รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
ผลของการเก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยต่อคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณแคโรทีนอยด์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
Effect of Preservation of Thai Fairy Shrimp (Branchinella thailandensis) of Nutrition and Total Carotenoids
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
1 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
30 กันยายน 2560
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์น้ำจืดชนิดหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ไรน้ำนางฟ้าสามารถเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าทดแทนอาร์ทีเมีย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเราต้องนำเข้าไข่อาร์ทีเมียเพื่อมาเลี้ยงลูกกุ้งลูกปลา รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนปีละไม่ต่ำกว่า 200-600 ตัน มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และที่ต้องนำเข้าไข่อาร์ทีเมีย เนื่องจากในประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงหาสัตว์น้ำตัวอื่นเพื่อทดแทน (นุกูลและละออศรี, 2547) ในปัจจุบันนี้สามารถนำไข่ไรน้ำนางฟ้าไปเพาะเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตจนสามารถส่งขายให้กับธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้ในราคาสูง ไรน้ำนางฟ้าไทยแช่แข็งกิโลกรัมละประมาณ 300 บาท ส่วนไรน้ำนางฟ้าไทยแบบมีชีวิตตัวละ 10-30 สตางค์ หากมีการส่งเสริมและผลิตได้แพร่หลายนับได้ว่าไรน้ำนางฟ้าไทยจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นำมาซึ่งรายได้และเป็นสินค้าส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ และไรน้ำนางฟ้าที่เลี้ยงจากอาหารที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ คลอเรลลา พบว่ามีโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการอื่น ๆ สูงเหมาะสมกับใช้เลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามเพื่อใช้ในการเร่งสีได้อีกด้วย คุณค่าทางโภชนาการของไรน้ำนางฟ้าไทยที่เลี้ยงด้วยคลอเรลลาของ Dararat et al. (2012) พบว่ามีปริมาณโปรตีนร้อยละ 64.65 ปริมาณคาร์โบไฮเดรทร้อยละ 16.24 ปริมาณไขมันร้อยละ 7.57 ความชื้นร้อยละ 90.22 เถ้าร้อยละ 6.42 เยื่อใยร้อยละ 5.12 และมีปริมาณแคโรทีนอยด์เท่ากับ 254.41 ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ขณะที่การศึกษาของ นุกูลและละออศรี (2547) พบว่าไรน้ำนางฟ้ามีปริมาณโปรตีนร้อยละ 64.94 ปริมาณคาร์โบไฮเดรทร้อยละ 17.96 ปริมาณไขมันร้อยละ 5.07 เถ้าร้อยละ 8.40 นอกจากนั้นยังพบสาร Canthaxanthine ซึ่งเป็นรงควัตถุในกลุ่มแคโรทีนอยด์ในไรน้ำนางฟ้าเป็นจำนวนมาก (Murugan et al., 1995) ทำให้ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการนำมาเป็นอาหารของสัตว์น้ำจืด โดยเฉพาะกลุ่มของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนาไม ปลานิล ปลาสวาย ปลาบู่ และกลุ่มปลาสวยงามที่มีราคาแพง เช่น ปลาหมอสี (ละออศรีและคณะ, 2549) ปลาทอง และปลาคาร์ฟ (Latcha, 1990) วิธีการเก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยในปัจจุบันนิยมใช้มีหลายวิธี คือ การเก็บแช่แข็งแห้งซึ่งไรน้ำนางฟ้าไทยจะตายหมด และการเก็บแบบมีชีวิต โดยการใช้ออกซิเจนไรน้ำนางฟ้าจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งไรน้ำนางฟ้ามีศักยภาพเป็นอาหารปลาสวยงามทั้งในรูปแบบมีชีวิตและไม่มีชีวิตใช้ในธุรกิจปลาสวยงามได้หลากหลาย
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1 เพื่อศึกษาอัตราความหนาแน่นและปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมต่ออัตรารอดตายของไรน้ำนางฟ้าไทยที่เก็บรักษาแบบมีชีวิต 2 เพื่อศึกษาชนิดสารละลายที่เหมาะสมของไรน้ำนางฟ้าที่เก็บรักษาแบบไม่มีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการ 3 เพื่อศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมของไรน้ำนางฟ้าที่เก็บรักษาแบบไม่มีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการ
ขอบเขตของโครงการ :
เป็นการศึกษาการเก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยมีชีวิตและไม่มีชีวิตเพื่อเป็นอาหารปลาสัตว์น้ำ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1 นำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการเก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยที่เหมาะสมเพื่อใช้ในธุรกิจสัตว์น้ำสวยงามและเศรษฐกิจ 2 เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกร หรือเป็นการหารายได้เสริม 3 นำความรู้เพื่อเผยแพร่ในวารสารด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         วิธีการดำเนินการวิจัย แบ่งวิธีการดำเนินงานวิจัยออกเป็น 3 การทดลองคือ 1. ศึกษาอิทธิพลของความหนาแน่นและออกซิเจนต่ออัตรารอดตายของไรน้ำนางฟ้าไทยที่เก็บรักษาแบบมีชีวิต วางแผนการทดลองวางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด 2 ปัจจัย ทำการทดลอง 3 ซ้ำ (5X3 Factorial in Completely Randomized Design) ปัจจัยที่ 1 ประกอบด้วย 5 ชุดการทดลอง ดังต่อไปนี้ ชุดการทดลองที่ 1 ไรน้ำนางฟ้าไทย 20 ตัว / 100 มิลลิลิตร ชุดการทดลองที่ 2 ไรน้ำนางฟ้าไทย 40 ตัว / 100 มิลลิลิตร ชุดการทดลองที่ 3 ไรน้ำนางฟ้าไทย 60 ตัว / 100 มิลลิลิตร ชุดการทดลองที่ 4 ไรน้ำนางฟ้าไทย 80 ตัว / 100 มิลลิลิตร ชุดการทดลองที่ 5 ไรน้ำนางฟ้าไทย 100 ตัว / 100 มิลลิลิตร ปัจจัยที่ 2 ประกอบด้วย 2 ชุดการทดลองดังต่อไปนี้ ชุดการทดลองที่ 1 ไม่มีออกซิเจน ชุดการทดลองที่ 2 มีออกซิเจน (ออกซิเจนธรรมดา) ชุดการทดลองที่ 3 มีออกซิเจน (ออกซิเจนผง) ชุดการทดลองแต่ละชุดจะเก็บรักษาชุดเวลา 3, 6, 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับจนกว่าไรน้ำนางฟ้าไทยจะตายหมด เมื่อครบช่วงเวลาที่กำหนด นำมานับจำนวนไรน้ำนางฟ้าที่ยังมีชีวิตอยู่ นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาค่าทางสถิติ Analysis of variance: ANOVA 2. ศึกษาชนิดสารละลายที่เหมาะสมของไรน้ำนางฟ้าที่เก็บรักษาแบบไม่มีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการ วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด ทำการทดลอง 3 ซ้ำ (Completely Randomized Design) ประกอบด้วย 5 ชุดการทดลอง ดังต่อไปนี้ ชุดการทดลองที่ 1 น้ำกลั่น ชุดการทดลองที่ 2 น้ำเกลือ ความเข้มข้น 0.9% ชุดการทดลองที่ 3 สารละลายกลูโคส ความเข้มข้น 2% ชุดการทดลองที่ 4 Hank’s balanced salt solution (HBSS) ชุดการทดลองที่ 5 Calcium Free Hank’s balanced salt solution (Ca-F HBSS) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ความชื้น เถ้า และปริมาณแคโรทีนอยด์เมื่อเก็บรักษาไว้ 1 เดือน นำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ทางสถิติโดยวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) เพื่อหาความแตกต่างของแต่ละชุดการทดลอง จากนั้นเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของแต่ละชุดการทดลอง โดยวิธีของ Duncan ,s New Multiple Range Test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป 3. ระยะเวลาที่เหมาะสมและการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการ นำผลจากการทดลองที่ 2 ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการดีที่สุด วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด ทำการทดลอง 3 ซ้ำ (Completely Randomized Design) ประกอบด้วย 5 ชุดการทดลอง ดังต่อไปนี้ ชุดการทดลองที่ 1 เก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นระยะเวลา 0 เดือน ชุดการทดลองที่ 2 เก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ชุดการทดลองที่ 3 เก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ชุดการทดลองที่ 4 เก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นระยะเวลา 9 เดือน ชุดการทดลองที่ 5 เก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นระยะเวลา 12 เดือน ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ความชื้น เถ้า และปริมาณแคโรทีนอยด์เมื่อเก็บรักษาไว้ครบตามระยะเวลานำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ทางสถิติโดยวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) เพื่อหาความแตกต่างของแต่ละชุดการทดลอง จากนั้นเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของแต่ละชุดการทดลอง โดยวิธีของ Duncan ,s New Multiple Range Test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
เป็นการต่อยอดงานวิจัยที่ทำอยู่เพื่อเก็บรักษาไรน้ำนางฟ้าในรูปแบบทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวจามรี เครือหงษ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%
2 นางสาวจงดี ศรีนพรัตน์วัฒน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%
3 นางสาวสุรภี ประชุมพล นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 20%
4 นายปริญญา พันบุญมา นักวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัย 10%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย