มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
รูปแบบระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Information System Model for Tourism Knowledge of Nakhon Sawan Province.
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่ระบุ
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2555
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2556
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นประตูสู่ภาคเหนือ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง และจังหวัดนครสวรรค์ยังเป็นจังหวัดที่สำคัญคือ เป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำสายสำคัญๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “ปากน้ำโพ” หรือต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านไหลมาบรรจบกันที่นี่ และเป็นที่ตั้งของบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ บึงบอระเพ็ด (สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, เว็บไซต์) การท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจังหวัดเป็นอย่างมาก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน ด้วยการปรับโครงสร้างภาคบริการให้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของภูมิภาคบนฐานความโดดเด่นและหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และความเป็นไทย โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มของชุมชนในรูปแบบต่างๆ โดยจังหวัดนครสวรรค์เองมีแหล่งทรัพยากรทางการท่องเที่ยว และธรรมชาติที่น่าสนใจอย่างยิ่งนั่นคือ บึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูกพืชน้ำ แหล่งน้ำสำหรับสัตว์ต่างๆ แหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ในภาคกลางของประเทศ ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำและแหล่งประมงที่สำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่น และเป็นแหล่งวิทยาการเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการทำการประมงพื้นบ้าน ซึ่งสืบทอดกันมาเป็นวิถีชีวิตหลายชั่วคน และเป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยว หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน หรือเป็นการพักผ่อน การหาความรู้ ครอบคลุมถึงการเดินทางเพื่อธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่มีความน่าสนใจ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นเป็นที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชน และนักท่องเที่ยว อาทิเช่น พันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์ไม้น้ำ จระเข้ นก เป็นต้น ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งที่อยู่ในนครสวรรค์ และจังหวัดอื่นๆ ภายในประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศก็นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อศึกษา ค้นคว้าวิจัย ทำให้ทราบถึงชนิดและปริมาณของประชากรปลา ชนิดและปริมาณของแพลงค์ตอนและสัตว์หน้าดิน ชนิดและการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้น้ำ อุปนิสัยการกินอาหารของปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชาวประมงในบึงบอระเพ็ด ตลอดจนปัญหาที่พบในบึงบอระเพ็ด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงบึงบอระเพ็ดให้มีพันธุ์ปลาหลายชนิดชุกชุม เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการในการทำการประมง และการบริโภคของประชาชน และป้องกันมิให้สัตว์น้ำทุกชนิดที่อาศัยในบึงบอระเพ็ดมีปริมาณลดน้อยลงมาก จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุด การจะพัฒนาการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ดให้ไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการประมวลองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับความหลากหลายของทุนในชุมชนที่มีลักษณะเป็นองค์รวม จากแนวคิดเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ดให้ไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มี ความสมดุลและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการประมวลองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่นั้น ผู้ศึกษาจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบระบบสารสนเทศ โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในด้านการจัดการสารสนเทศ และรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อจัดเก็บ รวบรวม และเผยแพร่ สารสนเทศในรูปแบบฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์สำหรับผู้ที่สนใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้จำกัดขอบเขตการวิจัยได้ดังนี้ 1) ขอบเขตด้านพื้นที่ พื้นที่ที่ผู้ศึกษาได้เลือกศึกษาบึงบอระเพ็ด โดยผู้วิจัยมีเหตุผลในการเลือกพื้นที่ดังนี้ - บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ และเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูกพืชน้ำ แหล่งน้ำสำหรับสัตว์ต่างๆ แหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ในภาคกลางมีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นเป็นที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชน และนักท่องเที่ยว มีหน่วยงานของรัฐและเอกชน สนับสนุนอยู่ในเขตพื้นที่ 2) ขอบเขตด้านเนื้อหา สำหรับเนื้อหาในการวิจัยครั้งนี้ ได้กำหนดไว้โดยสังเขป ซึ่งเป็นการวางประเด็นการศึกษาไว้อย่างกว้างๆ เพื่อใช้ทำการศึกษาดังต่อไปนี้ 2.1 บริบทชุมชน 2.1.1 ความเป็นมาของจังหวัดนครสวรรค์ 2.1.2 สภาพเศรษฐกิจ 2.1.3 โครงสร้างสังคม 2.1.4 สถานที่ท่องเที่ยว 2.1.5 ประเพณี วัฒนธรรม 2.2 การศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2.2.1 องค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว 2.2.2 ธรรมชาติที่น่าสนใจและความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นของบึงบอระเพ็ด 2.2.3 พันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์ไม้น้ำ จระเข้ นก 2.2.4 การทำการประมงในบึงบอระเพ็ด 2.2.5 ความรู้เกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด 3) ขอบเขตด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ 3.1 ระบบฐานข้อมูล แหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มุ่งเน้น องค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ธรรมชาติที่น่าสนใจและความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นของบึงบอระเพ็ด 3.2 พัฒนาเว็บไซต์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1) ได้ข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ให้กับประชาชนที่สนใจ และเป็นข้อมูลการเรียนรู้ให้กับชนรุ่นหลังต่อไป 2) ได้รูปแบบระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการท่องเที่ยว ประเพณีวัฒนธรรม ของจังหวัดนครสวรรค์ 3) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ประเพณี วัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
1) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการค้นคว้าหาข้อมูลตามห้องสมุด อินเตอร์เน็ต และ ผู้มีประสบการณ์ทางการวิจัย 2) ศึกษาและสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในสนาม โดยการสำรวจและสังเกตด้วยตนเอง และสัมภาษณ์พูดคุยกับนักท่องเที่ยว ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้ผู้ศึกษาได้เลือกศึกษาพื้นที่การทำวิจัยด้วยเหตุผลดังนี้ - บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ และเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ - เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูกพืชน้ำ แหล่งน้ำสำหรับสัตว์ต่างๆ แหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ในภาคกลาง - มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นเป็นที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชน และนักท่องเที่ยว - มีหน่วยงานของรัฐและเอกชน สนับสนุนอยู่ในเขตพื้นที่ 3) สร้างและเลือกเครื่องมือในงานวิจัย - การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ด้วยการกำหนดหัวข้อที่จะทำการศึกษาไว้กว้างๆ ล่วงหน้าในลักษณะคำถามปลายเปิดเพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ปราชญ์ชาวบ้าน ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ศึกษา - สังเกตแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม โดยเข้าร่วมสังเกตการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และสังเกตการณ์มีส่วนร่วม โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริม การท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ของจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ และเวลาในการจัดกิจกรรม - การสัมภาษณ์ โดยจัดกลุ่มสนทนา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำตอบ ในการศึกษาความคิดเห็นและทัศนะของประชากรที่ทำการศึกษา 4) เก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยกำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ - กลุ่มผู้อาวุโสที่มีชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ - กลุ่มผู้นำ คณะกรรมการ ได้แก่ ผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมหมู่บ้าน หรือคณะกรรมการกลุ่มกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ - อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนหนุ่ม สาว หรือประชาชนทั่วไปที่มีได้รับความรู้จากการศึกษาระบบใหม่ เพื่อมองความเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ - การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยเน้นที่กลุ่มผู้อาวุโส ผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมหมู่บ้าน หรือ คณะกรรมการกลุ่มกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 5) วิเคราะห์ข้อมูล โดยวิเคราะห์ในด้านภาพรวมของการจัดการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดนครสวรรค์ แล้วสรุปมาเป็นรูปธรรม ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในงานวิจัยครั้งนี้ 6) พัฒนาฐานข้อมูล โดยนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาจัดเก็บในรูปแบบระบบฐานข้อมูล โดยใช้ฐานข้อมูล My SQL ในการสร้างฐานข้อมูล 7) ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ในการแสดงผลเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของเว็บไซต์และเหมาะสมกับการใช้งาน จึงต้องออกแบบและใช้สีสันให้อ่านง่าย และมีสารสนเทศที่น่าสนใจ โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ด้านการออกแบบ หรือ โปรแกรมสำเร็จรูปในงานการพัฒนา 8) ประเมินผลระบบสารสนเทศ ประเมินประสิทธิภาพการใช้งานของระบบ โดยใช้ค่ามาตราส่วนของลิเกิร์ต (Likert Scale) คำนวณหาค่าร้อยละของคำตอบแต่ละหัวข้อการประเมิน และหาค่าเฉลี่ยรวมของแต่ละคำตอบ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นางสาวจิตาพัชญ์ ไชยสิทธิ์
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
50%
2
นางวิไลลักษณา สร้อยคีรี
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมวิจัย
50%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru