รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การวิเคราะห์พัฒนาการคุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตร TQF ระดับปริญญาตรีเพื่อการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน: การศึกษาภาคตัดขวาง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
An Analysis of Students Quality Development from TQF Curriculum, Bachelor Degree for Improving to ASEAN Community: Cross Sectional Study, Nakhon sawan Rajabhat University
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของการวิจัย :
งานวิจัยประยุกต์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยมีการนำแนวคิดเกี่ยวกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Qualification Framework) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ และเพื่อเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการประกันคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงได้ดำเนินการโครงการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันของผู้เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา ทั้งสถาบันอุดมศึกษา ผู้ควบคุมมาตรฐาน และผู้ใช้บัณฑิต ทั้งนี้เพื่อให้มีหลักประกันที่ชัดเจนในคุณภาพของบัณฑิตระดับอุดมศึกษา อีกทั้งเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้แต่ละสถาบันมีการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้น โดยเริ่มมีการเตรียมการในปี 2545 และได้มีประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งถือเป็นการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF: HEd) เป็นกรอบที่แสดงระบบคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยระดับคุณวุฒิ ความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากคุณวุฒิระกับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น การแบ่งสายวิชา มาตรฐานผลการเรียนรู้ของแต่ละระดับคุณวุฒิซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามระดับของคุณวุฒิปริมาณการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเวลาที่ต้องใช้ ลักษณะของหลักสูตรในแต่ละระดับคุณวุฒิ การเปิดโอกาสในเทียบโอนผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งระบบและกลไกที่ให้ความมั่นใจในประสิทธิผลการดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถผลิตบัณฑิตให้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ ตามระดับคุณวุฒิ (Levels of Qualifications) ซึ่งทุกระดับคุณวุฒิจะมีมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Domains of Learning) ของคุณวุฒิประเทศไทยมีอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Ethics and Morals) 2.ด้านความรู้ (Knowledge) 3. ด้านทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) 4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (Interpersonal Skills and Responsibility) 5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Numerical, Communication and Information Technology Skills) โดยแต่ละระดับคุณวุฒิจะมีรายละเอียดของมาตรฐานผลการเรียนรู้ลุ่มลึกตามระดับคุณวุฒิที่สูงขึ้น สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศถูกกำหนดให้พัฒนาหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่หลักสูตรที่มีพัฒนาในปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักในชื่อหลักสูตร TQF และหากนับถึงปัจจุบันปีการศึกษา 2558 มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่พัฒนาตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติแล้ว จึงเป็นที่น่าสนใจว่านักศึกษาที่เรียนตามหลักสูตร TQF มีพัฒนาการคุณภาพของผู้เรียนเป็นไปตามมาตรฐานผลการเรียนรู้และวัตถุประสงค์ของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกในกลุ่มสมาชิกอาเซียน หรือ ASEAN Economics Community: AEC เป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่มีการร่วมมือกันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศสมาชิก และเป็นชุมชนที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง สินค้า ประชาชน การลงทุน และนวัตกรรมที่สามารถเดินทางไปมาอย่างไม่มีอุปสรรคทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงติดต่อกันได้อย่างสะดวก ประชาชนอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และใช้ทรัพยากรของประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก ง่ายดายมากยิ่งขึ้น (สิรินันทฺ กิตติสุขสถิต, 2555) การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีนั้น ย่อมมีผลโดยตรงกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาและจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วนอกจากความสามารถทางภาษาที่เป็นปัจจัยหลักในการติดต่อสื่อสาร ความสามารถด้านอื่นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (ASEAN Competitiveness Study) หากจะพิจารณามาตรฐานผลการเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติแล้วนั้นย่อมมีความสำคัญต่อการเป็นทรัพยากรที่มีฝีมือที่จะสามารถก้าวเข้าสู่โลกยุคการค้าแบบแข่งขันอย่างเสรีได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าในปัจจุบันผู้เรียนตามหลักสูตร TQF คุณภาพผลการเรียนรู้เป็นไปตามที่คาดหวังของหลักสูตรมากน้อยเพียงใด ซึ่งการวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend analysis) หรือการศึกษาพัฒนาการโดยการศึกษาภาคตัดขวาง (Cross sectional study) จะสามารถให้คำตอบและจะเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการเร่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร การบริหารจัดการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนการสอน หรือปัจจัยอื่นเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสามารถประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามความมุ่งหมายของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อศึกษาระดับคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในด้านความรู้ (Knowledge) การสื่อสาร (Communication) และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Skills) 2. เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ดังนี้ 1.1 ด้านความรู้ (Knowledge) 1.2 ด้านการสื่อสาร (Communication) 1.3 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Skills) 3. เพื่อวิเคราะห์จุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของผู้เรียนตามหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน
ขอบเขตของโครงการ :
1. ขอบเขตด้านเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาคุณภาพคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ใน 3 ด้าน ดังนี้ 1.1 ด้านความรู้ (Knowledge) เป็นความรู้เกี่ยวกับหลักและทฤษฎีที่สัมพันธ์กัน ตระหนักในองค์ความรู้และทฤษฎีในสาขาวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ย (GPA) ภาคการศึกษาที่2 ปีการศึกษา 2558 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1, 2, 3 และ 4 1.2 ด้านทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) เป็นความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพพิจารณาจากผลการสอบประกันคุณภาพภาษาต่างประเทศ (Ellis Quiz Test) 1.3 ด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Skills) เป็น ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคนิคการสื่อสารที่เหมาะสมเป็น ประจำในการเก็บรวบรวมข้อมูล แปลความหมาย และสื่อสารข้อมูลข่าวสารและความคิด พิจารณาจากผลการสอบประกันคุณภาพคอมพิวเตอร์ 2. ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติที่กำลังศึกษาในปี การศึกษา 2558 ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 40 สาขาวิชา กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยภาคตัดขวาง เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาคปกติ ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2558 ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 10 สาขา รวม 986 ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ผลการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการคุณภาพผู้เรียนซึ่งพิจารณาจากผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร TQF ระดับปริญญาตรี ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนคสวรรค์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้บริหารระดับคณะ และมหาวิทยาลัยที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพผู้เรียน 2. ผลการวิจัยทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำแนกตามกลุ่มสาขาซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง 3. ผลการวิจัยจะทำให้ทราบจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในด้านความรู้ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4. ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย และผู้บริหารระดับคณะสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาในด้านการสอบประกันคุณภาพภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         1. การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการโดยประสานขอข้อมูลทุติยภูมิ จากสำนักและหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ข้อมูลผลการเรียนเฉลี่ย จากฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ข้อมูลผลการสอบประกันคุณภาพภาษาอังกฤษ จากศูนย์ภาษา และข้อมูลผลการสอบประกันคุณภาพคอมพิวเตอร์จากสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 10 สาขา แต่ละสาขารวมข้อมูลชั้นปีที่ 1-4 รวม 986 ตัวอย่าง 2. ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูล ทั้งด้านความรู้ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการใช้เทคโนโลยี 3. วิเคราะห์ข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การวิเคราะห์ระดับคุณภาพ ผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ค่า ความถี่ และร้อยละ ส่วนที่ 2 การ วิเคราะห์เพื่อศึกษาพัฒนาการ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของคุณภาพ ผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ด้านความรู้ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วยการ การทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของตัวแปร คุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ การทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของตัว ระหว่างช่วงเวลาโดยการศึกษาภาคตัดขวางใช้ข้อมูลนักศึกษาปีที่ 1, 2,3 และ 4 และใช้ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (repeated-measure ANOVA) การวิเคราะห์ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผู้เรียนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ และการวิเคราะห์ โมเดลโค้งพัฒนาการของคุณภาพผู้เรียนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ส่วนที่ 3 การ วิเคราะห์จุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของคุณภาพผู้เรียนโดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ คาดหวังของหลักสูตร
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
-
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสาวธิดากุล บุญรักษา นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 50%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย