รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ กรณีศึกษา กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The participation of communities in planning marketing strategies to promote the operations of a massage for health group: Case study the massage for health group of Wat Klong Kang in Nakhon Sawan Province
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์มีการพัฒนาในทุกๆด้าน ทั้งทางด้าน สังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, เทคโนโลยี และการประกอบอาชีพ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่จากอดีตที่เคยเรียบง่ายกลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ผู้คนทำงานหารายได้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งความเครียด อาการเมื่อยล้า และโรคต่างๆที่ตามมาจากพฤติกรรมประจำวัน การรักษาสุขภาพกายใจมีอยู่หลายวิธี การนวดแผนโบราณนับเป็นทางเลือกหนึ่ง มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนในสังคมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น (วราพรรณ เพ็งแจ่ม, 2010) การนวดนับเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทย มีประวัติและเรื่องราวสืบทอดกันมาช้านาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการรักษาสุขภาพองค์รวม (Holistic healing) ส่งผลให้การนวดมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เข้าใช้บริการนวดนั้นไม่จำกัดเฉพาะ หากรวมถึงประชากรทุกเพศ ทุกวัย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ต้องการการผ่อนคลายความตึงเครียด และความต้องการรักษาโรค ดังจะเห็นได้จากผลการการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการสปาในเอเชีย พบว่า การนวด (massage) เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (Favorite spa treatment) คิดเป็น 54% รองลงมาได้แก่ บริการอื่นๆ (บริการหลายชนิดรวมกัน) คิดเป็น 18% การขัดตัว (body scrub) คิดเป็น 14% การห่อตัว-พอกตัว (body wrap) คิดเป็น 10% และการดูแลความงามใบหน้า (facial) คิดเป็น 4% ตามลำดับ (Thailand paradise for spa lovers, 2011) จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของการนวดเพื่อสุขภาพมีโอกาสที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก การนวด ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ผู้ให้บริการนวดจะต้องตระหนักถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี โดยส่งเสริมให้มีทักษะความรู้ความสามารถในการทำงาน ทักษะการพูดคุย การเอาใจใส่ดูแล การนวดเพื่อการรักษา และการบริการส่วนอื่นๆที่ประกอบเกี่ยวเนื่องกัน เช่น การตกแต่งสถานที่ ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของสถานบริการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ และองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมายที่จะช่วยให้การสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ สถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ที่มีแนวโน้มจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จัดเป็นธุรกิจบริการที่สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับบุคคลในชุมชน อาทิ หมอนวดเพื่อสุขภาพ กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรในชุมชน สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพนั้นนอกจากกลุ่มวัยทำงาน ที่ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมีแนวโน้มความต้องการนวดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนวดเพื่อผ่อนคลาย และการนวดเพื่อกระตุ้นระบบต่างๆของร่างกายทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ผ่อนคลาย นอนหลับสบาย จากสถิติการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุ ในปี 2556 มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 13.2 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้ว่า หากประเทศใดมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นๆ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Age Society) ดังนั้น ประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงอายุ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557) ด้วยเหตุนี้กลุ่มภาคธุรกิจต่างๆ จึงได้มีการวางแผนและพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น มีการขยายตัวของสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหลายแห่ง เนื่องจากธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานและอายุที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยที่มีราคาถูกและนอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ปัญหา/อุปสรรคของธุรกิจการนวดเพื่อสุขภาพ ปัญหาและอุปสรรคของสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพในจังหวัดนครสวรรค์ กรณีศึกษา กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง โดยรวมปรากฏดังนี้ กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคางเปิดดำเนินการภายในวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเจ้าอาวาสวัดคลองคางเป็นแกนนำในการเปิดดำเนินการเพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน หมอนวดทั้งหมดที่ทำงานในกลุ่มนวดวัดคลองคางจึงมาจากบุคคลากรในชุมชน อีกทั้งสมุนไพร ที่นำมาใช้ประกอบการนวด ก็ได้มาจากชุมชน นับได้ว่ากลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคางได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน อย่างไรก็ตาม มีปัญหาหลากหลาย ได้แก่ คุณภาพของการให้บริการ มาตรฐานการนวด การวางแผนกลยุทธ์การตลาด ไม่มีหน่วยงานใดเป็นแกนให้มีส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพ และความรู้ด้านการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาและการวางแผนกลยุทธ์การตลาด นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสามารถพัฒนาคุณภาพการบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสถานให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ จากทางภาครัฐ ชุมชน ผู้นำชุมชน หมอนวดและผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ ร่วมกับคณะผู้วิจัย เพื่อช่วยให้การวางแผนกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพได้รับคุณภาพจากการนวด และประทับใจ มีความพึงพอใจกับการใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างความจงรักภักดีต่อผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพในระยะยาว
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และความต้องการของผู้บริโภคต่อสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 3. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :
ขอบเขตด้านประชากร แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ หมอนวด องค์กรชุมชน กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ใช้บริการนวด ขอบเขตด้านพื้นที่ คือ สถานบริการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านเวลา คือ ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย 1 ปี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ประโยชน์เชิงนโยบาย เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมกลุ่มหมอนวดและผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นให้มีอาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ต่อไป 2. ประโยชน์เชิงชุมชนและสังคม ทำให้ผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพทั้งที่อยู่ในท้องถิ่น และต่างถิ่นได้รับคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ทั้งกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพมีรายได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ ทำให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้เรื่องกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพไปประยุกต์ใช้ กับกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพแหล่งอื่นๆได้ 3. ประโยชน์เชิงวิชาการ ได้องค์ความรู้ในด้านกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย 1. ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) กับกลุ่มหมอนวด กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง องค์กรชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บข้อมูลโดยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกต การจัดประชุมกลุ่มย่อย สำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และเสนอแผนกลยุทธ์การตลาดที่ได้ต่อกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 2. แหล่งข้อมูล - แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลระดับชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูล แนวคิด ประเด็นที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ เป็นแนวทางในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดจนนำไปใช้ในการวางแนวทางการวางแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่มการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ - แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ศึกษาได้จากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากกลุ่มประชากรที่ศึกษา จำนวน 2 กลุ่ม ระยะที่ 1 ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากกลุ่มที่ 1 จำนวน 30 ตัวอย่าง คัดเลือกขนาดตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากผู้ดำเนินงานในกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกต และการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระยะที่ 2 ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากลุ่มที่ 2 จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มขนาดตัวอย่าง โดยใช้สูตรไม่ทราบค่าประชากร ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม 3. กลุ่มประชากร ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หมอนวด องค์กรชุมชน กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 2 ผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวธิติยา ทองเกิน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย