รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการทางปัญญาแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Enhancing the immunity of the community with Participation Wisdom Processes for the development social quality of sustainability.
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2560
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยพื้นฐาน
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเข้าใจถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ของโลกที่มีผลต่อประเทศไทย ได้แก่ ประการที่หนึ่ง กระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์มีผลเป็นรูปธรรมที่กระทบต่อรูปแบบค่านิยมทางสังคม การดำรงชีวิตและรสนิยมการบริโภค ความฉับพลันในเรื่องข่าวสารข้อมูล ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความคิด การเรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น ประการที่สอง กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่จุดการค้าเสรีมากขึ้น โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นโลก/ยุคไร้พรมแดน (Borderless World) ในลักษณะที่มีการลดกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนในด้านต่าง ๆ พลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการค้า การลงทุน และการผลิต ของโลกไปในแนวทางใหม่ที่ ทุน คน เทคโนโลยี สินค้าและบริการสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กระแสโลภาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทสำคัญ ๆ ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค (สุวิทย์ เมษินทรีย์: 2549 : 23) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยมิได้พัฒนาบนพื้นฐานของความเข้มแข็งที่แท้จริง แต่กลับเผชิญกับความเสี่ยงสูงหลายประการ กล่าวคือ การขาดภูมิคุ้มกันและความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย อาจกล่าวได้ว่า ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศและการพัฒนาท้องถิ่นที่ผ่านมาเกิดจากการมีกระบวนทัศน์และกระบวนการพัฒนาที่ผิดพลาด ความจริงข้อนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเรื่องใต้เบื้องพระยุคลบาทว่า การพัฒนาประเทศที่แล้วมาได้เน้นหนักในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาทางวัตถุเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา บางแผนระบุไว้ว่าการพัฒนาเกี่ยวกับการเกษตรเป็นเรื่องที่ผิดพลาด การที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองต้องไม่หยุดอยู่ที่การปรับเปลี่ยนโครงการสร้างการบริหารราชการหรือการปรับเปลี่ยนรัฐบาล แต่ต้องก้าวไปให้ถึงขั้นที่เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และกระบวนการพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางความคิดของมนุษย์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 เป็นจุดเริ่มของการกำหนดให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจทางการเมือง วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่อาจกล่าวว่าเป็นลักษณะของหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) คำนึงถึงความต้องการและความสอดคล้องของชุมชนและท้องถิ่นเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในประเทศมีลักษณะทวิภาค (Dualism) มีการขยายตัวแบบขาดดุลยภาพ กล่าวคือ ระยะที่ผ่านมาผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะมีผล เช่น ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ความบีบคั้นจากการแบ่งชั้นทางเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เยาวชนไม่ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่แท้จริง การเรียกร้องและพัฒนาประเทศสู่คุณภาพของสังคม(Social Quality) ที่ประกอบด้วย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ความสามารถในการเข้าถึงและเข้าร่วมในสถาบันต่างๆ ความสมานฉันท์และความสามัคคีในสังคม การเสริมสร้างพลังทางสังคม เพิ่มมากขึ้น(สถาบันพระปกเกล้า : 2552) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถในการเข้าถึงสวัสดิการ การบริการสาธารณะและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชี้วัดและสะท้อนคุณภาพของสังคมและความเป็นธรรมในสังคม โดยการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ได้ตระหนักถึงสถานการณ์และความเสี่ยง ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกและภายในประเทศ โดยเฉพาะภาวะผันผวนด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และภูมิอากาศ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศไทยทั้งเชิงบวกและลบ ดังนั้น ทิศทางการบริหารจัดการประเทศภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว จึงเป็นการใช้จุดแข็งและศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความ เข้มแข็งและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายในประเทศที่เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานการผลิตภาคเกษตร และการประกอบการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องปรับตัวในการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก และภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ เพื่อสามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นและเพิ่มภูมิคุ้มกันของทุนที่มีอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเหมาะสม พร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องสร้างความพร้อมสำหรับเชื่อมโยงด้านกายภาพทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพคน การเสริมสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน โดยนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่สำคัญได้แก่ การเสริมสร้างทุนสังคม (ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนทางวัฒนธรรม) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว และชุมชน สามารถจัดการความเสี่ยง และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม สำหรับการเสริมสร้างทุนเศรษฐกิจ (ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง โดยใช้ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค ต่างๆ บนพื้นฐานการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในส่วนการเสริมสร้างทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานการผลิตภาคเกษตร มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทไทยในเวทีประชาคมโลก (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11) ในการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับชุมชน เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการพัฒนาควบคู่กับทิศทางในการพัฒนาระดับประเทศ ซึ่งกล่าวได้ว่าการให้ความสำคัญต่อมิติและประเด็นดังกล่าวทำให้สังคมประเทศ ชุมชนท้องถิ่นมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดี ที่หมายถึงทุกคนในสังคมไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ด้อยโอกาสได้รับโอกาสและการพัฒนาอย่างทั่วถึง ประชาชนมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งเป็นพลังร่วมของสังคมไทย ชุมชนและสังคมมีค่านิยมร่วมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ดังนั้นผู้วิจัย จึงมีความสนใจเรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการทางปัญญาแบบมีส่วนร่วมเพื่อก้าวสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1) เพื่อศึกษาและสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน 2) เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืนโดยใช้ปัจจัยเชิงสังคมวิทยาท้องถิ่นเป็นตัวทำนาย 3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน 4) เพื่อพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่ง คุณภาพอย่างยั่งยืน
ขอบเขตของโครงการ :
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่น จำนวน 15-17 คน 2) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน 3) ประชาชนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 63,525,062 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2553.online) และ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จำนวน 1,600 คน โดยแบ่งออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ภูมิภาคละ 400 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) 4) ผู้นำและผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นเป้าหมาย จำนวน 10-12 คน ขอบเขตด้านเนื้อหา เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นและปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่น 2) แนวทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน ขอบเขตด้านระยะเวลา ใช้ระยะเวลา ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2559 ถึง เดือน กันยายน 2560 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) การสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นและปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่น 2) แนวทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่ง คุณภาพอย่างยั่งยืน (P) 2. ได้สารสนเทศเกี่ยวกับทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่ง คุณภาพอย่างยั่งยืน (P) 3. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้องค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานในการบริการทางวิชาการเกี่ยวกับทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่ง คุณภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเครือข่าย ทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่ง คุณภาพอย่างยั่งยืน (I) 4. รัฐบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำผลการวิจัยที่ได้ ไปใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นด้วยเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน และรู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัฒน์ (I) 5. เป็นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในงานวิจัยทางการพัฒนาภูมิคุ้มกันทางสังคม การพัฒนาสังคมอย่างมีคุณภาพ รัฐประศาสนศาสตร์ (G) 6. เป็นการสร้างนักขับเคลื่อนและนักพัฒนาทางการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืนและระดับชาติรุ่นใหม่ในการวิจัยทางการสังคม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาสู่สังคมที่มีคุณภาพ (G)
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การวิจัยครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีเชิงบรรยาย (Descriptive Research) โดยใช้วิธีการสังเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Synthesis) การวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor Analysis) การวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ(Multiple regression) และการวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่าง ซึ่งมีวิธีดำเนินการวิจัย ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาและสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืนและค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของชุมชนท้องถิ่น ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน 2) ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน 3) ผู้นำ ผู้บริหาร และ 4) ประชาชน ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันชุมชน ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน 2) ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการสร้าง เสริมภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งได้มาจากการเลือกตัวอย่างแบบ เจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 15 -17 คน โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้ (1) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทางด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่นเพื่อก้าวสู่สังคมแห่งคุณภาพอย่างยั่งยืน (2) เป็นผู้ มีความรู้ความสามารถทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันชุมชนท้องถิ่น 3) ประชาชนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 63,525,062 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2553.online) และ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จำนวน 1,600 คน โดยแบ่งออกตามภูมิภาคต่าง ๆ ภูมิภาคละ 400 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) 4) ผู้นำและผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นเป้าหมาย จำนวน 10-12 คน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นายณัฐชัย นิ่มนวล นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%
2 นายสมญา อินทรเกษตร นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 30%
3 นางสาวคุณากร กรสิงห์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย