รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การจัดการโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Supply Chain Management Model of the Organic Banana in Krok Phra district Nakhon Sawan Province.
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะวิทยาการจัดการ
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2560
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยเชิงปฎิบัติ
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
          ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค แต่ละกระบวนการจะเหมือนมีห่วงโซ่เชื่อมติดกันเป็นเครือข่ายการเกิดผลกระทบในช่วงใดช่วงหนึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อกันทั้งระบบ เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้เริ่มค้นหาระบบ แนวคิดต่าง ๆ ที่จะมาช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้กิจการของตนดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ขึ้นมา องค์การพาณิชย์ในประเทศไทยเองได้เริ่มศึกษาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อจะสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน โดยเน้นกระบวนการจัดการที่ช่วยให้กิจการต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ จากความเชื่อที่ว่า “ไม่มีองค์การใดที่สามารถทำทุกอย่างได้เองทั้งหมด” การสร้างความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้องค์การเติบโต แต่ยังสามารถอยู่รอดได้ในตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย ธุรกิจการเกษตรเองจำเป็นที่ต้องมีการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ดีเช่นเดียวกัน เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้นการจัดส่งสินค้าการเกษตรไปยังผู้รับสินค้าปลายทางจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการเดินทางไม่นาน โดยในปัจจุบันมีหลาย ๆ บริษัททางการเกษตรที่เริ่มเอาแนวคิดการจัดการห่วงโซ่อุปทานมาใช้จัดการครอบคลุมไปทั้งสายโซ่อุปทาน เพื่อให้บริษัทและโซ่อุปทานของตนเองมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและมีความสามรถทางการแข่งขันทางธุรกิจ การทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ผลิต ผู้จัดส่งสินค้าหรือผู้รวบรวมสินค้า (Supplier) ศูนย์การผลิต (Manufacturing Centers) คลังสินค้า (Warehouses) ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Centers) และรานค้าปลีก (Retail Outlets) ซึ่งจะมีการไหลเวียนของวัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต และสินค้าสำเร็จรูประหว่างกันภายในห่วงโซ่อุปทาน (โกศล ศิลธรรม , 2551) การพัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร คือ การบูรณาการความหลากหลายของกิจกรรมการผลิตตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกรายแรกจนถึงผู้บริโภครายสุดท้าย ซึ่งในสภาวะปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคมีความซับซ้อนและเคร่งครัดในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้การทำความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตในแต่ละห่วงโซ่อุปทานเกิดความคลาดเคลื่อน (Wallance Hopp , 2007) จึงต้องมีการสร้างรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุปสงค์ให้กับผู้ผลิตทุกห่วงในอุปทาน และการสร้างฐานข้อมูลที่ช่วยให้การสื่อสารมีความถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว ทำให้กิจกรรมในการสร้างระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม คือ การพัฒนาคุณภาพและคุณลักษณธของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบการตลาดและการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน โดยทั้ง 3 กิจกรรมจะเน้นไปยังอุปสงค์ของสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างรูปแบบระบบห่วงโซ่อุปทาน (Demand Chain) การดำเนินธุรกิจการเกษตรเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การที่ผู้บริโภคได้รับอาหารในแต่ละมื้อ เกิดจากการคาดคะเนและการจัดสินใจในการผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้า ระยะเวลาในการคาดคะเนระยะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับเกษตรกรในปัจจุบันมีความแตกต่างกับในอดีต เพราะในอดีตการทำการเกษตรเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง ที่แต่ละครอบครัวจะผลิตทุกอย่างที่ต้องการใช้ในครอบครัว ถ้ามีเหลือจึงขายหรือนำไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในส่วนที่ตนผลิตไม่ได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ประกอบการเกษตรแบบการค้า ผลิตสินค้ามาเพื่อขายแล้วนำรายได้จากการขายมาซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ครอบครัวต้องการ การทำการเกษตรสมัยใหม่เกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาตลาดที่รองรับผลผลิตที่ผลิตขึ้นมา ดังนั้น การทำธุรกิจการเกษตรต้องมองภาพรวมทั้งในด้านการผลิตและการตลาดสอนค้าเกษตรควบคู่กันไปด้วยกัน นั่นคือต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและการปรับการผลิต การตลาดให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้น ในแง่ธุรกิจแสดงให้เห็นว่า กว่าสินค้าเกษตรจะผลิตมาได้เกษตรกรจะต้องลงทุนในด้านปัจจัยการผลิต และเมื่อผลิตมาได้แล้วกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้ายจะต้องผ่านคนกลางและกระบวนการต่าง ๆ มากมาย แล้วแต่ชนิดของสินค้าเกษตร หรือในทางวิชาการเรียกว่า ช่องทางการตลาด (Marketing Channel) คือ การแสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นจากผู้ผลิตผ่านคนกลางประเภทใดบ้าง ในปริมาณร้อยละเท่าใด กว่าจะถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ซึ่งบางชนิดออกจากไร่นาก็ไปสู่ผู้ขายปลีกและผู้บริโภคเลย บางชนิดก็ต้องผ่านคนกลางและการแปรรูปหลายขั้นตอน ยิ่งกว่านั้นผลผลิตบางชนิดไม่ได้ผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว ยังสนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย (ปิยะภรณ์ ทรัพย์คำจันทร์ : 2552) จึงเห็นได้ว่า ธุรกิจการเกษตรมีการเกี่ยวข้องกับส่วนต่าง ๆ ในช่องทางการตลาดจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าปัจจัยการผลิต จนถึงผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่งสินค้า ผู้ส่งออก เป็นต้น ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ที่สนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการขนส่ง หน่วยงานของรัฐ ดังนั้นเกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องทราบว่าลักษณะการดำเนินธุรกิจเกษตรชนิดนั้นเป็นอย่างไรบ้างในตลาด และต้องเกี่ยวพันกับคนอื่นมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเกษตรนั้นอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไป เกษตรกรใน ต.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เกือบทั้งตำบลยึดอาชีพปลูกกล้วยไข่ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ผลผลิตที่ได้นำส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ละปีมีรายได้หมุนเวียนเข้าพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท (ข้อมูลสถิติสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ : 2558) ในพื้นที่ ต.โกรกพระ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกกล้วยไข่เกือบทั้งหมด เนื่องด้วยสภาพดินแถบนี้เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนวิธีการ ลุงอำนวย บอกว่า เริ่มจากขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างต้น 2 เมตร จากนั้นนำหน่อกล้วยใส่ลงไปในหลุม นำปุ๋ยสูตร 16-16-16 มารองที่ก้นหลุม รดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พออายุ 6-7 เดือน กล้วยจะออกปลีตกเครือ ระหว่างนี้ยังใช้ปุ๋ยสูตรเดิมบำรุง เพื่อให้ผลกล้วยเจริญเติบโต เต่งตึง เมื่อครบ 8 เดือน ก็ตัดกล้วยขายได้ มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน กิโลกรัมละ 14 บาท ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลโกรกพระได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องช่องทางการตลาดอีกด้วย หากพิจารณาจากศักยภาพการผลิตและความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ใน อ.โกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ สามารถที่จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีก ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ทั้งในด้านการพัฒนาพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ระบบการขนส่งผลผลิตสู่เกษตรกรนำไปปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกกล้วยให้มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น จากความสำคัญและปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น ตลอดจนในพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ มีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกและผลิตกล้วยไข่ และจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าในพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ มีการปลูกกล้วยไข่ในหลายแห่งหลายอำเภอ แต่การเพาะปลูกยังไม่ค่อยได้รับความนิยมกันมากนัก ทั้ง ๆ ที่กล้วยไข่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะเข้าไปศึกษาวิจัยสภาพการผลิตและรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยไข่ของ อ.โกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในพื้นที่นี้มีความพร้อมในการสร้างรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตและสามารถที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการผลักดันให้กล้วยไข่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์และให้สามารถแข่งขันในตลาดสินค้าเกษตรระดับอาเซียนได้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1 เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของระบบการปลูก กระบวนการผลิตและการตลาดกล้วยไข่ของอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 2 เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานกล้วยไข่ของของอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 3 เพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการโซ่อุปทานกล้วยไข่ของของอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาการจัดการโซ่อุปทานกล้วยไข่ที่เหมาะสมของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่การไหลของผลิตภัณฑ์การไหลของสารสนเทศของกล้วยไข่ในอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านประชากร ประชากร คือ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ในอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านเนื้อหา ผู้วิจัยจะทำการศึกษาวิจัยเฉพาะตั้งแต่การไหลของผลผลิต การไหลของสารสนเทศของกล้วยไข่จากเกษตรกรไปยังตลาดรวบรวมผลผลิต ขอบเขตด้านเวลา ในการทำวิจัยครั้งนี้ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลปี 2559 – 2560
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1 ทราบสภาพทั่วไปของการผลิตกล้วยไข่ของจังหวัดนครสวรรค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการวางนโยบายส่งเสริมการผลิตของภาครัฐ 2 ทราบถึงระบบการปลูกและกระบวนการการผลิตกล้วยไข่ของจังหวัดนครสวรรค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการผลิตของเกษตรกรรายเก่า เพื่อใช้ปรับปรุงระบบการผลิต และเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรายใหม่ที่มีความสนใจผลิตกล้วยไข่ 3 ทราบระบบการตลาดกล้วยไข่ของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการการผลิตกล้วยไข่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 4 ได้รูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยไข่ของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการการผลิตกล้วยไข่อย่างครบวงจรของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนดำเนินการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ในอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์และผู้เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการที่รับซื้อกล้วยไข่ของเกษตรกร เป็นต้น เพื่อเก็บข้อมูล โดยใช้เทคนิค AIC และหรือ PRA สำรวจ สัมภาษณ์เจาะลึก เสวนากลุ่ม การสังเกต จัดประชุมกลุ่มย่อย และทดลองปฏิบัติการตามแนวทางที่ได้ แหล่งข้อมูล .1 แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลระดับชุมชนเพื่อให้ได้แนวคิดทฤษฎีที่สามารถนำไปใช้ในการวางแนวทางในการศึกษาพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาและการอภิปรายอ้างอิง .2 ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ศึกษาได้จากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชากรที่ศึกษา และเป็นการศึกษารายละเอียดต่อเนื่องจากข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน กลุ่มประชากร กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องจำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานและหรือการเกษตร ได้แก่ ครู อาจารย์ 2. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ใน อ.โกรกพระ 3. กลุ่มผู้นำชุมชน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มสินค้า otop ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกล้วย 4.กลุ่มผู้ประกอบการภาครัฐ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ และระดับจังหวัด 5.กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
งานวิจัยนี้ใช้ วิธีการของ PAR เพื่อวิเคราะห์ และแก้แข้ปัญหาร่วมกับชุมชนและทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานกล้วยไข่ ในอำเภอโรกรพระ จังหวัดนครสวรรค์แบบบูรณาการ
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายสุวชัช พิทักษ์ทิม นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย