รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The development learning process about the art cultural and local wisdom of the students to support in a guideline for cultural tourism as participatory community Sakae Krang River Uthai Thani Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะครุศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
30 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
29 ตุลาคม 2561
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
          การปฏิรูปการเรียนรู้อันเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้รายปี/รายภาค และการเรียนรู้ของแต่ละเรื่องไว้ ให้สถานศึกษากำหนดโครงสร้างเป็นสาระการเรียนรู้ จำนวนเวลาไว้อย่างกว้างๆ และนำโครงสร้างดังกล่าวไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษา โดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความพร้อม เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดกิจกรรมให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น เกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง ผสมผสานความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ (สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ : 2547) กระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ถือว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกจริงหรือชีวิตจริง การเรียนวิชาในห้องเรียนยังเป็นการเรียนแบบสมมติ“ดังนั้นครูเพื่อศิษย์จึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์”ได้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุด ครูเพื่อศิษย์ต้องเปลี่ยนเป้าหมายการเรียนรู้ของศิษย์จากเน้นเรียนวิชาเพื่อได้ความรู้ ให้เลยไปสู่การพัฒนาทักษะที่สำคัญต่อชีวิตในยุคใหม่ ย้ำว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ ต้องเรียนให้เกิดทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหน้าที่ของครูเพื่อศิษย์จึงต้องเปลี่ยนจากเน้น“สอน”หรือสั่งสอนไปทำหน้าที่จุดประกายความสนใจใฝ่รู้ (inspire) แก่ศิษย์ ให้ศิษย์ได้เรียนจากการลงมือปฏิบัติ (learning by doing) และศิษย์งอกงามทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 นี้ จากการลงมือปฏิบัติของตนเป็นทีมร่วมกับเพื่อนนักเรียน เน้นการงอกงามทักษะในการเรียนรู้ และค้นคว้าหาความรู้มากกว่าตัวความรู้ ครูเพื่อศิษย์ต้องเปลี่ยนแนวทางการทำงานจากทำโดดเดี่ยว คนเดียว เป็นทำงานและเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูเป็นทีม โดยมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย อันได้แก่ กระบวนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ เป็นแนวคิดหรือความเชื่อที่สนับสนุนให้คนเราปฏิบัติสิ่งต่างๆด้วยตนเองตามความสนใจ ตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้นมีความพิเศษตรงที่นักท่องเที่ยวจะเน้นที่การศึกษาหาความรู้ในพื้นที่หรือบริเวณที่มีคุณลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สถานที่ดังกล่าวจะมีการบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ ผ่านทางประวัติศาสตร์อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้และการให้คุณค่าของสังคมโดยสามารถสะท้อนให้เห็นถึง สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดีไม่ ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งนอกเหนือจากสถานที่แล้ว เทศกาลและงานฉลอง รวมไปถึงสินค้าพื้นเมืองในพื้นที่ต่างๆ จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการอนุรักษ์และการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นความภาคภูมิในของประเทศแล้ว ยังมีคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา และมานุษยวิทยา อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศผ่านทางการ ท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีเป็นที่น่ากังวลว่าผลจากการท่องเที่ยวที่เพิ่ม สูงขึ้นจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว และการสูญเสียมูลค่าทางวัฒนธรรม จึงอาจจะกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนดาบสองคมถ้าไม่มีการวางแผนอย่างเหมาะสมการจัดการเพื่อรักษาสมดุลของการพัฒนาการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อนำไปสู่การวางแผนและการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(กาญจนา แสงลิ้มสุวรรณและศรันยา แสงลิ้มสุวรรณ(ออนไลน์ : 2559) การมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของท้องถิ่น มีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ ซึ่งมีความรักความหวงแหน การพึ่งพิง และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยชุมชนจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการเจริญเติบของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อที่จะคงสภาพความสมบูรณ์ต่อไป และมีความส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรัก ภาคภูมิใจ และหวงแหน รวมถึงมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่กล้าแสดงออกถึงการเป็นเจ้าของชุมชน เจ้าของท้องถิ่น นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป วิถีความเป็นอยู่ของชุมชนเรือนแพ ก็เหมือนกับชุมชนทั่วไปมีผู้นำชุมชนก็คือแพผู้ใหญ่ ซึ่งองค์ประกอบก็คล้ายคลึงกับชุมชนบนบก ส่วนอาชีพของชาวเรือนแพ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำการประมงน้ำจืด โดยการเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งก็มีทั้งปลาสวาย ปลาแรด ปลาเทโพ โดยเฉพาะปลาแรดที่เลี้ยงในกระชังของที่นี่ถือว่าขึ้นชื่อเรื่องเนื้อนุ่ม หวาน อร่อยกว่าที่อื่น ๆ นอกจากจะเลี้ยงปลาในกระชังแล้ว ชาวเรือนแพก็ยังจับปลาจากในลำน้ำสะแกกรัง หรือแหล่งน้ำอื่นๆ มาทำเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม แล้วนำไปขายในตลาด เพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของรายได้เหล่านั้นก็ต้องนำไปซื้อลูกบวบมาซ่อมแซมแพเพื่อให้ยังคงลอยอยู่ได้ จะเห็นได้ว่า ความเป็นบริบทท้องถิ่น ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชุมชนของไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมีความอุดมสมบูรณ์ทุกภูมิภาค หากการจัดการศึกษาจัดให้ทุกคนรักหวงแหน ทรัพยากรในท้องถิ่น รู้จักอนุรักษ์ และพัฒนาก็จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าได้ ปัจจุบันนี้ กระแสโลกกำลังให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชนท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น จะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปลูกฝังพัฒนาให้เยาชนเกิดสำนึกรักท้องถิ่น รักบ้านเกิด รักภูมิภาคของตน และรักประเทศของตนในที่สุด ดังนั้น การพัฒนาบทเรียนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนในท้องถิ่นเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการท้องถิ่นไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้เรียนในชุมชนเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรังได้เรียนรู้ รักและหวงแหน และยังคงสืบสานวัฒนธรรม ความเป็นบริบทท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำสะแกกรังต่อไป จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเรื่อง การพัฒนาทักษะการเรียนรู้เรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อออกแบบและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความรู้สึกที่ดี มีความสุขกับการเรียนเป็นคนเก่ง ฉลาด รู้จักคิดวิเคราะห์และใฝ่รู้ตลอดเวลา ส่งเสริมให้ผู้เรียน รัก หวงแหน ภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของชุมชน และเรียนรู้และและสืบสาน อนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ในท้องถิ่นของตน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 2. เพื่อสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 3. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 4. เพื่อศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 5. เพื่อศึกษาแนวทางและข้อเสนแนะในการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี
ขอบเขตของโครงการ :
1. รูปแบบการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) มีวิธีดำเนินการวิจัยโดยวิเคราะห์จากเอกสารที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการสำรวจ สัมภาษณ์ ทดลอง และจัดเวทีชาวบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อพัฒนาหน่วยการเรียนรู้และสร้างเป็นแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของวัฒนธรรมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี 2. ขอบเขตด้านเนื้อหา คือ การวิจัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม 3. ขอบเขตด้านประชากร ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 บุคคลในชุมชน องค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน และ กลุ่มที่ 2 ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในชุมชน กลุ่มที่ 3 บุคลากรสังกัดสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุทัยธานี 4. ขอบเขตด้านแหล่งข้อมูล แหล่งข้อมูล มี 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งที่ 1 ข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ ข้อมูลที่ศึกษาโดยตรงจากบุคคลในชุมชน องค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน แหล่งที่ 2 ข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลที่ศึกษาจากเอกสารวิชาการ สิ่งพิมพ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 5. ขอบเขตด้านพื้นที่ ได้แก่ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และโรงเรียนบริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้ฐานข้อมูลทรัพยากรด้านวัฒนธรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 2. ได้แผนการจัดการเรียนรู้ในการศึกษาเรียนรู้ข้อมูลด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชาวแพลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และบริบทเชิงวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 3. ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รัก หวงแหน และภาคภูมิใจ กล้าแสดงออก แนะนำแหล่งท่องเที่ยว และอยู่ร่วมกับสังคมในท้องถิ่นของตนได้อย่างปกติสุข 4. ได้ทราบความคิดเห็นของครู นักเรียน และตัวแทนชุมชนในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 5. ได้แนวทางและข้อเสนอแนะในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานี 6. เกิดเครือข่ายความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมและเครือข่ายการวิจัยแบบมีส่วนร่วม
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนดำเนินการวิจัย 1. ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเก็บข้อมูล โดยใช้เทคนิค AIC และหรือ PRA สำรวจ สัมภาษณ์เจาะลึก เสวนากลุ่ม การสังเกต จัดประชุมกลุ่มย่อย และทดลองปฏิบัติการตามแนวทางที่ได้ 2. แหล่งข้อมูล 2.1 แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลระดับชุมชนเพื่อให้ได้แนวคิดทฤษฎีที่สามารถนำไปใช้ในการวางแนวทางในการศึกษาพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาและการอภิปรายอ้างอิง 2.2 ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ศึกษาได้จากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชากรที่ศึกษา และเป็นการศึกษารายละเอียดต่อเนื่องจากข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการออกแบบพัฒนาหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และจัดประชุมกลุ่มย่อยแนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดอุทัยธานี 3. กลุ่มประชากร ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 บุคคลในชุมชน องค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชน และ กลุ่มที่ 2 ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในชุมชน กลุ่มที่ 3 บุคลากรสังกัดสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุทัยธานี 4. ขั้นตอนการดำเนินการวิจัยมี 5 ขั้นตอนดังนี้ 1.ศึกษาทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 1.1 ศึกษาสำรวจทรัพยากรด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง 1.2 ศึกษาสำรวจ สอบถามและสัมภาษณ์ข้อมูลทรัพยากรด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง 2.สร้างแผนการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 2.1. วิเคราะห์องค์ความรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง 2.2. กำหนดสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น 2.3. จัดทำหน่วยการเรียนรู้ 2.4. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้, สื่อ และนวัตกรรม, เครื่องมือวัดและประเมินผล 2.5. นำไปทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม 3.ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 3.1.จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3.2.ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน 3.3.ประเมินกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน 4.ศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 4.1ศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม 5.ศึกษาแนวทางและข้อเสนแนะในการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 5.1ศึกษาแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 5.2ศึกษาข้อเสนแนะในการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
การวิจัย เรื่อง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในเขตลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เป็นการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความรู้สึกที่ดี มีความสุขกับการเรียนเป็นคนเก่ง ฉลาด รู้จักคิดวิเคราะห์และใฝ่รู้ตลอดเวลา ส่งเสริมให้ผู้เรียน รัก หวงแหน ภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของชุมชน และเรียนรู้และและสืบสาน อนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ในท้องถิ่นของตน
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวเรศ ภักดีจิตร นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 60%
2 นางสาวภิรญา โพธิพิทักษ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%
3 นางสาวจรินทร สุขขานน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย