รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
แนวทางการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The developmental Assets of children’s and youths in the Nakhonsawan Municipality. NakhonSawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
11 พฤศจิกายน 2558
วันสิ้นสุดโครงการ :
10 พฤศจิกายน 2559
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) คาดหวังให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ ซึ่งการที่สังคมจะมีสภาพตามที่คาดหวังดังกล่าวได้คนในสังคมต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีวินัยเคารพกฎหมาย มีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกเป็นสาธารณะมีความสามารถคิดเอง ทำเองและพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนั้นคนในสังคมยังต้องรู้จักพึ่งพา เกื้อกูลกัน รู้รักสามัคคี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11(2555 –2559) ซึ่งมีเนื้อหาเน้นในยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์มีความคิดสร้างสรรค์ใฝ่เรียนรู้มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่นควบคู่กับการเสริมสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและแหล่งเรียนรู้ในระดับชุมชน เด็กและเยาวชนเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยแห่งการเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว เป็นวัยที่มีความคิดอย่างเป็นอิสระต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว วู่วาม แสดงออกทางอารมณ์อย่างรุนแรง จากลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์และเป็นปัญหาของสถานศึกษา สังคมและประเทศชาติได้ในที่สุด เช่น ปัญหาการก่ออาชญากรรม ปัญหาการเสพสิ่งเสพติด ปัญหาชู้สาว ปัญหาการฝ่าฝืนระเบียบวินัยของสถานศึกษา (วีระเดช บัวประเสริฐยิ่ง และคณะ, 2555) ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เด็กจำนวนมากเติบโตด้วยความโดดเดี่ยว ความวิตกกังวลความเครียดและความโกรธ ขาดการเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นำไปสู่ปัญหาด้านพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้น อายุของผู้ใช้ความรุนแรงก็น้อยลง ครอบครัวและเด็กและเยาวชนต่างต้องต่อสู้เพื่อคงความหวังไว้ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการคาดคะเนในทางเลวร้ายของนักข่าวและนักสถิติ แต่แทนที่จะจมอยู่กับความรู้สึกหมดพลัง ครูและผู้ปกครองควรเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบสนับสนุนซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างวิธีการสอนทักษะอารมณ์และสังคมที่จะช่วยป้องกันและลดความก้าวร้าวในเด็กและเยาวชนพร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างความสามารถทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชน การเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ เป็นกุญแจไปสู่การช่วยให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันเมื่อต้องพบกับการถูกรังแก การถูกปฏิเสธและความรุนแรง (สุรสิทธิ์ สุวรรณไตร, 2552) เด็กและเยาวชนจัดว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นความหวังใหม่ของสังคม เป็นวัยที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสติปัญญา เป็นวัยที่กำลังจะก้าวสู่ตลาดแรงงานและเป็นวัยที่มีศักยภาพเหมาะสมที่สมควรได้รับการพัฒนาให้เป็นพลังงานของชาติ ที่ต้องสืบทอดและรับภารกิจในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงปลอดภัย ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ในสภาวการณ์ปัจจุบันของประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนมากจะเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนพบว่าเด็กและเยาวชนไทยจำนวนหนึ่งได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัยของตนซึ่งเป็นวัยที่กำลังศึกษากลับไปกระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม และละเมิดจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะสภาพสังคมที่ทำให้เด็กและเยาวชนต้องดิ้นรนขวนขวายหาเงินทองเองหรือบางครั้งความจำเป็นบีบบังคับอาจต้องทำให้สิ่งผิดกฎหมาย สภาพการดำเนินชีวิตที่ไร้กฎหมายเป็นสิ่งที่นำทางทำให้เด็กและเยาวชนแยกไม่ออกระหว่างความถูกต้องชอบธรรมและความคิดมิชอบอาชญากรรม หรือการกระทำผิดของเด็กก็เกิดจากสภาพความคิดที่ไม่ชอบธรรมนั่นเอง การที่เด็กและเยาวชนมีร่างกายและจิตใจไม่เหมือนผู้ใหญ่ยังอ่อนต่อสติปัญญาและความรู้สึกผิดชอบ จึงเป็นสาเหตุให้ถูกชักจูงให้กระทำผิดได้โดยง่าย และการกระทำผิดดังกล่าวนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง ซับซ้อนและขยายเป็นวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เพราะเด็กและเยาวชน คือ ทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ ถ้าประเทศใดมีเยาวชนที่ดีมีคุณภาพไม่ก่อปัญหาให้กับสังคม ประเทศนั้นย่อมสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว และในทางกลับกันถ้าสังคมใดหรือประเทศใดปล่อยปละละเลยเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านสติปัญญา พฤติกรรมและอารมณ์ เป็นเยาวชนที่เกเร เสเพล เป็นอันธพาล หรือกระทำผิดกฎหมายแล้ว สังคมหรือประเทศนั้นอาจต้องสูญเสียอนาคตที่ดีของชาติไป และสังคมอาจประสบกับความยุ่งยากและความหายนะได้ในที่สุด (สมัย ศิริทองถาวร, 2541) จากรายงาน “การพัฒนาเด็กและเยาวชน” ประจำปี 2554 (สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ, 2554) ประชากรเด็กและเยาวชนไทยในมี จำนวน 22,522,512 คน หรือร้อยละ 35.15 ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นเพศชาย 11,523,531 คน และเป็นเพศหญิง 10,998,981 คน โดยเพศหญิงมีน้อยกว่าเพศชาย 524,550 คน จังหวัดที่มีประชากรเด็กและเยาวชนมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร (1,813,574 คน) ส่วนจังหวัดที่มีประชากรเด็กและเยาวชนน้อยที่สุดคือจังหวัดสมุทรสงคราม (59,517 คน) นับว่าเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าและมีความสำคัญของสังคมในการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ปัญหาของเด็กและเยาวชนกระทำผิดมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเด็กและเยาวชนทำผิดโดยวิธีแปลกๆ ซึ่งความผิดสมัยก่อน เช่น การลักทรัพย์ไปจนถึงการกระทำชำเรา ปล้น ฆ่า ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เป็นที่น่าวิตกยิ่งของบุคคลทั่วไป เพราะถ้าหากเยาวชนของชาติยังประพฤติผิดอยู่และทวีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเท่าใด จะทำให้เป็นภัยต่อสังคมและเป็นภัยต่อประเทศชาติเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ก่ออาชญากรรมในโอกาสต่อไป (ประยูรศรี มณีสร, 2530) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2556 กล่าวคือ ในปี 2551 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 46,981 คน ปี 2552 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 46,371 คน ปี 2553 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 44,057 คน ปี 2554 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 35,049 คน ปี 2555 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 34,279 คน และปี 2556 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ 37,433 คน จากข้อมูลเด็กและเยาวชนกระทำความผิดที่ศาลพิพากษาตัดสินตามคำพิพากษา/คำสั่ง ปี 2555 จำนวน 28,133 คน ปี 2556 จำนวน 30,907 คน และฐานความผิดที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิด ประกอบด้วย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุข เสรีภาพ ชื่อเสียงและปกครอง ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด และความผิดอื่นๆ (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 2556) จากข้อมูลที่กล่าวมาอาจพิจารณาได้ว่า แม้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจสังคม ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายมากขึ้นแต่ปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งๆที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ยังเป็นวัยที่ยังไม่สามารถพึ่งพา ตนเองได้ ต้องอยู่ในความคุ้มครองดูแลจากครอบครัว ปัญหาจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมเพียงพอ ดังนั้นการที่เด็กและเยาวชนประสบกับปัญหาและสร้างปัญหา จึงน่าจะมาจากปัจจัยหลายๆประการ โดยเฉพาะจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็กและเยาวชน ทั้งการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว การคบเพื่อนและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของวัยรุ่นเองแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นในสังคมอีกด้วย (พนม เกตุมาน, 2550) ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนเกิดจาก สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นการค้ามากขึ้น ทำให้ครอบครัวต้องดิ้นรนทำงานเพื่อหาเลี้ยงสมาชิกมากขึ้นพ่อ แม่ต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้นกว่าสมัยก่อน สังคมที่เดิมเคยมีบทบาทในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างญาติพี่น้องและ เพื่อนบ้าน ที่เคยพึ่งพากันด้านแรงงงาน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงปฐมภูมิ เปลี่ยนเป็นเน้นความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างมากขึ้น (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2544) ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทั้งระดับ บุคคล ครอบครัวและชุมชน ที่เคยทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดู เอาใจใส่ หลอมพฤติกรรม รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ลดบทบาทลง เปิดโอกาสการสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารข้อมูลและถ่ายทอดการดำเนินชีวิต ให้เด็กและเยาวชนในชุมชนแทน จากการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศชี้ชัดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือที่พบเห็นในชุมชนทำให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นผู้ก่อความรุนแรงได้ในท้ายที่สุด นั่นคือ การซึมซับวัฒนธรรมความรุนแรง ไม่ว่าจะจากบ้าน ชุมชน ในกลุ่มเพื่อนหรือสื่อต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และโทรทัศน์ หรือจากสังคมวงกว้างที่นิยมใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ปรากฏการณ์ความเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวกับวัยรุ่น นอกจากจะเกิดจากการเปลี่ยน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
6.1 เพื่อศึกษาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ 6.2 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
ขอบเขตด้านพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดพื้นที่ทำการวิจัยเฉพาะเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีชุมชน จำนวน 71 ชุมชน เป็นพื้นที่ทำการวิจัย เนื่องจากในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่หนาแน่นและมีความหลากหลายของสังคม ประกอบกับมีเด็กและเยาวชน อาศัยอยู่จำนวน 12,507 คน 7.2 ขอบเขตด้านเนื้อหา เป็นการศึกษาต้นทุนชีวิตของเยาวชน โดยนำเอาเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเยาวชนไทยที่พัฒนาขึ้นมานั้น เป็นเครื่องมือที่เป็นตัวชี้วัดเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนจากสภาพแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผลของการวัดต้นทุนชีวิตของเยาวชนนั้น จะทำให้เราทราบถึงจุดอ่อนของต้นทุนชีวิตของเยาวชนในด้านต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาหรือเสริมสร้างต้นทุนนั้นๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งแบบประเมินต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนพัฒนาจากแนวคิดการพัฒนาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน (Developmental Youth Assets) เป็นเครื่องมือประเมินที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวรู้จักตนเองดีขึ้น ถูกปรับให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยโดย น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี(2552) ใช้สำรวจต้นทุนชีวิตทั้งต้นทุนภายในและต้นทุนภายนอกของตัวเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 พลัง ได้แก่ พลังภายในตัวตนของเด็ก 15 ข้อ พลังครอบครัว 8 ข้อ พลังชุมชน 8 ข้อ พลังโรงเรียน(ปัญญา) 11 ข้อ และพลังเพื่อน 6 ข้อ รวมทั้งสิ้น 48 ข้อ 7.3 ขอบเขตการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการตอบวัตถุประสงค์ข้อ 6.1 เพื่อศึกษาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ ผู้วิจัยได้นำแบบประเมินต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนพัฒนาจากแนวคิดการพัฒนาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน (Developmental Youth Assets) มาใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทำการศึกษาจากเด็กและเยาวชน/และผู้ปกครองหรือผู้ที่มีเด็กอาศัยอยู่ด้วยในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ 7.4 ขอบเขตการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 6.2 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนเทศบาลนครนครสวรรค์ การเก็บรวบรวมข้อมูลจึงใช้วิธีการจัดสนทนากลุ่มโดยแยกเป็นกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม(ตามเขตการเลือกตั้งที่เทศบาลนครนครสวรรค์กำหนด) โดยอาศัยข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้บริหารหรืออาจารย์ฝ่ายปกครองของสถานศึกษา ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
17.1 เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน และแนวทางการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งขึ้น และนอกจากนี้ยังเกิดกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่ (P) 17.2 ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนำแนวทางพัฒนาต้นทุนชีวิตไปใช้พัฒนาต้นทุนชีวิตในเด็กและเยาวชน (I) 17.3 เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนสามารถปรับตัวและรู้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชน (G)
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อศึกษาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสนทนากลุ่มจากผู้เกี่ยวข้อง และในการวิจัยเชิงปริมาณโดยการสำรวจ (Survey Research) ด้วยแบบสอบถามสำหรับรายละเอียดของวิธีการวิจัยมีดังนี้ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นการศึกษาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) ด้วยแบบประเมินต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนพัฒนาจากแนวคิดการพัฒนาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน (Developmental Youth Assets) เป็นเครื่องมือของ น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี (2552) ใช้สำรวจต้นทุนชีวิตทั้งต้นทุนภายในและต้นทุนภายนอกของตัวเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 พลัง ได้แก่ พลังภายในตัวตนของเด็ก 15 ข้อ พลังครอบครัว 8 ข้อ พลังชุมชน 8 ข้อ พลังโรงเรียน(ปัญญา) 11 ข้อ และพลังเพื่อน 6 ข้อ รวมทั้งสิ้น 48 ข้อสำหรับขั้นตอนในการวิจัยเชิงปริมาณประกอบด้วยวิธีการ ดังนี้ 13.1.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 13.1.2 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 13.1.3 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 13.1.4 การวิเคราะห์ข้อมูล 13.1.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรก เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนในเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 71 ชุมชน สำหรับการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดช่วงอายุเด็กและเยาวชนที่ใช้ศึกษาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อายุ 12 ปี และ 18 ปี เนื่องจากอายุ 12 ปี จะเป็นการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 6-12 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียน จะทำให้ทราบว่าเมื่อเด็กก่อนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นการเลี้ยงดูของพ่อแม่และสถาบันการศึกษามีต้นทุนชีวิตด้านใดและเรื่องใดอ่อนแอที่สุด จะเป็นการเน้นการสร้างเสริมในครอบครัวและสถาบันการศึกษา สำหรับอายุ 18 ปี เป็นการสำรวจต้นทุนชีวิตเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-25 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นเป็นการสำรวจรอยต่อที่ 3 เป็นบทสรุปก่อนเข้าวัยผู้ใหญ่ สำหรับจำนวนเด็กและเยาวชนที่เป็นประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้อาศัยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้จัดเป็นกลุ่มช่วงอายุประจำปี พ.ศ.2555 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2555 : 6) เป็นฐานในการคิดคำนวณเบื้องต้น ดังนี้ เด็กอายุ 12 ปี ใช้ช่วงอายุ 10-14 ปี เป็นเกณฑ์ มีจำนวน 5,517 คน เยาวชน 18 ปี ใช้ช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นเกณฑ์ มีจำนวน 6,990 คน กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มผู้ปกครองที่มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุดังกล่าวอาศัยอยู่ด้วยเป็นประชากรที่ใช้ในการศึกษา ใช้จำนวนครัวเรือนเป็นหน่วยในการศึกษา มีจำนวน 13,611 ครัวเรือน (เทศบาลนครนครสวรรค์, 2559) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จึงใช้เทคนิคการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น (Probability sampling) และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (stratified random sampling) ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชากรมีโอกาสได้รับเลือกเป็นตัวอย่างเท่าๆกัน และเป็นการสุ่มจากประชากรหน่วยวิเคราะห์โดยตรง (สุรพงษ์ โสธนะเสถียร, 2545) กำหนดขนาดของตัวอย่างโดยใช้ตารางของ เครซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970) ใช้ในการประมาณค่าสัดส่วนของประชากรเช่นเดียวกันและกำหนด ให้สัดส่วนของลักษณะที่สนใจในประชากรเท่ากับ 0.5 ระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 5% และระดับความเชื่อมั่น 95% โดยเปรียบเทียบจากตารางที่กำหนดไว้ ได้ดังนี้ 1.เด็กอายุ 12 ปี ใช้ช่วงอายุ 10-14 ปี เป็นเกณฑ์ มีจำนวน 5,517 คน ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 358 คน 2.เยาวชน 18 ปี ใช้ช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นเกณฑ์ มีจำนวน 6,990 คน ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 364 คน 3.ผู้ปกครองที่เด็กอาศัยอยู่ ใช้จำนวนครัวเรือนเป็นหน่วยในการศึกษา มีจำนวน 13,611 ครัวเรือน ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 374 คน 13.1.2.เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยได้เลือกเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ คือด้วยแบบประเมินต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนพัฒนาจากแนวคิดการพัฒนาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน (Developmental Youth Assets) เป็นเครื่องมือประเมินที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวรู้จักตนเองดีขึ้น ถูกปรับให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยโดย น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี(2552) ใช้สำรวจต้นทุนชีวิตของตัวเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 พลัง ได้แก่ พลังภายในตัวตนของเด็ก 15 ข้อ พลังครอบครัว 8 ข้อ พลังชุมชน 8 ข้อ พลังโรงเรียน(ปัญญา) 11 ข้อ และพลังเพื่อน 6 ข้อ รวมทั้งสิ้น 48 โดยลักษณะของแบบสอบถามเป็นมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ของ Likert โดยแบ่งระดับความคิดเห็นออกเป็น 4 ระดับ คือเป็นประจำ บ่อยครั้ง บางครั้ง และไม่เคย ในการนำแบบประเมินต้นทุนชีวิตของนายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี มาใช้ในครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความความเชื่อถือได้ (Reliability) โดยใช้วิธีการวัดความสอดคล้องภายใน (Internal consistency method) แบบครอนบาค อัลฟ่า (Cronbach Alpha) ไปทดลองใช้ (Try out) กับเด็กและเยาวชนในชุมชนกลุ่มอายุ 12 ปี 18 ปี และกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งมิใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน จากนั้นผู้วิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาคุณภาพรายข้อและศึกษาคุณภาพโดยรวมโดยพิจารณาคุณภาพรายข้อที่ Item-Total Correlation(r) และพิจารณาคุณภาพโดยรวมพิจารณาที่ Alpha ได้เท่ากับ .937, .935, .951 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าแบบสอบถามที่ได้พัฒนาขึ้นมามีความน่าเชื่อถือสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัยได้ 13.1.3 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล (1) จัดประชุมชี้แจงทีมงานเก็บข้อมูลภาคสนาม ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขารัฐศาสตร์ ที่มาเป็นผู้ช่วยนักวิจัย เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยเนื้อหาในแบบสอบถาม ขั้นตอนวิธีการเก็บข้อมูล และวิธีบันทึกข้อมูล (2) แจกจ่ายแบบสอบถามให้กับทีมงาน (3) ทีมงานไปเก็บข้อมูลตามพื้นที่เป้าหมาย (4) รวบรวมแบบสอบถามทั้งหมดเพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมีขั้นตอนดังนี้ (4.1) ตรวจสอบความสมบูรณ์ของการตอบแบบสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนด (4.2) บันทึกข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ (5) การบรรณาธิกรณ์ข้อมูล (Data editing) โดยนำข้อมูลมาตรวจสอบ แก้ไข รวบรวมและจัดการเขียนเพื่อเผยแพร่นำเสนอต่อไป 13.1.4 การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ผู้วิจัยจะตรวจสอบความถูกต้องของการตอบแบบสอบถาม หลังจากนั้นก็จะดำเนินการบันทึกข้อมูลลงในไฟล์ข้อมูลเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป (โปรแกรม SPSS) ต่อไป สำหรับแบบสอบถามที่คำถามเป็นข้อแสดงความคิดเห็นตามเทคนิคลิเกอร์สเกล จะให้คะแนนเรียงลำดับและให้ถือว่าคะแนนเป็นมาตรวัดระดับช่วง (Interval Level) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูงได้ มีรายละเอียดดังนี้ ตอบเป็นประจำ ได้ 3 คะแนน ตอบบ่อยครั้ง ได้ 2 คะแนน ตอบบางครั้ง ได้ 1 คะแนน ตอบไม่เคย ได้ 0 คะแนน เกณฑ์การพิจารณาระดับต้นทุนชีวิต ในแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้ ผลรวมคะแนนในตัวชี้วัดที่ได้น้อยกว่า ร้อยละ 60 ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ผลรวมคะแนนของตัวชี้วัดใดที่อยู่ระหว่าง ร้อยละ 60-70 จัดเป็นเกณฑ์ปานกลาง ผลรวมคะแนนตัวชี้วัดใดที่ อยู่ระหว่าง ร้อยละ 70-80 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ผลรวมคะแนนรวมในตัวชี้วัดใดที่มีค่าเกินกว่า ร้อยละ 80 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ สถิติร้อยละ (Percentage) เพื่อนำเสนอคุณลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ระดับต้นทุนชีวิต ใช้สถิติร้อยละ (Percentage) ตามเกณฑ์การพิจารณาระดับต้นทุนชีวิตของ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี (สุริยเดว ทรีปาตี และคณะ, 2552 : 57) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เนื่องจากการศึกษาแนวทางการพัฒนาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน ผู้วิจัยจึงได้กำหนดรูปแบบการดำเนินการวิจัย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นแนวทางหลัก เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ได้อย่างแท้จริง เพื่อรวบรวมข้อมูลที่มีรายละเอียดและเนื้อหาสาระตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย (Cooper and Schindler, 2001) โดยการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัย ดังนี้ 1.การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง จากตัวแทนที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์โดยตรงโดยให้ผู้แทนชุมชนเป็นผู้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมมาทำการสนทนากลุ่ม จากชุมชนทั้ง 71 ชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่างที่ต้องนำมานั้นต้องมีคุณสมบัติตรงตามผู้วิจัยได้แนะนำไว้ ซึ่งในการสนทนากลุ่มนั้นผู้วิจัยจะใช้ตัวแทนจากชุมชนในแต่ละกลุ่มๆ ได้แก่ 1)ตัวแทนเด็กและเยาวชน อายุ 12 ปี จำนวน 71 คน 2)ตัวแทนเด็กและเยาวชน อายุ 18 ปี จำนวน 71 คน 3)ผู้ปกครองที่เด็กอาศัยอยู่ชุมชน จำนวน 71 คน 4)ผู้แทนชุมชนๆ จำนวน 71 คน 5)ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จำนวน 10 คน 2.การจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) จะดำเนินการจัดสนทนากลุ่มโดยนำเอาตัวแทนจากชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ มาทำการสนทนากลุ่ม ดังนี้ ครั้งที่ 1 ตัวแทนจากชุมชน 15 ชุมชน ประกอบด้วย (1)กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 12 ปี จำนวน 15 คน (2)กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 18 ปี จำนวน 15 คน (3)กลุ่มผู้ปกครอง จำนวน 15 คน และ (4)กลุ่มผู้แทนชุมชน จำนวน 15 คน ครั้งที่ 2 ตัวแทนจากชุมชน 15 ชุมชน ประกอบด้วย (1)กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 12 ปี จำนวน 15 คน (2)กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 18 ปี จำนวน 15 คน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อศึกษาต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสนทนากลุ่มจากผู้เกี่ยวข้อง และในการวิจัยเชิงปริมาณโดยการสำรวจ (Survey Research) ด้วยแบบสอบถาม
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสุวรรณา คุณดิลกณัฐวสา นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย