รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The Approach for Cultural Tourism Management Through the Participation of Cultural Communities in Nakhon Sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
28 พฤศจิกายน 2555
วันสิ้นสุดโครงการ :
27 พฤศจิกายน 2556
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         กระแสสังคมที่เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นรากฐานสำคัญที่ยึดคนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางภายใต้สถานการณ์ของสังคมฐานความรู้ ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน (Community Culture) ที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน เชื่อว่าชาวบ้านมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง การจัดการจากฐานคิดที่ยึดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวตั้งมุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนท้องถิ่นได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึง ความเจริญงอกงามในด้านต่าง ๆ ของคน สังคม และวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ปราชญ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปะและประเพณี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างสิ่งใหม่และดำรงสภาพเดิม เพื่อสร้างความเข้าใจและรับรู้ความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยนำเอามิติเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานคนชุมชนเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทาง สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง การคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น และเกิดการเรียนรู้ระหว่างคนในและคนนอก ชุมชนวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีการกระจายตัวในพื้นที่อำเภอต่างๆ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน กลุ่มชาติพันธุ์มอญ และชุมชนที่สัมพันธ์กับมิติทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมากระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด หน่วยงานในระดับท้องถิ่นในการสืบค้นและถอดบทเรียนจากคนในพื้นที่ เกิดกลุ่มเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและมีการส่งเสริมกิจกรรมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดถนนคนเดินวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ การอนุรักษ์และฟื้นฟูการละเล่นต่างๆ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพสตรีตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มพัฒนาผู้สูงอายุ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลาและกลุ่มเยาวชนเพื่อสืบสานวัฒนธรรมและประเพณี และในปี พ.ศ.2551-2553 ชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทอง และชุมชนเขาไม้เดน ได้มีการพัฒนาหมู่บ้านเกิดการจัดการชุมชนในเชิงกายภาพ (คุ้ม) และทางแกนนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล ได้ร่วมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาหมู่บ้านในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งในการพัฒนา โดยมีการประสานความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ สภาวัฒนธรรมอำเภอ และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ จากเหตุผลดังกล่าว ทีมนักวิจัยเห็นว่าการอนุรักษ์ พัฒนาเพื่อต่อยอดวัฒนธรรมโดยการนำมิติทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในการอนุรักษ์ โดยอาศัยวิธีการพัฒนาท้องถิ่น (Means)ที่ยึดชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาร่วมกับองค์การท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายอาศัยกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคมของชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เกิดการตระหนักเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมเพื่อรองรับการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรท้องถิ่น
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อศึกษาศักยภาพชุมชนด้านการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ ชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทองและชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดนเพื่อรองรับการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแลท้องถิ่น 2) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคมของชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทองและชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ 3) เพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทองและชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดน โดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
ขอบเขตของโครงการ :
ขอบเขตด้านพื้นที่ กำหนดพื้นที่ชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนนอำเภอท่าตะโก ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรีและชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตเนื้อหา งานวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาสถานภาพชุมชนวัฒนธรรม ด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี งานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทอง และชุมชนวัฒนธรรมเขาไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี ศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในด้านความพร้อม ความมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ คุณค่าทางการเรียนรู้ ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ด้านบุคลากร ด้านการรองรับของชุมชนและด้านสภาพแวดล้อม รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคมของชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทอง และชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1) ได้ชุดความรู้เกี่ยวกับศักยภาพชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทองและชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดนในการการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น 2) ได้รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคมของชุมชนวัฒนธรรมไททรงดำบ้านหนองเนิน ชุมชนวัฒนธรรมบ้านเขาทอง และชุมชนประวัติศาสตร์บ้านเขาไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ 3)ได้แนวทางในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนการดำเนินงาน 1) ขั้นการเตรียมความพร้อมได้แก่ การเตรียมการประชุมชี้แจงโครงการระหว่างทีมนักวิจัยส่วนกลางและนักวิจัยในพื้นที่ จัดประชุมเตรียมการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน จัดเวทีระดมความคิดเห็นร่วมกันเพื่อจัดทำเครื่องมือในการเก็บข้อมูลองค์ความรู้และการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพองค์ความรู้ 2) ขั้นค้นหาศักยภาพและแนวทางการพัฒนา ได้แก่ จัดเวทีระดมความคิดและถอดบทเรียนวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เป้าหมาย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนและการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการพัฒนาและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน 3) ขั้นการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ชุมชน ได้แก่ จัดเวทีระดมความคิดและถอดบทเรียนเกี่ยวกับศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยจัดกิจกรรมและการดำเนินการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน และถอดบทเรียนองค์ความรู้ในการดำเนินการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรภพ วงค์รอด นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย