มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ระบบจัดการงานวิจัย
NSRU
RESEARCH
หน้าหลัก
ค้นหารายการ
ข้อมูลงานวิจัย
ข้อมูลนักวิจัย
รายงานสถิติ
งานวิจัย
งานทรัพย์สินทางปัญญา
เข้าสู่ระบบ
รายละเอียดโครงการวิจัย
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบมาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ จังหวัดนครสวรรค์ แบบใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
A Guideline for Bringing the Knowledge of Design for Local Wisdom to be Commercial Products of Ban Mon Pottery, Nakhon Sawan Province, Using Community - Based Learning
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
สถาบันวิจัยและพัฒนา
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 พฤษภาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 เมษายน 2561
ประเภทของการวิจัย :
ไม่ระบุ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
การออกแบบ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณค่า และมูลค่าสู่ผู้บริโภค ต้องพึ่งพาและพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รากหญ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุดิบต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตและแรงงานชุมชนระดับรากหญ้า นักออกแบบ นักธุรกิจ ผู้ลงทุนและนักการตลาด ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีความรับผิดชอบต่อชุมชน ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอันจะนำไปสู่การสูญสิ้น อัตลักษณ์หรือคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมองภาพรวมของเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (อรัญ วานิชกร,2559:35) การจะทำงาน ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น นักออกแบบควรที่จะศึกษา ประวัติความเป็นมาความสำคัญ ตลอดจนรูปแบบของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม การเก็บข้อมูลด้วยการร่างภาพ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จะทำให้เกิดประสบการณ์จากทักษะการมองเห็น เกิดความคุ้นเคยกับเส้นสาย รูปทรง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น คือ สุนทรียภาพ เมื่อเกิดการซาบซึ้งในภูมิปัญญาท้องถิ่น จะก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเดิม ช่วยให้เกิดการพัฒนารูปแบบที่คงไว้ ซึ่งเอกลักษณ์และเรื่องราวอันทรงคุณค่าของภูมิปัญญา (อรัญ วานิชกร, 2559 :7) หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ OTOP เป็นคำย่อที่มาจาก One Tambon One Product ที่นำรูปแบบแนวคิดมาจากประเทศญี่ปุ่นในโครงการ OVOP หรือ OneVillage One Product ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบร้านค้าเครือข่ายและอินเตอร์เน็ต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนเข็มแข็ง พึ่งตนเองได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการ ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จึงเป็นโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (กรมพัฒนาชุมชน, 2556 : ออนไลน์) จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบนของประเทศไทย คาบเกี่ยวระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือโดยทางรถยนต์เป็นระยะทาง 237 กิโลเมตร ทางรถไฟเป็นระยะทาง 250 กิโลเมตร จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ประมาณ 9,594.677 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,998,548 ไร่ แบ่งเขตการปกครองเป็น 15 อำเภอ คือ อ.เมืองฯ อ.เก้าเลี้ยว อ.โกรกพระ อ.ชุมแสง อ.ตากฟ้า อ.ตาคลี อ.ท่าตะโก อ.บรรพตพิสัย อ.พยุหะคีรี อ.ไพศาลี อ.ลาดยาว อ.หนองบัว อ.แม่วงก์ อ.แม่เปิน อ.ชุมตาบง เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย นครสวรรค์เป็นจังหวัดขนาดกลาง รูปร่างของจังหวัด มีลักษณะเป็นแนวยาวขวาง ในแนวทิศตะวันตก ทิศตะวันออกรูปร่างคล้ายๆ ผีเสื้อกลางปีก ในอำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์มีหมู่บ้านหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้ทำการประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผา สืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จนถึงปัจจุบัน อาชีพเครื่องปั้นดินเผาก็ยังปรากฏให้เห็น ในหมู่บ้านและเป็นอาชีพหลัก ซึ่งแตกต่างกับหมู่บ้านอื่นในตำบล ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำสวนหรือทำไร่ หมู่บ้านที่กล่าวมานี้ คือ หมู่บ้านมอญ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ชาวไทยเชื้อสายมอญ มีการสืบทอดภูมิปัญญาการสร้างเครื่องปั้นดินเผา มาจากบรรพบุรุษชาวมอญ ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนสมัยโบราณที่มีชื่อเสียงมานาน ในปัจจุบันชาวมอญยังคงยึดอาชีพในการทำเครื่องปั้นดินเผา หลายครอบครัว โดยมีการประยุกต์รูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและมีการพัฒนาสีสัน ลวดลายให้สวยงามและยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติตามความเชื่อของบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของช่างปั้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อผลงานและจิตใจของผู้ปั้น เช่น การบวงสรวงแม่ย่านาง เป็นประจำทุกปี ฯลฯ บ้านมอญ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 15 กิโลเมตร บ้านมอญตั้งชื่อหมู่บ้าน ตามความเป็นมาในอดีต มีชาวมอญ 4 ครอบครัว ได้อพยพมาจากอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาพบแหล่งดินเหนียวบริเวณตำบลบ้านแก่ง ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมในการปั้นโอ่งมาก เนื่องจากชาวมอญที่อพยพมามีความสามารถในการปั้นโอ่ง จึ่งได้ตั้งบ้านเรือนโดยยึดการปั้นโอ่งเป็นอาชีพและพัฒนามาเป็นเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมอญได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาได้รับการพัฒนาฝีมือ คุณภาพตลอดจนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ศูนย์กลางการตลาด การผลิตและจำหน่าย เพื่อให้เกิดแหล่งเงินทุนในการผลิต ตามนโยบายเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อเป็นการควบคุมราคาสินค้าให้ได้มาตรฐาน ยุติธรรมต่อผู้บริโภค เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนชาวบ้านมอญมาช้านาน โดยเฉพาะทรัพยากรดิน ซึ่งมีความเหนียวมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนำมาทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยภูมิปัญญาที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ได้ให้การสนับสนุนจัดงบประมาณในการจัดทำศูนย์ การเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ศูนย์สาธิตการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบครบวงจร สมดังตามคำกล่าวที่ว่า รังสรรค์ปั้นมือ เลื่องลืองานศิลป์ สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน (สำนักงานพาณิชจังหวัดนครสวรรค์:3-6) ดั้งนั้น จึงเห็นความสำคัญและศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีหลายมิติทั้งทางด้านวัตถุดิบ ภูมิปัญญา การผลิต ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งจำหน่าย และการพัฒนารูปแบบสินค้า ให้มีคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอและยังได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดอย่างต่อเนื่อง การรวบรวมองค์ความรู้ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้โดยให้ผู้ผลิต พัฒนาชุมชน นักนักออกแบบ โรงเรียน มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาร่วมกันระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และสามารถเรียนรู้และนำไปผลิตสูเชิงพาณิชย์ต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบมาต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาสู่เชิงพาณิชย์ 2. เพื่อทำต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น 3. เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา โดยแบบใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
ขอบเขตของโครงการ :
ขอบเขตงานวิจัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาดั่งเดิมของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญและศึกษาขั้นตอนกระบวนการผลิตเพื่อนำมาถอดบทเรียนเป็นชุดการเรียนรู้ กลุ่มผู้ผลิตและบุคคลที่สนใจ ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ โดยใช้กระบวนศึกษาแบบชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ (CBL) เป็นการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เสวนากลุ่ม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การมองสภาพปัญหา กำหนดแนวทางการแก้ไข การวางแผน การทำตามแผนที่ตั้งไว้ การลงมือปฏิบัติ การประเมินผลและการปรับปรุงแก้ไขต่อไป ก็จะทำให้ชุมชนเข็มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้แนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา แบบใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ 2. ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 3. ได้ชุดการเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ 4. ได้บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนและการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ 5. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับนักเรียน นักศึกษา คนในชุมชนและบุคคล ที่สนใจ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
วิธีการดำเนินการวิจัย เพื่อให้แนวทางในการดำเนินการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ผู้ศึกษาได้กำหนดขั้นตอนในการศึกษาออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่ โดยมีรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างกรอบแนวคิดในการศึกษา การศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เป็นการศึกษา การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับชุมชน ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้วิธีการสำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องและสังเคราะห์ออกเป็นรูปแบบการจัดการความรู้ในเบื้องต้น ที่ประกอบด้วยไป 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ด้านกระบวนการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาและเงื่อนไขที่ทำให้การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนที่ 2 การสร้างเครื่องมือในการศึกษา การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษามีการดำเนินการดังนี้ 1) แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึกได้มีการกำหนดประเด็นการศึกษาตามกรอบแนวคิด 2) แบบสนทนากลุ่ม ได้กำหนดขั้นจากกรอบแนวคิดในการศึกษา ที่กำหนดไว้ 3) แบบสังเกตแบบกึ่งโครงสร้าง โดยมีการศึกษาจากบริบทของพื้นที่ในเบื้องต้นและร่างประเด็นการสังเกตและตรวจสอบความถูกต้อง ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลมีการดำเนินการโดยการทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ ในการลงพื้นที่ กับทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครสวรรค์และองค์การบริหารส่วนตำบล เป้าหมายที่กำหนด โดยแนบวัตถุประสงค์ในการศึกษาและเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานกับวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผากลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนที่ 4 การสรุปข้อมูล การสรุปข้อมูลจากการศึกษาเป็นประเด็นต่าง ๆ และจัดแยกเป็นหมวดหมู่ตามกรอบ แนวคิดของการวิจัย จัดเก็บผลการศึกษาของวิสาหกิจชุมชนแต่ละพื้นที่ แล้วสรุปตามกรอบ แนวคิดที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้น ขั้นตอนที่ 5 การสร้างรูปแบบการจัดการความรู้ ผู้ศึกษานำผลการศึกษาทั้งหมดมาทำการสอบถามเพื่อยืนยันรูปแบบจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญของจังหวัดนครสวรรค์ ขั้นตอนที่ 6 การสรุปผลและการอภิปรายผลการศึกษา สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษา รวมทั้งรูปแบบการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เหมาะสมและทำการอภิปรายผลการศึกษาต่อไป โดยสามารถสรุปขั้นตอนในการศึกษาใน 5 แนวทาง ดังนี้ 1) การศึกษาจากข้อมูลเอกสาร (Document Study) มีการศึกษาทบทวนเอกสาร และบันทึกต่าง ๆ ได้แก่ ภาคนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย บทความและเอกสารทาง วิชาการ เอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น บันทึกเอกสารทางราชการ สถิติหรือสำมะโนประชากรในชุมชน เป็นต้น 2) การศึกษาโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) มีแนวคิดในการศึกษาและแนวทางการสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ภายใต้บรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน 3) การศึกษาโดยวิธีการสังเกตการณ์ (Observation) ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ใช้การสังเกตการณ์ในลักษณะแบบชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และแบบไม่มีส่วนร่วม 4) การศึกษาโดยการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) 5) การศึกษาโดยสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญยืนยันรูปแบบเป็นเครื่องมือสำหรับการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องการจัดการความรู้ ของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งวิเคราะห์จากผลการศึกษาของกลุ่มเป้าหมาย
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
เป็นการศึกษาแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ โดยเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ โดยใช้กระบวนศึกษาแบบชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ (CBL) โดยมีนักเรียน นักศึกษาและบุคคลที่สนใจ เป็นผู้เรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องปั้นดินเผา จำนวน 9 ชิ้น
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่
รายชื่อ
ประเภทนักวิจัย
บทบาทหน้าที่
สัดส่วน
1
นายนัฐท์ธีรนนช์ รอดชื่น
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัย
50%
2
นายรพีพัฒน์ มั่นพรม
นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมวิจัย
50%
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130
หมายเลขโทรศัพท์
056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย
website
rdi.nsru.ac.th
Smart Rdi Nsru