รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The Development of the Distributions for Processed Agricultural Products in Nakhon Sawan Province by the Electronic Commerce
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
29 ตุลาคม 2561
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         “สินค้าเกษตรแปรรูป” เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป เป็นการช่วยป้องกันการล้นตลาดของสินค้าเกษตร ซึ่งช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร ไม่ให้ตกต่ำ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งนำมาแปรรูปเป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถรับวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าจำนวนมากได้ การแปรรูปให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถขยายตลาดการค้าออกไปสู่ต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มพูน รายได้ให้แก่ประชาชนรากหญ้า และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในประเทศไทยมีมาต่อเนื่อง จนทำให้ภาพการออกมาประท้วงของเกษตรกรกลายเป็นภาพชินตา และบางครั้งก็ลุกลามบานปลายไปถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งที่ผ่านมามักไม่ค่อยได้รับการแก้ไขในลักษณะสร้างความยั่งยืน เน้นการแทรกแซงราคาเฉพาะหน้าเป็นหลัก การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สามารถนำมาช่วยในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของเกษตรกรได้ ซึ่งเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ช่วยเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นเวลานานได้โดยไม่เน่าเสีย ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีรูปแบบและรสชาติแตกต่างจากเดิม ช่วย เพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ทำให้บริโภคสะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ยัง ช่วยเพิ่มช่องทางของตลาดให้มากขึ้น ตลอดจนช่วยกระจายปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดใน ปริมาณที่สมดุล นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือจึงเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง และมีความสำคัญตรงที่เป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณที่รู้จักกันในนาม “ปากน้ำโพ” จังหวัดนครสวรรค์มีอาณาเขตติดต่อกับ จังหวัดกำแพงเพชรและพิจิตรทางด้านทิศเหนือ ส่วนทิศตะวันออกติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี ทิศใต้ติดกับจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี ส่วนทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์จัดรูปการปกครองตามลักษณะการปกครองส่วนภูมิภาคโดยแบ่งออกเป็น 15 อำเภอ 1,433 หมู่บ้าน 128 ตำบล และจัดรูปการปกครองตามลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาล 19 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 123 แห่ง ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แรงซื้อลดลง สินค้ามีการแข่งขันกันมากขึ้น การวางแผนการใช้เทคโนโลยีทางด้านจัดจำหน่ายสินค้าไปสู่เป้าหมายให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การวางแผนการตลาด การประชาสัมพันธ์สินค้า ดังนั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ คณะผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่สนใจได้ใช้เป็นแนวทางในศึกษาพัฒนาต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาจากการดำเนินงานทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ 3. เพื่อประเมินผลเทคโนโลยีช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบเจาะจง (purposive area) ซึ่งเป็นการศึกษากรณีเฉพาะและเฉพาะพื้นที่ คือ สินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และคณะผู้วิจัยจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากร 1 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป จำนวน 50 กลุ่ม และเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 2 ระดับ คือ 1. ข้อมูลทุติยภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากเอกสารและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. ข้อมูลปฐมภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลได้จากการสังเกตและสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ได้แก่ ศึกษาสภาพทั่วไป การวางกลยุทธ์ทางการตลาด สภาพปัญหาทางการตลาด แนวคิดทางการตลาด การซื้อขายสินค้าด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และความเป็นไปได้ในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ทราบถึงสภาพปัญหาจากการดำเนินงานทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ 2. สามารถนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของการดำเนินงานทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ หรือแนวทางในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ 3. สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำงานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การตัดสินใจนำเอาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจได้มากที่สุด
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         1. ศึกษาเอกสาร งานวิจัย ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แนวคิดทางการตลาด การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า และการซื้อ-ขายสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2. วางแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย กำหนดขอบเขตของระบบ กำหนดประเด็นในการเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูล วางแผนการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล พัฒนาเครื่องมือเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ ดำเนินการนัดหมายและลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่กำหนด 3. วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคการดำเนินงานทางการตลาด ด้วยวิธี SWOT ของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ 4. การวิเคราะห์ระบบ ศึกษาทำความเข้าใจกับสภาพปัจจุบัน และสภาพปัญหาของการดำเนินงานทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อย่างละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางสำหรับการออกแบบระบบงานให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน โดยนำข้อมูลความต้องการระบบงานใหม่มาวิเคราะห์นำเสนอแนวทางสำหรับการออกแบบระบบใหม่โดยใช้แบบจำลอง ได้แก่ แผนภาพบริบท (Context Diagram) แผนภาพกระแสข้อมูล (Data Flow Diagram) แผนภาพความสัมพันธ์ของข้อมูล (E-R Diagram) ตารางข้อมูล (Data Table) และทำการบันทึกและการวิเคราะห์ข้อมูล 5. การออกแบบระบบ ตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นระบบงานใหม่ ได้แก่ การออกแบบสิ่งนำออก (Output Design) ประกอบด้วย การออกรายงานทางจอภาพ การออกรายงานทางเครื่องพิมพ์ การออกแบบสิ่งนำเข้า (Input Design) ประกอบด้วย จอภาพนำเข้าข้อมูล 6. การนำระบบไปใช้ การนำสิ่งที่ได้จากการออกแบบมาพัฒนาเป็นระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการทดสอบ (Testing) ดำเนินการทดสอบระบบ คณะผู้วิจัยจะเป็นผู้ทดสอบเองโดยแบ่งขั้นตอนการทดสอบออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ทดสอบในระหว่างที่ทำการพัฒนาระบบ โดยผู้พัฒนาระบบ ซึ่งใช้ข้อมูลจำลอง และใช้เทคนิคการทดสอบแบบ Black Box Testing ทดสอบขั้นสุดท้ายเมื่อทำการพัฒนาระบบเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งใช้ข้อมูลเสมือนจริง และใช้เทคนิคการทดสอบแบบ Black Box Testing 7. ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลการวิจัยแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยใช้วิธีการนำเสนอผลการวิจัย “การใช้งานช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป 8. การประเมินผลระบบ ในการประเมินผลระบบคณะผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินผลระบบ ได้แก่ ผู้ใช้งานช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 30 คน การเก็บรวบรวมข้อมูล คณะผู้วิจัยนำแบบประเมินไปแจกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา โดยทำการแจกแบบประเมินและเรียกคืนโดยคณะผู้วิจัย
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรแปรรูป ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พัฒนาระบบ เผยแพร่ระบบ ประเมินผลระบบ
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายสุเมธ พิลึก นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 70%
2 นางสาวจิตาพัชญ์ ไชยสิทธิ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 15%
3 นางสาวลฎาภา แผนสุวรรณ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 15%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย