผลของอุณหภูมิต่อการโลหะหนัก โดยทำการเขย่ารา Humicola sp. กับสารละลายทองแดง ตะกั่ว และแคดเมียม ที่อุณหภูมิ 30 40 50 60 และ 70 องศาเซลเซียส 2) อิทธิพลของพีเอช ศึกษาผลของพีเอชของสารละลายโลหะหนัก ที่พีเอช 3 4 5 6 และ7 โดยใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ เมื่อต้องการปรับค่าพีเอชเป็นเบสและใช้สารละลายกรดไนตริก เมื่อต้องการปรับค่าเป็นกรด 3) อิทธิพลของเวลาในการดูดซับ ศึกษาผลของระยะเวลาที่เหมาะสมที่ราจะสัมผัสกับโลหะหนัก โดยเขย่ารากับสารละลายโลหะหนัก เป็นเวลา 30 60 90 120 150 และ180นาที กรองและนำสารละลายที่กรองได้มาตรวจวัดปริมาณทองแดง ตะกั่ว และแคดเมียม ด้วยเครื่อง อะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (atomic absorption spectrophotometer) 4) ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของปริมาณการดูดโลหะหนัก ระหว่างชีวมวลมีชีวิต ชีวมวลไม่มีชีวิตด้วยความร้อนแห้ง ชีวมวลไม่มีชีวิตที่ล้างด้วยกรด และชีวมวลไม่มีชีวิตที่ล้างด้วยเบส จะใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science) โดยวิธีทางสถิติ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (one-way analysis of variance หรือ ANOVA)และ Post Hoc. duncan test (P<0.05)
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัญหาระดับโลก แต่กระบวนการรีไซเคิลของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยถูกถอดแยกหรือกำจัดโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเผาในที่โล่งเพื่อแยกชิ้นส่วนโลหะ การแช่ในน้ากรดเพื่อแยกทองคำ การกระทาเหล่านี้ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นความสนใจในการใช้ รา มาทำการชะโละหนักจากขยะอิเล็กทรอนิกซ์ และดูดซับโลหะหนักที่ชะออกมาโดยราที่มีประสิทธิภาพ
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
รองศาสตราจารย์ทินพันธุ์ เนตรแพ
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
100%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru