รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :
การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :
The Development of Learning Activities for Moderate Class More Knowledge by School-Base Management
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :
คณะครุศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :
โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :
ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :
โครงการวิจัยใหม่
วันเริ่มต้นโครงการ :
19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :
18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของการวิจัย :
การวิจัยและพัฒนา
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :
         แนวทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายหนึ่งของรัฐบาล คือ การลดเวลาเรียน ภาควิชาการลง แต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็ก ๆ ควรรู้ ซึ่งหมายความว่าครูต้องใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนได้สาระที่ต้องรู้ครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนโยบายการลดเวลาเรียนดังกล่าว จึงนำมาสู่การปฏิบัติโดยกำหนดให้โรงเรียนเรียนภาควิชาการ ถึงเวลาบ่าย 2 โมงครึ่งหรือเวลา 14.30 น. แต่เวลาที่โรงเรียนเลิกยังคงเหมือนเดิมตามกำหนดของแต่ละโรงเรียนซึ่งมักจะเป็นช่วงบ่าย 4 โมง หรือเวลา 16.00 น. ดังนั้นช่วงระยะเวลาระหว่างหลังเลิกเรียนจนกว่านักเรียนจะกลับบ้านซึ่งนักเรียนยังคงอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนจะต้องจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ให้นักเรียนปฏิบัติ และควรเป็นกิจกรรมที่มีความหลากหลายที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ความมีน้ำใจต่อกัน การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญควรมีกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กได้ค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความพิเศษ มีความสามารถในแบบฉบับของตนเอง การจัดกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดให้เฉพาะห้องเดียวกัน หรือระดับชั้นเดียวกัน บางกิจกรรมสามารถศึกษาหรือทำร่วมกันหลายระดับชั้นได้ เพื่อให้เด็กๆรู้จักปรับตัว การช่วยเหลือดูแลกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายช่วงวัย โดยเป็นการจำลองสภาพจริงในสังคมให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับเด็กไทยต่อไป การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นกรอบวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของไทยนั้น สอดคล้องกับหลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลก ที่เห็นพ้องกันกับแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 เรื่องของจิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานการประกอบสัมมาอาชีพ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง (กับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน รัฐ และประเทศชาติ) โลกกำลังเปลี่ยนแปลง คนที่มีความรู้และทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น จากผลการสังเคราะห์เอกสาร งานวิจัยเกี่ยวกับหลักสูตร และผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตลอดจนผลการประเมินคุณภาพการศึกษาต่างๆ พบว่าผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดทั้งผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) ผลการสอบ PISA ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนใช้เวลาจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เป็นเวลา7 หรือ 8 ชั่วโมงต่อวันอัดแน่นเนื้อหาวิชาการมากกว่าให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีภาระงาน หรือการบ้านมาก หรือต้องนำการบ้านไปทำที่บ้านเกิดความเครียด เด็กคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่ได้ ขาดทักษะชีวิตเป็นต้น จากที่กล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเวลาเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” มาสู่การปฏิบัติในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น นักเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ให้เริ่มปฏิบัติตามนโยบายลดเวลาเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ส่งผลให้โรงเรียนต้องบริหารจัดการเวลาเรียน และจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สถานศึกษาที่เข้าโครงการนำร่องควรมีการตรวจสอบ หรือทบทวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามหลักสูตรสถานศึกษา ในประเด็นโครงสร้างเวลาเรียน รายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดการเรียนรู้ของครู และศึกษาทำความเข้าใจนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”นอกจากนี้สถานศึกษาควรปรับกิจกรรมให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน หรือใช้โรงเรียนเป็นฐาน การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะเน้นในเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละโรงเรียนที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมเป็นหลักสำคัญหลักการในเรื่องความหลากหลายนั้น เป็นทฤษฎีการบริหารสมัยใหม่ที่ตรงกับแนวคิดของแฮกแมน และวอลตั้น(Hackman and Walton) แคทและคาน (Katz and Kahn)ฮอยและมิสเกล (Hoy and Miskel) ที่เชื่อว่าการที่โรงเรียนจะบรรลุเป้าหมายนั้นกระทำได้หลายวิธี การบริหารควรมีความยืดหยุ่น โดยให้โรงเรียนได้บริหารตนเองในสถานการณ์ที่เป็นจริง เนื่องจากแต่ละโรงเรียนและชุมชนที่มีความแตกต่างกันจึงไม่เหมาะที่จะกำหนดให้ใช้วิธีการดำเนินงานหรือใช้วิธีแก้ปัญหาที่เหมือนกันต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้บริหารตนเองจึงจะเป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยฮอยและมิสเกล ได้กล่าวว่าการกระจายอำนาจและการรวมอำนาจนั้น เป็นหลักการบริหารที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การกระจายอำนาจนั้นเป็นกลไกสำคัญสำหรับการปฏิรูปสำหรับระบบการบริหารสมัยใหม่หลักพื้นฐานสำหรับการบริหารโรงเรียนก็คือ การบริหารโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ล่าช้า และมักจะมีปัญหาต่าง ๆ โดยตรงจะทำให้การแก้ปัญหานั้นมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ด้วยวิธีการที่เหมาะสมของตนเองให้ลุล่วงและทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงควรจัดให้มีการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียน จัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และนักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละบุคคล และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1. เพื่อออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. เพื่อทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 3. เพื่อประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ขอบเขตของโครงการ :
ผู้วิจัยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การศึกษาในระยะนี้ มุ่งให้ครูใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และหมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์จาก 3 โรงเรียน ดังนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 3 คน และครูผู้สอนจำนวน 70 คนได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านระยะเวลา ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ระยะเวลา 2 เดือน ระยะที่ 2 การทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ออกแบบในระยะที่ 1 ไปทดลองใช้ในสถานศึกษา ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ จาก 3 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตัวแปรตาม ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และคุณธรรม จริยธรรม ขอบเขตด้านระยะเวลา ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ระยะเวลา 3 เดือน ระยะที่ 3 การประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หลังจากการนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ไปใช้ จะดำเนินการประเมินความเหมาะสมและความเป็นประโยชน์ ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ จาก 3 โรงเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตัวแปรตาม ได้แก่ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
1. ประโยชน์ด้านวิชาการ 1.1 ได้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”สำหรับสถานศึกษา 1.2 สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียน และจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ได้อย่างเหมาะสม 1.3 ครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น 1.4 นักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละบุคคล และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง 2. การเผยแพร่ผลการวิจัย 2.1 เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ สมศ. หรือ สกว. 2.2จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เผยแพร่ให้กับโรงเรียน หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนระดับประถมศึกษา สามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :
         ผู้วิจัยดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 3 ระยะ มีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้ ระยะที่ 1 การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ โรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน จำนวน 3 วัน โดยดำเนินการครั้งละ 1 โรงเรียนตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. คัดเลือกโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมดำเนินการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จำนวน 3 โรงเรียน 2. กำหนดวันเพื่อจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ แต่ละโรงเรียนดำเนินการ 3 วัน 3. กำหนดตัวชี้วัดภาพความสำเร็จของการบริหารจัดการเวลาเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน อย่างชัดเจน มีความเข้าใจตรงกัน 4. จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียน 5. วิเคราะห์โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา และการนำหลักสูตรไปใช้ หลักสูตรระดับชั้นเรียน ความพร้อมของครูผู้สอน สื่อ แหล่งเรียนรู้ อาคารสถานที่ และห้องปฏิบัติการ 6. ปรับและออกแบบตารางเรียนที่เอื้อต่อการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 7. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัย สนองความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียนซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม หมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต แต่ละกิจกรรมประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญดังนี้ ชื่อกิจกรรม วัตถุประสงค์ เวลาที่ใช้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ การวัดและการประเมินผล 8. นำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่จัดทำ นำเสนอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม และความสอดคล้องของกิจกรรม 9. ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ 10. จัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ฉบับสมบูรณ์เพื่อนำไปทดลองใช้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความสอดคล้องของกิจกรรม ระยะที่ 2 การทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ผู้วิจัยนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่สร้างในระยะที่ 1 ไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง จำนวน 3 โรง โดย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน เป็นผู้นำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นไปใช้กับนักเรียน ระยะเวลา 2 เดือน ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ประชุมชี้แจงผู้ปกครองเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ประสานและแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน แหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษาและภูมิปัญญาต่างๆ มาร่วมในการบริหารจัดการเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 3. ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามวัน เวลา ที่กำหนด 4. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ศึกษานิเทศก์) และผู้วิจัยนิเทศ กำกับ ติดตาม อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 5. จัดเวทีเสวนาทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) 6. นำผลการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน และผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการเวลาเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน 7. ประเมินและพัฒนานักเรียนเต็มตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน 8. รายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1. กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. แบบประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ 3. แบบประเมินการทำงานเป็นทีม 4. แบบประเมินคุณธรรม จริยธรรม ระยะที่ 3 การประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หลังเสร็จสิ้นการทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ผู้วิจัยทำการสนทนากลุ่ม ผู้เข้าร่วมสนทนาได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน ตามขั้นตอนต่อไปนี้ 1. ผู้วิจัยนัดหมายสถานศึกษาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล 2. ผู้วิจัยชี้แจงวัตถุประสงค์ เริ่มการสนทนาในประเด็น การดำเนินกิจกรรม ปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไข 3. วิเคราะห์และสรุปผลการประเมิน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประเด็นการสนทนากลุ่ม
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :
กิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ให้โรงเรียนนำร่องดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 กิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัย สนองความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียนซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม หมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ :
ลำดับที่ รายชื่อ ประเภทนักวิจัย บทบาทหน้าที่ สัดส่วน
1 นางสิริพร ปาณาวงษ์ นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย 100%

สถาบันวิจัยและพัฒนา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี
398/1 หมู่ 3 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ 60130

หมายเลขโทรศัพท์

056-219100 ต่อ 1139 งานวิจัย